6 เม.ย. เวลา 01:02 • ท่องเที่ยว

ที่มาของชื่อ ‘ถนนพระราม’ มาจากไหน?

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมถนนต้องตั้งชื่อว่าพระราม และมีตั้งแต่พระรามที่ 1 ไปจนถึงพระราม 9 (ยกเว้นถนนพระรามที่ 7 และ 8 ยังไม่มี) ก็เป็นที่ชวนฉงนสงสัยว่าแล้วเกี่ยวอะไรกับ ‘พระราม’ ตัวเอกของรามเกียรติ์ หรือรามายณะ วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงในแถบเอเชียใต้หรือไม่
กล่าวได้ว่า มีความเกี่ยวข้องกันไม่มากก็น้อย เพราะสังคมไทยมีการนำคติพราหมณ์-ฮินดู ในเรื่องของสมมติเทพมาใช้ โดยเปรียบกษัตริย์เป็นเสมือนพระนารายณ์อวตารลงมา ซึ่งพระรามก็เป็นร่างอวตารของพระนารายณ์ที่อวตารลงมายังโลกมนุษย์ และเป็นกษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดิน
จะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ของไทยก็มีการใช้ชื่อ ‘King Rama’ อันเป็นการเปรียบเปรยกษัตริย์สยามว่าเป็นพระรามผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งบรรดาถนนที่ถูกนำมาตั้งชื่อพระรามก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ของไทยที่ทำคุณงามความดีเพื่อชาติไทยนั่นเอง
ความน่าสนใจของคติดังกล่าว จึงเป็นที่มาของบทความในวันนี้
พระรามที่ 1
หลายคนอาจเข้าใจว่าถนนพระรามที่ 1 ต้องถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นแน่ แต่แท้จริงแล้วถนนเส้นนี้ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นเส้นทางเสด็จไปวัดปทุมวนารามจึงได้ตั้งชื่อว่า ถนนปทุมวัน จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น ‘ถนนพระราม 1’ เพื่อรำลึกถึงพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงใช้เส้นทางดังกล่าวเสด็จกลับจากเขมรเพื่อปราบจราจลที่กรุงธนบุรีนั่นเอง
2
พระรามที่ 2
ถนนที่เป็นกระแสในทุกช่วงเวลาอย่างถนนพระราม 2 โดยถนนเส้นนี้ไม่ได้เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 หากแต่พึ่งสร้างเมื่อไม่ถึง 50 ปีมานี้ จนตอนนี้ก็ยังโดนแซวว่าสร้างไม่เคยเสร็จจนเป็นมหากาพย์ 5 ทศวรรษที่คนไทยต่างเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะเสร็จหนอ โดยสาเหตุที่ตั้งชื่อว่าถนนพระรามที่ 2 ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เพราะทรงพระราชสมภพที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามนั่นเอง
1
พระรามที่ 3
มาถึงถนนพระรามที่ 3 เป็นถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นแม่น้ำสำคัญของสยาม แต่เดิมก็มักเรียกกันว่าถนนเลียบแม่น้ำ ซึ่งเป็นแนววางเรือกำปั่นทำการค้าขายในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีการสร้างถนนเส้นนี้ในสมัยปี 2514 จึงได้ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่โดดเด่นเรื่องการทำการค้าขายโดยเฉพาะกับเมืองจีน
ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์มีเงินในท้องพระคลังมากอันเป็นที่มาของ ‘เงินถุงแดง’ ซึ่งเป็นเงินที่พระองค์ทรงเก็บออมไว้จากการค้าสำเภาเพื่อใช้สำรองยามบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ
พระรามที่ 4
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าถนนพระรามที่ 1 - 3 มิได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลของพระองค์ แต่มีการมาสร้างในภายหลังและตั้งชื่อเพื่อเฉลิมเกียรติ หากแต่ถนนพระรามที่ 4 ถูกสร้างขึ้นสมัยของพระองค์เอง โดยแต่เดิมมีชื่อว่า ‘ถนนตรง’ ซึ่งสร้างขนานไปกับคลองและทางรถไฟเก่าสายปากน้ำ จนในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ถนนพระรามที่ 4’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
พระรามที่ 5
ถนนพระรามที่ 5 ก็เป็นอีกหนึ่งถนนที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพระองค์เองคือพระบาทพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพระราชวังดุสิต แต่เดิมชื่อ ‘ถนนลก’ ภายหลังรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น ‘ถนนพระรามที่ 5’
พระรามที่ 6
มาถึงถนนเกือบสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ซึ่งเริ่มต้นที่แยกจารุเมืองไปจนถึงถนนเตชะวณิชแถวบางซื่อ ซึ่งถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่อ ‘ถนนประทัดทอง’ ภายหลังรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนเป็นชื่อ ‘ถนนพระรามที่ 6’ ตามรัชสมัยของพระองค์เองอันเป็นถนนคู่ขนานไปกับถนนพระรามที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนพระราชบิดาซึ่งก็คือรัชกาลที่ 5 และตัวพระองค์เองอยู่เคียงกันดังการขนานของถนนทั้งสองเส้นนั่นเอง
พระราม 9
หากมีใครสังเกตคงเห็นว่าถนนพระราม 9 ไม่มีคำว่า ‘ที่’ เหมือนถนนเส้นอื่นอย่างถนนพระรามที่ 1 จนถึงพระรามที่ 6 ซึ่งเหตุผลเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) พระราชทานชื่อถนนเส้นนี้โดยไม่ประสงค์ให้มีคำว่า ‘ที่’ จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงเรียกถนนพระราม 9 จนถึงปัจจุบัน
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว, Political Analyst
ภาพประกอบ: บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
โฆษณา