3 เม.ย. เวลา 02:20 • ความคิดเห็น

Leader of leaders

คุณซิกเว่ เบรกเก้ ซีอีโอแห่งเทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมอันดับต้นๆของโลก เจ้านายตลอดกาลของผมที่ดีแทคเมื่อสิบกว่าปีก่อนแวะมาไทยหนึ่งวันแล้วยังน่ารักมากๆ ให้เกียรติมาบรรยายที่ HOW Club เป็น academic club ที่ผมทำร่วมกับกระทิง พูนผล ในยามค่ำหลังเลิกงาน
ค่ำคืนที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมภาษณ์คุณซิกเว่บนเวทีแบบเป็นเรื่องเป็นราว ตั้งแต่ประสบการณ์การเป็นผู้นำครั้งแรกของคุณซิกเว่ในการพลิกฟื้นดีแทค ต่อด้วยการไปนำบริษัทโทรคมตัวเล็กอันดับสิบสองที่อินเดีย แล้วกลายมาเป็นผู้นำของกลุ่มเทเลนอร์ที่เป็นบริษัทระดับโลกในปัจจุบัน
สิ่งที่ผมอยากรู้มากๆ และเพิ่งมีโอกาสได้ถามก็คือประสบการณ์และแนวคิดของคุณซิกเว่เมื่อมาเป็นซีอีโอของกลุ่มบริษัทในระดับนั้น เพราะการเป็นซีอีโอเดี่ยวในบริษัทใดบริษัทหนึ่งก็น่าจะเป็นแบบหนึ่ง แต่พอเป็นซีอีโอที่ต้องคุมหลายบริษัทและมีซีอีโออีกหลายคนเป็นลูกน้องก็น่าจะต้องมีวิธีคิดต่างออกไป รวมถึงประสบการณ์ที่ได้เจอ ได้คุยกับผู้นำระดับโลกเสมอๆ ผู้นำระดับนั้นเขาคุยอะไรกันบ้าง
คุณซิกเว่ตอบคำถามว่า ในใจผู้นำระดับโลกที่เขาสนทนากันส่วนใหญ่จะกังวลถึง legacy mindset ขององค์กรหรือการยึดติดกับอดีตหรือคู่แข่ง คิดว่าตัวเองเป็นตำนานแล้วปรับตัวช้าเกินไป ไม่ยอมทำอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะการที่ชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง (benchmark) เพราะอย่างมากก็มีข้อปรับปรุงให้เท่ากับคู่แข่งหรือว่าดีอยู่แล้วก็จะไม่ปรับ ความคิดแบบนี้ทำให้บริษัทสูญพันธ์มานักต่อนักแล้ว ผู้นำระดับโลกจึงกังวลกับความคิดในองค์กรแบบนี้มากๆ
2
หน้าที่ของคุณซิกเว่ในฐานะผู้นำของผู้นำอีกทีในปัจจุบันจึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องตั้งเป้าหมายให้ท้าทาย คุณซิกเว่บอกว่าตั้งเป้าแล้วทำสุดตัวได้ 90% ดีกว่าได้ 120% เพราะเป้าหมายที่ท้าทายจนใช้วิธีการเดิมทำก็ทำไม่ได้นั้นจะนำมาซึ่งการพยายามหากระบวนการใหม่ๆที่ไม่เคยทำ เป็นการเอาตัวเองออกจาก legacy mindset ทางหนึ่ง
1
ส่วนอีกทางในวิถีของคุณซิกเว่ที่มีผู้นำระดับสูงที่เป็นทั้งซีอีโอและอนาคตซีอีโอต้องดูแลอยู่ 100 กว่าคนนั้น ซิกเว่มีกระบวนการที่ทุกคนต้องยอมรับว่าในทุก 3-4 ปีจะต้องย้ายตำแหน่งงานเพื่อให้เกิดการไม่ตกอยู่ใน comfort zone ได้ไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และไม่ยึดติด ไม่สร้างอาณาจักร เป็นกระบวนการที่แม้แต่คุณซิกเว่ก็จะพยายามให้เกิดความรู้สึกกับตัวเองที่เรียกว่ายืนอยู่ตรงชะง่อนผา แบบจะหล่นแหล่มิหล่นแหล่
1
โดยคุณซิกเว่อธิบายว่าความรู้สึกตรงนั้นจะทำให้เราต้องใช้สมอง บังคับร่างกายตลอดเวลา ไม่ประมาทและไม่ตกอยู่ในสภาวะสบายจนเกินไป ความรู้สึกนั้นถึงจะทำให้เราเติบโตได้
ผมถามคุณซิกเว่ว่าแล้วถ้าผู้บริหารคนไหนไม่ชอบวิถีที่ต้องย้ายงานทุกสามสี่ปี ย้ายไปประเทศไหน ไปฝ่ายไหนก็ไม่รู้ล่ะ คุณซิกเว่บอกว่าตอนแรกๆก็ยาก แต่พอตั้งหลักได้แล้วบอกเป็นกฎเลยว่าถ้าใครต้องการเข้ามาอยู่ใน management pool ต้องการก้าวหน้าในองค์กรระดับโลกแบบเทเลนอร์ก็ต้องยอมรับกฎนี้ ไม่เช่นนั้นก็เป็น specialist อยู่กับที่ไปก็มีโอกาสแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้ก้าวหน้าในฐานะผู้บริหาร พอทุกคนเข้าใจก็ไม่ได้ยากอีกต่อไป
