31 มี.ค. เวลา 06:10 • ข่าวรอบโลก

เที่ยวญี่ปุ่นอย่างไร ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปกรุ๊ปเอ ที่ก่อโรคเนื้อเน่าและไข้อีดำอีแดง

ญี่ปุ่นพบการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปกรุ๊ปเอ (Streptococcus Group A) หลากหลายอาการ ทั้งโรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis) ไปจนถึงโรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever)
1
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า ในขณะนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น มีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Streptococcus Group A โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 3-5 เท่าตัว
ก่อให้เกิดความวิตกกังวล สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงเดือนเมษายนนี้ จะเป็นเทศกาลที่คนไทยนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมาก เพื่อชมซากุระ
และมักจะนิยมเดินทางโดยใช้รถไฟในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสะอาด สะดวกและปลอดภัย
จึงทำให้มีโอกาสที่จะสัมผัสใกล้ชิดกับคนญี่ปุ่น หรือผู้ที่ติดเชื้อ Streptococcus Group A ได้
ดังนั้น จึงควรมีความรู้ความเข้าใจในการเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ดังนี้
1) โรคติดเชื้อ Streptococcus Group A ดังกล่าว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ หากแต่เป็นแบคทีเรียที่เรารู้จักกันดี และมีการดูแลรักษากันอยู่แล้ว
2) แบคทีเรียชนิดนี้ มีหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่สายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น กรณีเป็นไข้ เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ ไปจนถึงขั้นทำลายกล้ามเนื้อ ที่เรียกว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือโรคเนื้อเน่า
3) การติดเชื้อ Strep.Gr A ถ้าเป็นกลุ่มที่คอหอยอักเสบหรือทอนซิลอักเสบ อาจจะเข้ากลุ่มลักษณะที่เรียกว่าไข้อีดำอีแดง มักจะพบบ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยมีไข้ เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ ปวดเมื่อยตามตัว และมีผื่นแดงขึ้นตามตัว
4) ในการรักษาการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นไข้อีดำอีแดง หรือเป็นโรคเนื้อเน่า ก็สามารถใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อได้
5) การติดต่อที่สำคัญคือ การติดต่อผ่านน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือสัมผัสมือของผู้ป่วย ตลอดจนการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม ตะเกียบ แก้วน้ำ และผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
6) ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือแม้อยู่ในประเทศไทยเอง ไม่ให้ติดเชื้อ Strep Gr.A ประกอบด้วย
6.1 เมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่แออัด เช่น ในขนส่งมวลชน รถไฟ เครื่องบิน สถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนเป็นจำนวนมาก ควรจะใส่หน้ากากอนามัยไว้เท่าที่สามารถทำได้
6.2 ระมัดระวังไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม ตะเกียบ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
6.3 หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
6.4 เมื่อเกิดบาดแผลเล็กน้อยที่ผิวหนัง ซึ่งมีความเสี่ยงจะเกิดเป็นโรคเนื้อเน่าได้ จะต้องรีบทำแผลโดยเร็ว และคอยหมั่นสังเกตอาการ ถ้าแผลเล็กๆไม่ดีขึ้น ให้รีบพบแพทย์
6.5 ในกรณีที่เป็นไข้ เจ็บคอ ถ้ามีลักษณะที่เข้าได้กับไข้อีดำอีแดง คือมีผื่นขึ้นทั้งผิวหนังและลิ้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
การปฎิบัติตัวดังกล่าวข้างต้น จะช่วยทำให้สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เดินทางในประเทศไทย ได้อย่างสนุกสนาน มีความสุข และปลอดภัยจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัสกรุ๊ปเอ
1
Reference
สมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โฆษณา