5 เม.ย. เวลา 11:10 • ข่าวรอบโลก

แมงป่องชนิดใหม่ พบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

บนพื้นที่ 2,915 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถือเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ส่วนเรื่องความอุดมสมบูรณ์นั้นคงไม่ต้องกล่าวถึง เมื่อถูกรับรองเป็น ‘มรดกทางธรรมชาติของโลก’ แล้ว ย่อมหมายความว่า…
“เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก”
หลักฐานนั้นการันตีย้ำอีกครั้งเมื่อมีการค้นพบ ‘แมงป่อง’ ชนิดใหม่ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
มันถูกเรียกว่า Scorpiops (Euscorpiops) krachan ตามชื่อสถานที่ค้นพบ
เจ้าตัวนี้เป็นสมาชิกวงศ์ Scorpiopidea Kraepelin
พบโดย วศิน นวเนติวงศ์ นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ร่วมกับ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษา และนักวิจัยชาวต่างชาติ
ลักษณะเฉพาะของแมงป่องชนิดนี้ มีลำตัวสีเหลืองถึงเหลืองน้ำตาล ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับแมงป่องชนิดอื่นๆ คล้ายกับแมงป่องชนิด Scorpiops (Euscorpiops) phatoensis
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบแมงป่องชนิดนี้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย นอกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
แมงป่องจัดเป็นสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์ อยู่อาศัยมาบนโลกนับตั้งแต่ยุคซิลลูเรียน หรือราว 440 ล้านปีก่อน
ทั่วโลกพบแมงป่องมากกว่า 1,000 ชนิด ในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบก่อนหน้านี้ 11 ชนิด แต่เชื่อว่ามีมากกว่านี้
แมงป่องทุกชนิดมีพิษ เป็นสารประกอบพวกโปรตีน แต่ละชนิดมีความรุนแรงของพิษแตกต่างกัน
แมงป่องที่มีพิษร้ายแรงถึงขั้นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ส่วนมากจะพบในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
ส่วนแมงป่องที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดที่มีพิษไม่ร้ายแรง
แมงป่องใช้พิษเพื่อทำให้เหยื่อมีอาการเป็นอัมพาต แล้วจึงค่อยๆ กินเหยื่อเป็นอาหาร
แมงป่องจึงเป็นผู้ล่าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ ช่วยควบคุมจำนวนของเหยื่อได้แก่ แมลง และสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กๆ
ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับพิษของแมงป่องเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ใช้พิษแมงป่องฆ่าเซลล์มะเร็ง
ในบางประเทศ แมงป่องในธรรมชาติถูกล่าอย่างหนัก เพราะพิษมีราคาสูง จนบางชนิดสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
อ้างอิง
A new species of the genus Scorpiops Peters, 1861, subgenus Euscorpiops Vachon, 1980 from Thailand (Scorpiones, Scorpiopidae) https://shorturl.asia/3io7I
Venom-extraction and exotic pet trade may hasten the extinction of scorpions https://shorturl.asia/4oVOJ
โฆษณา