5 เม.ย. เวลา 05:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เงินเฟ้อไทยทั่วไป มี.ค. 67 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

- เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนมีนาคม 67 อยู่ที่ -0.47% YoY หรือ +0.03% MoM จากเดือนก่อนหน้า เทียบกับเดือนก่อนที่ -0.77% YoY หรือ -0.22% MoM และต่ำกว่าคาดการณ์ตลาดที่ -0.40% YoY ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 หดตัว -0.79%YoY จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การปรับลดลงของเงินเฟ้อมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ
รวมทั้ง ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงโดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ในส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับเพิ่มขึ้น0.52% YoY หรือ 0.02% MoM เทียบกับ 0.58% YoY หรือลดลง 0.06% MoM ในเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปขยับลดลงในวงกว้าง นำโดยราคาหมวดเคหะสถาน หมวดขนส่งที่ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ในส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคมอยู่ที่ +2.1%YoY หรือ +0.7% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้า 1.2%YoY หรือ 1.2% MoM โดยเป็นผลจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานที่ปรับขึ้นตามตลาดโลก และราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดลงของผลผลิต นอกจากนี้ ในเดือนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการปรับขึ้นของราคาสินค้าวัตถุดิบที่กลับมาขยับขึ้นอีกครั้ง ตามต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น
เรามองว่า แม้ว่าภาพรวมของเงินเฟ้อไทยที่มีทรงตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง สัญญาณของการส่งผ่านต้นทุนที่จำกัดในหลายๆ สินค้า อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าภาวะการบริโภคในประเทศโดยรวมอาจจะยังเติบโตในระดับที่ค่อนข้างอ่อนแรง ท่ามกลางสภาวะการเงินของไทยที่อาจตึงตัว รวมทั้ง การขาดปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใหม่ๆ
ทั้งนี้ แม้ว่าจะเริ่มเห็นแรงกดดันจากการปรับขึ้นของราคาพลังงานที่กลับมาอีกครั้ง หากภาครัฐไม่ได้ต่ออายุโครงการพยุงราคาพลังงาน อันอาจส่งผลให้ทิศทางเงินเฟ้อในระยะต่อไปกลับมาเป็นบวกได้ แต่ผลกระทบต่อเงินเฟ้อในภาครวมน่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังน่าจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ไม่เต็มศักยภาพอาจบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ทางการไทยอาจจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความผ่อนคลายเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
โฆษณา