2 เม.ย. เวลา 11:25 • ท่องเที่ยว

ความโหดร้ายของสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมืองฮาลับจา ที่รุนแรงไม่แพ้ครั้งไหนๆ

ฮาลับจา หนึ่งในเมืองของเคอร์ดิสถานอันเป็นเขตปกครองตนเองในประเทศอิรัก เมื่อเวลาไม่นานมานี้ เมืองฮาลับจาเคยถูกสงครามอันโหดร้ายถาโถมเข้าใส่เมือง ทำให้มีผู้คนล้มตายไปกว่า 5,000 คน ในช่วงเวลานั้นบ้านเมืองมีเพียงแต่ เสียงปืน เสียงระเบิด แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดไม่ได้มีเพียงเท่านี้…เพราะยังมีการใช้ ‘แก๊สมัสตาร์ด’ อาวุธที่เลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งบนโลกโจมตีใส่ฮาลับจา ทุกสิ่งที่อย่างที่เกิดขึ้นมันโหดร้ายเสียจนเรียกได้ว่าสิ่งนี้คือการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อีกครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นบนโลกนี้
1
ซึ่งความรุนแรงในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เมืองฮาลับจาเพียงอย่างเดียว มันเกิดขึ้นทั่วทั้งเคอร์ดิสถาน จนทำให้มีชาวเคิร์ดเสียชีวิตทั้งสิ้นไปมากกว่า 50,000 คน และอาจจะมากกว่าจำนวนนี้ถึง 2 เท่า
***แล้วเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรคือชนวนเหตุ ?***
ในตอนนั้นอิรักมีดินแดนที่สำคัญอยู่แห่งหนึ่ง คือ ทางตอนเหนือของประเทศ พื้นที่ตรงนั้นเปรียบเหมือนเป็นบ่อเงินบ่อทอง เพราะมีทรัพยากรอันล้ำค่าอย่างน้ำมันและมีธรรมชาติอันงดงามอยู่ ซึ่งตรงนั้นเองก็เป็นพื้นที่ ที่ชาวเคิร์ดอาศัยอยู่มานานโข และพวกเขาก็ต้องการพื้นที่ส่วนนั้นไปปกครองเป็นของตนเอง เพราะถือว่าเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่พวกเขาควรจะได้รับ
ภาพจากเหตุการณ์จริง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1988 ทั้งเมืองขาวโพลนไปด้วยควันระเบิด และแก๊สพิษ
โดยหากย้อนกลับไปในอดีต ช่วงที่ซัดดัม ฮุสเซน เป็นประธานาธิบดีอิรักภายใต้พรรคบาธ พรรคบาธได้มีการยื่นข้อเสนอให้ชาวเคิร์ดสามารถปกครองดินแดนตอนเหนือได้ แต่ความจริงอิรักก็แอบกันทรัพยากรน้ำมันเอาไว้ โดยบอกว่าจะให้ดินแดน แต่ไม่ได้บอกว่าจะให้ทรัพยากรน้ำมัน
ซึ่งดินแดนที่เสนอให้ แบ่งออกเป็น 3 เมืองหลักๆ (เมืองเออร์บิล สุไลมานิยาห์ และโดฮุก) ทุกอย่างเหมือนจะผ่านไปด้วยดี จนพรรคบาธเริ่มทำการ ‘อาหรับเซชั่น’ พยายามที่จะเปลี่ยนประชากรทุกคนในตอนเหนือให้กลายเป็นชาวอาหรับ พูดภาษาอาหรับ มีวัฒนธรรมแบบชาวอาหรับ หากผู้ใดขัดขืนก็จะถูกขับไล่ออกไป จนในตอนนั้นเองที่ดินแดนทางตอนเหนือเริ่มมีความคุกรุ่นจากความไม่พอใจของชาวเคิร์ด
จนเมื่อถึง ปี 1974 ชาวเคิร์ดบางกลุ่มเริ่มทนกับการกดขี่ไม่ไหว เลยลุกขึ้นมาปฏิวัติ โดยได้รับกำลังสนับสนุนจากรัฐบาลของอิหร่าน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา (ในตอนนั้นประเทศพวกนี้เป็นศัตรูอันดับหนึ่งของอิรักอยู่แล้ว) แต่แล้วการปฏิวัติก็เกิดขึ้นแค่ปีเดียว เพราะอิหร่านและอิรักดันสรุปข้อตกลงเรื่องชายแดนกันได้ ชาวเคิร์ดกลุ่มปฏิวัติจึงหนีไปอยู่ทางตอนใต้ของอิรักแทน
