3 เม.ย. 2024 เวลา 10:35 • ข่าว

โค้งสุดท้าย “ยื่นภาษี 2566” หมดเขต 9 เม.ย.นี้ ยังไม่ได้รับเงินคืน-ได้ไม่ครบ ต้องทำอย่างไร?

“ยื่นภาษี 2566” ใกล้หมดเขต ยื่นภาษีแบบออนไลน์ 9 เม.ย.นี้ กรมสรรพากร อัปเดตช่องทาง “ขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ขณะ หากไม่ได้รับเงินคืนภาษี หรือได้รับเงินคืนภาษีน้อยกว่าที่ขอคืน ต้องทำอย่างไร?
ยังไม่ได้ “ยื่นภาษี 2566” คงต้องรีบแล้ว เพราะหลังจาก 31 มีนาคมที่ผ่านมา หมดเขตการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบกระดาษด้วยตนเอง ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ไปแล้ว
แต่ยังคงเหลือโอกาสสุดท้าย คือ การยื่นแบบภาษีออนไลน์ ซึ่งก็จะหมดเขตวันที่ 9 เม.ย. 2567 นี้ ผ่านระบบ E-filing ของกรมสรรพากร (ยื่นภาษีออนไลน์ที่นี่ https://efiling.rd.go.th/rd-cms/ )
เนื่องจากหากเราจัดอยู่ในกลุ่มคนผู้ที่มีหน้าที่ต้องยื่นภาษี
- คนที่เงินเดือนน้อยกว่า 26,583.33 บาท = ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- คนที่เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 บาท = ต้องยื่นภาษี และเสียภาษีด้วย
ซึ่งหากไม่ยื่นภาษีตามเวลาที่กำหนด จะเจอโทษปรับทางกฎหมาย คือ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และต้องเสียเงินเพิ่มเติมอีก 1.5% ต่อเดือน ของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับตั้งแต่วันพ้นกำหนด จนถึงวันยื่นภาษี (เศษของเดือนนับเป็น 1 เดือน)
อย่างไรก็ตาม หากจ่ายภาษีไม่ไหว สามารถติดต่อขอแบ่งผ่อนชำระได้ หรือใครยื่นผิด-ใส่ข้อมูลไม่ครบ ก็สามารถขอยื่นเพิ่มเติมได้เช่นกัน
ยื่นภาษีต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ประกอบ การยื่นภาษี มีดังนี้
- หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) (พนักงานประจำ และผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้)
- รายการลดหย่อนภาษีทั้งหมดที่รวบรวมของทั้งปี 2566
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี สำหรับการกรอกแบบฟอร์มการยื่นภาษี
อ่านข่าว : ตรวจสอบข้อมูลภาษีตัวเองง่ายๆผ่าน My Tax Account กรมสรรพากร
การขอคืนเงินภาษี ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องดำเนินการอย่างไร?
สำหรับการขอคืนภาษีนั้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ให้ Login เข้าระบบยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 ดำเนินการกรอกรายการข้อมูลเงินได้ และค่าลดหย่อนต่างๆ ตรวจสอบรายละเอียดของรายการให้ถูกต้อง
เมื่อถูกต้องแล้วคลิก “ถัดไป” ระบบแสดงผลการคำนวณภาษี หากมีเงินภาษีที่ชำระไว้เกินและประสงค์ขอคืนเงินภาษี ให้เลือก “ต้องการขอคืน” หรือ “ไม่ต้องการ” ซึ่งต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
และถ้ามีข้อความให้ระบุความต้องการอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองให้เลือก “ต้องการอุดหนุน” หรือ “ไม่ต้องการ” อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วคลิก “ถัดไป”
ทั้งนี้ กรมสรรพากร จะแจ้งผลการคืนเงินภาษีผ่าน SMS ตามเบอร์ที่ได้ลงทะเบียนไว้ แล้วคลิก “ยืนยันการยื่นแบบ” จึงจะถือว่าการยื่นแบบฯ ฉบับนั้นเสร็จสมบูรณ์ ให้พิมพ์แบบฯ เก็บไว้เป็นหลักฐาน
สรุป 3 ช่องทางตรวจสอบ ติดตาม “การขอภาษีคืน”
ขณะผู้ยื่นภาษีแล้ว สามารถตรวจสอบสถานะ "คืนเงินภาษี" หรือสอบถามข้อมูลการขอคืนได้ ดังนี้
1. เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th
2. ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร โทร.(RD Call Center): 1161
3. ติดต่อสอบถาม สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏตามการยื่นแบบ
ช่องทางการรับเงินคืนภาษี
ทั้งนี้ ผู้ยื่นภาษี สามารถรับเงินภาษีคืนผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้
- การคืนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก กรมสรรพากร จะทำการโอนเงินภาษีที่ได้อนุมัติคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์สำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีเงินฝากธนาคาร และได้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าว
- การคืนเงินผ่านสาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีผู้ขอคืนเงินภาษีไม่ประสงค์รับเงินภาษีคืนด้วยการโอนเงินภาษีคืนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์
ยื่นภาษีแล้ว แต่ยังไม่ได้เงินคืน เพราะอะไร?
อย่างไรก็ตาม พบว่าขณะนี้หลายคนที่ทำการยื่นภาษี 2566 ไปแล้ว แต่กลับยังไม่ได้รับเงินภาษีคืนเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นอาจมาจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- เตรียมเอกสารไม่เรียบร้อย หรือทางกรมสรรพากรขอเอกสารเพิ่ม แต่ผู้ยื่นภาษีไม่ทราบเรื่อง ผู้ยื่นภาษีจึงต้องตรวจสอบสถานะเงินคืนภาษีบ่อยๆ
- ผู้ยื่นภาษีไม่มีพร้อมเพย์ ซึ่งหากกรมสรพากรไม่สามารถคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์ได้ ก็จะต้องออกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ค.21 เป็นหลักฐานเพื่อนำไปติดต่อกับธนาคารกรุงไทย หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งจะต้องใช้เวลาดำเนินการนานกว่า
- อาจเป็นเพราะยื่นภาษีช้า โดยเฉพาะช่วงที่ใกล้จะหมดเวลายื่นภาษี
ส่วนคนที่ได้รับเงินภาษีคืนไม่ครบตามที่ร้องขอ ให้เร่งทำหนังสืออุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร ค.30 หรือ ค.21 แล้วแต่กรณี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในหนังสือแจ้งฯ โดยจัดทำหนังสืออุทธรณ์ขึ้นเอง และชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมแนบเอกสารประกอบต่างๆ
ที่มา : กรมสรรพากร, ดีดีพร็อพเพอร์ตี้
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา