28 มี.ค. เวลา 15:45 • ประวัติศาสตร์
ณ อุทยาน

หลวงพ่อพระสุก วัดศรีธรรมาราม จังหวัดยโสธร

ชาวลาวส่วนใหญ่ไม่รู้ นักโทษสยามนำ "พระสุก" ..พระพุทธรูปแหกแพ ขึ้นจากน้ำโขงเงียบๆ เกือบ 100 ปีมาแล้ว
พระพุทธรูปขัดเงาปางชนะมาร ฐานเป็นเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 27 นิ้ว สูงจากฐานถึงเศียร 41 นิ้ว ตรงตามบันทึกของฝ่ายลาวทุกประการ ทั้งฐานและแท่นประทับ ยังมีคราบโคลนติดฝังแน่น เนื่องจากจมอยู่ใต้น้ำนานนับร้อยปี นี่คือ หลวงพ่อพระสุก ที่งมขึ้นมาจาก บริเวณที่เกิดเหตุการณ์แพล่ม ตรงปากน้ำงึมเมื่อ 188 ปีก่อน กลายมาเป็นพระพุทธรูปมิ่งขวัญ ของชาวจังหวัดยโสธรในวันนี้
พระพุทธลักษณ์ศิลปะล้านช้างงดงามยิ่ง หลวงพ่อพระสุก ประดิษฐานทีวัดศรีธรรมาราม มาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2467-2473 หลังการบูรณะวัดครั้งใหญ่
เรื่องนี้เคยเป็นข่าวเล็กๆ ในแวดวงผู้ศึกษาด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ โดยสาธารณชนทั่วไป ยังไม่ค่อยตระหนักว่า พระสุกคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร หรือ เป็นมาอย่างไร
เพื่อสืบสาวราวเรื่อง ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 2467-2473 เมื่อครั้งพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เป็นปลัดมณฑลอุดร และ ต่อมาได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ให้นักโทษประหารขั้นเด็ดขาด ทั้ง 8 คน ไปงมพระสุกขึ้นจากบริเวณปากน้ำงึม ที่อยู่ทางตรงข้าม อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยแลกกับอิสรภาพ และ ปฏิบัติการนี้ถูกเก็บเป็นความลับมาตั้งแต่นั้น
พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เติบโตจากวัดศรีธรรมาราม พระอารามหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนคือ วัดท่าชี และ กลายมาเป็นวัดศรีธรรมหายโศก และ วัดอโสการาม เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ระหว่างปี 2467-2473 พระยาอุดรธานีฯ จึงอัญเชิญ พระพุทธรูปองค์นี้จากเมืองอุดรฯ ไปประดิษฐาน ในแดนดินถิ่นกำเนิด
หลังบูรณะพระอุโบสถแล้วเสร็จ ได้มีการสำรวจทรัพย์สิน และ ระบุชื่อ "พระคัมภีรพุทธเจ้า" เอาไว้ในรายการที่ 5 เป็นพระพุทธรูปขัดเงาปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) ฐานเป็นเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 27 นิ้ว (68.7 ซม.) สูงจากฐานถึงเศียร 41 นิ้ว (104 ซม.เศษ) ซึ่งเจ้าของก็คือ พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์
เรื่องราวเหล่านี้ เขียนบอกเล่าเอาไว้ ในหนังสือรำลึกงานสมโภช "เจดีย์พระสุกและพิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวงสุชินทริโย)" วันที่ 2 เม.ย.2559 คือ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเปิดเผยความเป็นมา เกี่ยวกับ "ปฏิบัติการลับ" งมพระสุก ขึ้นจากแม่น้ำโขง อัญเชิญเข้าสู่แผ่นดินสยาม และ ถูกเก็บเป็นความลับต่อมาอีกหลายสิบปี จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
ปี 2511 พระเทพสังวรญาณ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม และ "หลวงตาพวง" ซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์ผู้หนึ่ง ของหลวงปู่มั่นภูริทัตโต - เกจิอาจารย์สายวิปัสนาแห่งวัดหนองผือ ทั้งเป็นศิษย์ร่วมสำนัก เป็นสหายทางธรรม กับหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด ได้กล่าวกับลูกศิษย์ลูกหา เสมอๆ ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ มีความสำคัญมากที่สุด ทั้งกำชับทุกคนว่า เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วเท่านั้น จึงจะนำเรื่องราวต่างๆ ออกเปิดเผยได้..
พระราชสุทธาจารย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมาราม ท่านต่อมา ได้เคยเปิดเผยว่า หลวงตาพวงได้กล่าวย้ำเสมอๆ "นี่แหละพระสุก.. นี่แหละพระสุก" แต่ทุกอย่างก็ยังถูกเก็บเป็นความลับ ตามความปรารถนา
โฆษณา