30 มี.ค. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

พลาสติกในอึแรด อีกหนึ่งภัยคุกคามแรดในเนปาล

ทุกวันนี้มีขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลหลุดลอยเข้าสู่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม
ถุงใบน้อยหน้ำหนักเบาถูกลมพัดปลิวไปถึงในป่า ถูกกระแสน้ำพาลอยไปไกลกลางมหาสมุทร
และการเดินทางของขยะหลายชิ้น มักมีปลายทางลงเอยไปตกอยู่ในกระเพาะของสิ่งมีชีวิต
ตามรายงานฉบับใหม่ แรดในประเทศเนปาลคือสิ่งมีชีวิตรายล่าสุดที่กำลังเผชิญหน้ากับขยะพลาสติก
โดยมีการพบขยะพลาสติกปะปนเป็นเนื้อเดียวกันกับกองมูลของแรดในอุทยานแห่งชาติจิตวัน สถานที่ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์แรดแห่งใหญ่ของประเทศ
จากที่มีแรดทั้งหมดกว่า 700 ตัว ก็อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งนี้ถึงกว่า 600 ตัวด้วยกัน
พลาสติก รวมถึงขยะประเภทอื่นๆ ที่พบปะปนอยู่ในอึของแรดนั้น มีทั้งลูกบอลพลาสติก ฝาขวดน้ำอัดลม ถุงยาสูบแบบเคี้ยว ถุงพลาสติก
ซึ่งในที่นี้นับเฉพาะขยะพลาสติกชนิดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ยังไม่รู้ว่าในอึจะมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่อีกสักเท่าไหร่
แถมอึที่ปนกับพลาสติกยังพบมากในเขตอนุรักษ์ที่ห้ามคนเข้าไปเที่ยวชมมากกว่าพื้นที่รอบนอกที่อนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ได้เสียอีก
ตามรายงานคาดว่าขยะอาจเดินทางมาถึงพื้นที่อนุรักษ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ขยะอาจไหลมาติดตามขอบลำธาร กระทั่งแรดที่ลงมากินอาหารเผลอเคี้ยวสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไป
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า พลาสติกเป็นสาเหตุที่ทำให้แรดตาย
รวมถึงยังไม่แน่ใจเรื่องผลกระทบต่อสภาพร่างกาย - เพราะยังไม่เคยมีการศึกษาปัญหาพลาสติกกับแรดมาก่อน
แต่ก็คาดเดาได้ว่าสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้คงมีผลกระทบกับแรดไม่ต่างจากที่สัตว์อื่นๆ เคยเผชิญ
ตามที่มีข้อมูลว่า เมื่อสัตว์กินพลาสติกเข้าไปแล้ว มันจะสร้างปัญหากับการย่อยอาหาร ระบบเผาผลาญ และการสืบพันธุ์ได้
ส่วนแรดจะเป็นเหมือนสัตว์อื่นๆ หรือไม่ ก็คงต้องสำรวจตรวจสอบและวิจัยกันต่อไป
ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การตรวจสอบ นับจำนวนประชากรแรด รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับการตายของแรดในหลายๆ ครั้งไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา
หากไม่นับเป็นการตายเพราะการล่าที่เหลือหลักฐานเรื่องนอที่หายไปแล้วนั้น การตายด้วยสาเหตุอื่นๆ มักมีคำวินิจฉัยที่คลุมเครือ
ด้วยเหตุและปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเดินทางเข้าถึงที่ช้าเกินไป หรือเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ขัดขวางการเดินทาง
กว่าเจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะเดินทางไปถึงซากสัตว์ก็เริ่มเน่า ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก
ที่ผ่านมา มีการตั้งสาเหตุการตายไว้หลายอย่าง เช่น จากภัยธรรมชาติ อายุและความแข็งแรง
แต่หลังจากนี้อาจต้องนับประเด็นเรื่องขยะพลาสติกเพิ่มเข้าไปอีกอย่าง
สำหรับแนวทางแก้ไข ตอนนี้มีข้อเสนอให้สำรวจและอาจต้องทำความสะอาดป่าจากขยะแปลกปลอมทุกครั้งหลังฤดูน้ำหลากที่อาจพัดพาขยะแปลกปลอมเข้ามาสู่บ้านของสัตว์ป่า และเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศเนปาล
นอกจากแรดแนว ในพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้ยังเป็นบ้านของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะช้างป่า หรือเสือโคร่งเบงกอล
การมีอยู่ของพลาสติกในพื้นที่อนุรักษ์ย่อมไม่ใช่เรื่องดีกับกลุ่มสัตว์ที่เปราะบางอย่างแน่นอน
เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าขยะพลาสติกของประเทศเนปาลรั่วไหลเข้าสู่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมประมาณ 20.7 กิโลตันต่อปี
หรือคิดเป็นประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณการใช้พลาสติกทั้งหมดต่อปี
สาเหตุโดยตรงมาจากการขาดนโยบายจัดการขยะพลาสติกในประเทศ ปัญหายังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีกเนื่องจากการขาดข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการนโยบาย ทำให้การจัดการขยะพลาสติกขาดประสิทธิภาพ
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเนปาลเป็นหนึ่งบทเรียนที่เราควรเรียนรู้และแก้ไข
ในประเทศไทยเคยมีเหตุการณ์ช้างตายเพราะพลาสติกมาแล้ว
ส่วนสัตว์ทะเลนั้นมีมากมายเกินจะนับ
หวังว่าการแก้ที่ต้นทางจะเกิดขึ้นโดยเร็ววันนี้
อ้างอิง
Nepal’s rhinos are eating plastic waste, study finds https://shorturl.asia/FMoLQ
752 one-horned rhinos in Nepal determined by the National Rhino Count 2021 https://shorturl.asia/YutG6
Circular Economy of Plastics https://shorturl.asia/StQXL
15 กรกฎาคม 2563 สัตว์ตายเพราะพลาสติก ตอกย้ำวิกฤติมลพิษขยะในไทย https://shorturl.asia/fDkQx
โฆษณา