6 เม.ย. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ผืนป่าทั่วโลกกำลังหายไป นาทีละ 10 สนามฟุตบอล

หากใครติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ คงคุ้นเคยกับประโยค “ผืนป่าทั่วโลกกำลังหายไป นาทีละ 10 สนามฟุตบอล”
ข้อมูลนี้เป็นรายงานของ Global Forest Watch ที่สรุปภาพรวมประจำปีของผืนป่าทั่วโลกและเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2022
แต่หลังจากนั้นผ่านมา 2 ปี ดูเหมือนเรื่องราวจะวนกลับมาเป็นเหมือนเก่า
รายงานของ Global Forest Watch ในปีนี้ ก็ยังคงนำคำว่า “หายไปนาทีละ 10 สนามฟุตบอล” กลับมาใช้ใหม่
นั่นหมายความว่า ในภาพรวมโลกยังคงสูญเสียผืนป่าไปอย่างน่าใจหาย
และความหวังในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังอยู่ห่างไกลกับคำว่าชัยชนะ
สำหรับรายงานสถานะของผืนป่าปีล่าสุด สถานการณ์ของปี 2023 ที่ผ่านมา บางประเทศสามารถลดอัตราการทำลายผืนป่าลงได้ แต่บางประเทศการทำลายกลับเพิ่มมากขึ้น
มีประเทศที่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ 2 ก้าว แต่บางประเทศกลับเดินถอยหลังกลับไป 2 ก้าว
นั่นจึงทำให้บทสรุปการสูญเสียผืนที่ป่า ยังคงสถานะไว้ที่ “นาทีละ 10 สนามฟุตบอล” เหมือนเก่าก่อน
โดยในปีที่ผ่านมาโลกเสียป่าไป 3.7 ล้านเฮกตาร์ หรือ 23,125,000 ไร่
ประเทศบราซิลยังครองแชมป์เสียป่ามากที่สุด ตามมาด้วยสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และโบลิเวีย
10 อันดับประเทศที่เสียป่ามากที่สุดในปี 2023 ประกอบด้วย
1. บราซิล
2. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
3. โบลิเวีย
4. อินโดนีเซีย
5. เปรู
6. ลาว
7. แคเมอรูน
8. มาดากัสการ์
9. มาเลเซีย
10. โคลอมเบีย
ส่วนในปี 2022 10 อันดับประเทศที่เสียป่ามากที่สุด ประกอบด้วย
1. บราซิล
2. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
3. โบลิเวีย
4. อินโดนีเซีย
5. เปรู
6. โคลอมเบีย
7. ลาว
8. แคเมอรูน
9. ปาปัวนิวกินี
10. มาเลเซีย
จากข้อมูล แม้บราซิลจะครองแชมป์ประเทศเสียป่ามากที่สุด แต่มีข่าวดีว่า การเสียป่าในประเทศลดลงจากปีก่อน 36 เปอร์เซ็นต์
แต่ดังที่เกริ่นไป บางประเทศกลับมีสถิติการเสียป่าเพิ่มมากขึ้น อาทิ โบลิเวีย ลาว นิการากัว
ทั้ง 3 ประเทศนี้ ประสบการเสียป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากไฟป่าและการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม
ในกรณีของประเทศลาว การขยายตัวทางการเกษตรส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากความต้องการและการลงทุนของจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดจากลาว
พร้อมกันนั้นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อเร็วๆ นี้ในลาว เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากถางป่าเพื่อการผลิตทางการเกษตร
ขณะที่เกินกว่าครึ่งของการเสียป่าของโบลิเวีย มาจากความรุนแรงของไฟป่า ต้นตอคือการเผาที่เพื่อทำเกษตรกรรม
แต่ไฟกลับลุกลามใหญ่โตเพราะอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2023 ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรากฏการณ์เอลนีโญทางธรรมชาติ
นอกจาก 10 ประเทศที่เสียป่ามากสุดแล้ว แคนาดา ถือเป็นอีกประเทศที่สถิติเสียป่าเพิ่มขึ้นจากเหตุไฟป่า เพราะสภาพอากาศที่ร้อนรุนแรงขึ้น
ด้วยสถานการณ์ที่หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญการสูญเสียพื้นที่ป่าอยู่นี้ เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มแล้ว มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่เป้าหมายการยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 จะทำไม่สำเร็จ
โดยในแง่สถิติ ถ้าต้องการไม่ให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป (ในปี 2030) ระดับการตัดไม้ทำลายป่าจะต้องลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ในทุกๆ ปี
แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่อธิบายได้ว่ายังอยู่ห่างจากความเป็นไปได้
รายงานวิเคราะห์ว่า เจตจำนงค์ทางการเมืองมีส่วนสำคัญในการยุติการตัดไม้ทำลายป่า
ดังเช่นการเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ ‘ลูอิส อิกนาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา’ ในบราซิล ที่ต้องการปกป้องป่า สวนทางกับอดีตประธานาธิบดี ‘ฌาอีร์ โบลโซนารู’ อย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ สิ่งจูงใจที่ยั่งยืนคือกลไกทางการเงินที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้ยืนต้นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อทำให้ป่าไม้มีความเสี่ยงน้อยลงต่อการถูกทำลายจากฟาร์ม เหมือง โครงสร้างพื้นฐาน หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ
หากสามารถให้แรงจูงใจทางการเงินสำหรับการคุ้มครองและฟื้นฟูป่าไม้โดยการประเมินมูลค่า เช่น คาร์บอนในป่า ก็อาจช่วยได้
อีกสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ที่จะไม่พึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีส่วนต่อการตัดไม้ทำลายป่า
ทั้งหมดทั้งมวลต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
อ้างอิง
Forest Pulse: The Latest on the World’s Forests https://shorturl.asia/3uFng
Glasgow leaders’ declaration on forests and land use https://shorturl.asia/EDqxf
โฆษณา