2
คุณซิกเว่เล่าอีกว่า หน้าที่หลักของคุณซิกเว่ที่ต้องดูแลหลายบริษัทพร้อมกันก็คือการเป็น chief story teller ต้องคิดยุทธศาสตร์ที่ทุกคนแม้แต่คนระดับล่างที่สุดขององค์กรจำได้ง่ายๆ เดินทางไปเล่าด้วยตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะการเดินทางไปเล่านั้นได้ emotional connection กว่าการคุยผ่านซูมมาก รอบนี้คุณซิกเว่มาทัวร์เอเชียอยู่ไทยหนึ่งวันแล้วต้องบินไปบังคลาเทศต่อมาเลเซีย สิงคโปร์ นอร์เวแล้วก็ยุโรปต่อ เพื่อไปพูดคุยกับผู้คน ไปเล่าถึงวิธีคิด
1
รวมถึงไปถามคำถาม “โง่ๆ” (stupid question) คุณซิกเว่บอกว่าผู้นำต้องกล้าที่จะเป็นคนที่โง่ที่สุดในห้องเพราะมีอำนาจในการแสดงความโง่ด้วยเพราะคนอื่นจะไม่กล้าถามอะไรโง่ๆ ผู้นำเท่านั้นถึงจะถามได้โดยไม่มีใครว่าอะพไร ถ้าผู้นำเอาแต่พูด และพยายามพูดแต่อะไรฉลาดๆ ทีมก็ไม่กล้าพูดไม่กล้าพัฒนา การถามโง่ๆและพัฒนาทักษะในการฟังจึงสำคัญมากๆ
2
สุดท้าย ในระดับผู้นำของผู้นำนั้น คุณซิกเว่มีหน้าที่ที่จะต้องโค้ช พัฒนาและเลือกผู้นำในรุ่นต่อๆไป คุณซิกเว่มีเกณฑ์ในการสังเกตผู้ที่น่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำในระดับต่างๆและชอบสนับสนุนคนที่มีลักษณะสี่อย่างนี้ ประการแรกก็คือมีความเป็น explorer เป็นผู้ที่กระหายใคร่รู้ เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว พยายามเรียนรู้เรื่องใหม่ๆอยู่เสมอ
2
ประการที่สอง คุณซิกเว่ใช้คำว่า together ก็คือต้องมีความสำเร็จเป็นทีม ถ้าทำอะไรสำเร็จต้องให้เครดิตกับทีม เป็นโค้ชที่ปรารถนาดีต่อทีม อยากพัฒนาลูกน้องให้เก่งขึ้น
2
ประการที่สามคือ respectful คือให้เกียรติคนทุกคน ไม่หลงกับยศถาบรรดาศักดิ์ คุณซิกเว่จะไม่ชอบอย่างมากกับคนที่พอมีนามบัตรใหม่ตำแหน่งใหม่แล้วนิสัยเปลี่ยน ทำตัวเปลี่ยนไปเป็นผู้บริหารใหญ่ เพราะคนก็คนเดิมเปลี่ยนแค่นามบัตรเท่านั้นเอง สุดท้าย คุณซิกเว่ดูที่ keep promise ก็คือพูดอะไรแล้วทำได้ตามที่พูดจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็น big talker ต้องสามารถ deliver ได้อีกด้วย คุณสมบัติเหล่านี้เป็นหน้าที่หลักคุณซิกเว่ที่ต้องคอยมองหาและสนับสนุนเพื่อให้เกิดผู้นำในรุ่นต่อๆไปของเทเลนอร์
1
ผู้นำต้องเสียสละ (sacrifice) ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จ แม้กระทั่งต้องมีเวลาให้ครอบครัวน้อยมาก ไม่มีคำว่า work life balance อยู่ในหัว แต่ที่ต้องมีและขาดไม่ได้คือต้องรักในสิ่งที่ทำให้ได้ ไม่ใช่ก็อย่าไปเสียเวลากับมัน
คุณซิกเว่ผู้ซึ่งเป็นผู้นำแห่งผู้นำในวัยหกสิบสี่ปีที่ยังเปี่ยมไปด้วยพลังล้นจนคนในห้องถึงกับยืนปรบมือกันทุกคนหลังจบ คุณซิกเล่มาเล่าครั้งนี้ทำให้ผู้ฟังรู้ถึงมาตรฐานการเป็นซีอีโอระดับโลกว่าเป็นอย่างไร รู้สึกได้ด้วย passion ผ่านการเล่าเรื่อง และอินกับบทบาทที่คุณซิกเว่ทำ ผ่านการตอบคำถามที่ HOW เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา….
โฆษณา