ส่วนชาวเคิร์ดส่วนอื่นที่อยู่ในตอนเหนือก็เรียนรู้การหลบซ่อนให้ตนเองปลอดภัย โดยจะหลบอยู่ตามถ้ำ หุบเขาในชนบท…พอเรื่องไปถึงหูพรรคบาธเข้า อิรักจึงทนไม่ได้เพราะเกรงว่าชาวเคิร์ดจะเริ่มแข็งแกร่งขึ้นแล้วอาจจะเป็นภัยต่ออิรัก แต่ทางอิรักก็ยังไม่ได้ทำอะไร ทำแค่สังเกตการณ์ต่อไป
พอเมื่อถึงปี 1987 ซัดดัม ได้มอบอำนาจให้แก่ “อาลี ฮัสซัน อัล-มาจิด” ผู้เป็นญาติของซัดดัม ให้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคบาธ มีหน้าที่คอยช่วยดูแลสำนักงานภาคเหนือของอิรัก ซึ่งอำนาจดังกล่าวนี้ล่ะ ที่กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์อันเลวร้ายที่สุดอย่างหนึ่งให้แก่โลก…
1
ในสามเดือนแรกที่อาลีเริ่มเข้ามาทำงาน เขาเห็นถึงปัญหาความไม่มั่นคงทางตอนเหนือและมองว่าใครที่ไม่ใช่ชาวอิรัก = ศัตรูต่อระบบการปกครอง จึงเริ่มมีการคิดโครงการขึ้นมาในชื่อว่า “แคมเปญอันฟาล” โดยมีจุดประสงค์เพื่อปราบปรามต่อต้านชาวเคิร์ดในตอนเหนือทั้งหมด ชาวเคิร์ดจะต้องยอมสละทรัพย์สินและห้ามอยู่อาศัยในหมู่บ้านตอนเหนือ ที่หนักที่สุดคือหากใครไม่ยอมย้ายออก จะต้องโดนฆ่าไปจนถึงลูกถึงหลาน
1
การเดินประท้วงความไม่ยุติธรรมหลังเกิดเหตุการณ์โจมตีไปได้สักพัก
คำสั่งของอาลีให้เวลาคิดแค่นิดเดียวเท่านั้นว่าจะย้ายหรือไม่ย้าย…ซึ่งพอเวลาผ่านไปไม่กี่วัน อาลีได้มีการสั่งให้สุ่มทิ้งระเบิด พร้อมสั่งให้เครื่องบินยิงปืนใหญ่ตลอดทั้งวันท้้งคืน เพื่อหวังขับไล่ชาวเคิร์ด แต่หากจับตัวใครได้ ก็จะนำไปสอบสวนรีดไถข้อมูลที่มีประโยชน์ เมื่อเสร็จสิ้นก็จะฆ่าทิ้ง
1
พอถึงเดือนเมษายน ก็มีการสั่งให้เครื่องบินทิ้งแก๊สพิษทั้งหมด 2 แห่ง คือ ที่สำนักงานพรรคการเมืองของเคอร์ดิสถาน ในเขตเมืองโดฮุกและเมืองสุไลมานิยาห์ พอบ่ายวันรุ่งขึ้นก็ทิ้งแก๊สพิษใส่หมู่บ้านอีก 2 แห่ง ทำให้พลเรือนในหมู่บ้านเสียชีวิตไปกว่า 100 คน โดยการโจมตีแบบรุนแรง 3 ครั้งนี้เป็นเพียง 3 ใน 40 ครั้ง ภายในระยะเวลา 18 เดือนต่อจากนี้ค่ะ
1
หลังจากการปล่อยแก๊สพิษและโจมตีหมู่บ้านพลเรือนไปกว่าหลายร้อยแห่ง จนมาถึงเดือนตุลาคม พรรคบาธได้ทำโครงการที่เรียกว่า ‘สำรวจสำมะโนครัวระดับชาติ’ มีการยื่นข้อเสนอแก่ชาวเคิร์ดและคนในพื้นที่ตอนเหนือทั้งหมด2 ทาง
ทางที่1: ยอมรับว่าจะเปลี่ยนเชื้อชาติมาเป็นชาวอาหรับพร้อมยอมสละบ้าน และยินยอนที่จะถูกบังคับย้ายไปอยู่ที่ค่ายซอมซ่อในการควบคุมดูแลของอิรักอีกที
ทางที่2: ยอมสูญเสียสัญชาติอิรัก พร้อมทั้งต้องยอมรับโทษว่าเป็นผู้ละทิ้งกองทัพ ซึ่งหมายความว่าจะต้องโดนประหารชีวิต เพราะกฏหมายอิรักกำหนดไว้ว่า ใครละทิ้งกองทัพ = ถูกประหารชีวิต…
