28 มี.ค. เวลา 15:25 • ประวัติศาสตร์
ณ อุทยาน

ทำความรู้จักตำนาน "พระสุก-พระเสริม-พระใส"

ชวนทำความรู้จัก! ตำนานพระสามพี่น้อง “พระสุก-พระเสริม-พระใส” พระประจำพระธิดา 3 พระองค์ของกษัตริย์ล้านช้างในอดีต ก่อนจมแม่น้ำโขง
จากกรณีการค้นพบพระพุทธรูปเก่าแก่ริมแม่น้ำโขงบริเวณเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จนทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียลาวพากันตั้งข้อสังเกตว่า พระโบราณที่พบริมน้ำโขง อาจเป็น “พระสุก” ที่จมแม่น้ำโขงสมัยอาณาจักรล้านช้าง
แม้การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวยังไม่มีการยืนยันจากหน่วยงานราชการของ สปป.ลาว ว่าเป็นจริงหรือไม่ แต่ก็ทำให้เรื่องราวของพระสุกกลับมาอยู่ในความสนใจของคนในสังคัมอีกครั้ง
โดยตำนานพระสามพี่น้อง “พระสุก-พระเสริม-พระใส” มีตำนานเล่าว่า พระธิดา 3 พระองค์ของ เป็นธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และถวายนามพระพุทธรูปตามพระนามของพระธิดาแต่ละพระองค์ โดย “พระเสริม” เป็นพระประจำพระธิดาองค์ใหญ่ “พระสุก” ประจำพระธิดาองค์กลาง และ “พระใส”ประจำพระธิดาองค์เล็ก
ซึ่งแต่เดิมพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ถูกประดิษฐานอยู่ที่นครเวียงจันทน์ และถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง กระทั่งต่อมาเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ ได้เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ
เมื่อเมืองเวียงจันทน์สงบแล้ว จึงได้อัญเชิญ “พระสุก-พระเสริม-พระใส” ข้ามแม่น้ำโขงมาที่จังหวัดหนองคาย โดยมีการต่อแพข้ามแม่น้ำโขง สำหรับพระแต่ละองค์ แต่ระหว่างแพของพระสุกกำลังข้ามแม่น้ำโขง ได้บังเกิดฝนฟ้าคะนอง พระสุกได้แหกแพจมลงในน้ำ หายไป ทำให้บริเวณดังกล่าวได้ชื่อ “เวินสุก” หรือ “เวินพระสุก” ตั้งแต่นั้นมา (เวินสุก บ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย)
หลังจากพระสุกจมแม่น้ำโขงการอัญเชิญพระสามพี่น้องครั้งนี้จึงเหลือแต่ “พระเสริม” และ “พระใส” ที่สามารถอัญเชิญมาถึงหนองคาย สำหรับ “พระใส” นั้นได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ส่วน “พระเสริม” ได้ อัญเชิญไปไว้ยังวัดหอก่อง หรือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ และมีการสร้างองค์จำลอง “พระสุก” ไว้ที่วัดศรีคุณเมือง ณ ปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญ “พระเสริม” ลงไปยังกรุงเทพฯ แต่ด้วยเกิดเหตุปาฏิหาริย์ จึงสามารถอัญเชิญลงมาได้แค่ “พระเสริม” เท่านั้น ส่วน “พระใส” ยังคงประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย
โดยปัจจุบัน "พระใส" ยังคงประดิษฐานอยู่ที่ วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ดังเดิม ขณะที่ "พระเสริม" ประดิษฐานอยู่ที่ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร ส่วน "พระสุก" ที่จมหายไปไม่ปรากฏขึ้นมาอีกเลย เหลือไว้เพียงตำนานที่ถูกเล่าขานถึงของคนสองฝั่งแม่น้ำโขงเรื่อยมา
อย่างไรก็ตามแม้ยังไม่มีหลักฐานหรือการพิสูจน์จากทางการ ที่รับรองการตั้งข้อสังเกตที่ว่าพระพุทธรูปโบราณที่มีการค้นพบบริเวณเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เป็น “พระสุก” จริงหรือไม่ อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องเวินพระสุกที่อยู่ห่างไกลกับสถานที่ค้นพระพุทธรูปโบราณดังกล่าว แต่การค้นพบพระโบราณดังกล่าว ก็ทำให้ตำนานของ “พระสุก-พระเสริม-พระใส” พระสามพี่น้อง ถูกพูดถึงอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โฆษณา