พอหลังจาก 4 เดือนหลังการสำรวจสำมะโนครัว ก็ก้าวเข้าสู่ปี 1988 ในเดือนกุมภาพันธ์ อิรักได้ทำการโจมตีอีกรอบ โดยมุ่งไปที่พื้นที่ควบคุมในการดูแลของพรรคการเมืองเคอร์ดิสถาน 8 แห่ง ในขณะนั้นมีผู้ถูกจับไปทรมานอีกมาก บางส่วนก็ถูกจับเข้าค่ายกักกัน ทำให้มีคนเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยและอดอยากอย่างมหาศาล
2
ซึ่งความโหดร้ายยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในเดือนมีนาคม เรื่องราวก็ดำเนินมาถึงเกิดเหตุการณ์ที่คนเสียชีวิตเยอะที่สุด มันเกิดขึ้นที่เมืองฮาลับจา หนึ่งในเมืองของเคอร์ดิสถาน ในครั้งนี้มีการใช้อาวุธสารเคมีครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่อิรักเคยทำมา ทำให้คนมีเสียชีวิตถึง 5,000 คน ซึ่งในวันนั้นมีการใช้เครื่องบินปล่อยแก๊สมัสตาร์ดลงสู่เมือง อันเป็นอาวุธเดียวกันกับที่เยอรมนีใช้ตอนสงครามโลกครั้งที่ 1
ภาพจากเหตุการณ์จริง เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 1988
อานุภาพทำลายล้างของแก๊สนี้มีความทรมานอย่างมาก แก๊สจะมีสีเหลืองๆ มีกลิ่นฉุน หากใครสูดดมเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อระบบหายใจ เกิดอาการไอจาม หากสูดไปมากก็จะเริ่มหายใจไม่ออก อาเจียนออกมาเป็นสีเขียว ผิวหนังจะเริ่มไหม้พุพอง โดยจุดประสงค์ของการโจมตีครั้งนี้ก็ไม่ใช่พื้นที่เป้าหมายของแคมเปญอันฟาลแต่แรก แต่ทำไปเพื่อตอบโต้กองกำลังทหารอิสระเของเคอร์ดิสถาน คนจึงมองว่านี่ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลย
จนในเดือนสิงหาคม อิหร่านที่เป็นพันธมิตรกับเคอร์ดิสถานในตอนแรก กลับยอมให้อิรักเข้ามาในพื้นที่ตอนเหนือโดยไม่ได้ขัดขวางอะไร ทำให้ในเดือนถัดมา รัฐบาลอิรักก็ได้รับชัยชนะ และประกาศยกเว้นโทษแก่ชาวเคิร์ดที่มีความผิดท้้งหมด หญิงสาว ผู้สูงอายุและเด็กน้อยถูกปล่อยตัว แต่กลับไม่มีชายคนใดได้รับการปล่อยตัวเลย
เวลาผ่านไปถึงปี 1992 ผู้คนก็เริ่มเลยย้ายกลับไปเมืองฮาลับจาเพื่อพัฒนาเมืองและเรียกร้องความยุติธรรม เช่น มีการพยายามต่อสู้เพื่อความยุติธรรม มีการขอสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น มีการสร้างอนุสรณ์สถานเอาไว้เพื่อเป็นตัวแทนของความเจ็บปวดที่ผ่านมา โดยอนุสรณ์ดังกล่าวนี้มีชื่อว่า อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮาลับจา ภายนอกจะมีหลุมศพของผู้เสียชีวิตตั้งเรียงรายกันอยู่ ส่วนภายในอาคารจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีที่ผ่านมานั่นเองค่ะ
หลังจากที่อ่านเรื่องราวของประวัติศาสตร์ครั้งนี้แล้วใครอยากที่จะไปสัมผัสสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์จริง สามารถไปเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ที่ อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮาลับจา เขตปกครองตนเองในเคอร์ดิสถานประเทศอิรักได้เลยค่ะ🤍
ดูรูปปั้นพ่อชาวเคิร์ดและลูกที่เสียชีวิตในการสังหารหมู่ฮาลับจา (สร้างมาจากเหตุการณ์จริง) ในคอมเมนต์
#TWCTravel #TWCKurdistan
#TWCgade
โฆษณา