6 เม.ย. เวลา 15:46 • ข่าวรอบโลก

นักวิจัยเปิดโปงการผูกขาดยาและวัคซีนโควิด-19

ทุกครั้งที่มนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต มักจะมีผู้ที่เสียประโยชน์ และผู้ที่ร่ำรวยเป็นกอบเป็นกำจากการแสวงหาโอกาสที่เกิดจากวิกฤตเสมอ ยกตัวอย่างในช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุด คือบริษัทผลิตอาวุธยุทธพันธ์ ที่ได้ข้อเสนอสั่งซื้ออาวุธมากมาย
ในช่วงการระบาดโควิด 19 ก็ไม่แตกต่างกัน ยาและเวชภัณฑ์กลายเป็นสิ่งที่ถูกถามหาไปทั่วโลก แม้กระทั่งในประเทศไทย ผมยังจำวันที่ผมไม่มีหน้ากากอนามัยไปเข้าแลปได้ เพราะมันขาดทั้งเซลฟ์ แอลกอฮอล์เจลราคาพุ่งสูง นำไปสู่การขายโก่งราคา
การผลิตหน้ากากผ้า และอีกหลายพันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด และแนะนอนว่าสิ่งที่ถูกถามถึงที่สุด คือยารักษาโรค
ต่างกันก็ตรงที่ ยารักษาโรคไม่ใช่สินค้าธรรมดา ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องได้รับการสั่งใช้โดยแพทย์และเภสัชกรเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และแน่นอนว่าการที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มที่บอบบาง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้
กรณีบทเรียนคือการระบาดของโควิดในทวีปแอฟริกา ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลกน้อยมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ประกอบกับปัญหาคุณภาพชีวิตของประชากร สงครามกลางเมือง ทำให้สุขภาวะของประชาชนมีไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเชื้อโควิดมารวมกับเชื้อไวรัสอื่นๆในร่างกายของ Host ที่ขาดสุขภาวะที่เหมาะสม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 สร้างความหนักใจให้กับประชาคมโลกไปอีกระยะหนึ่ง
เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2023 ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยอิสระสี่คนและผู้เชี่ยวชาญอีกสองคนด้านการเข้าถึงยาจาก โครงการรณรงค์ Make Medicine Affordable ที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนสากลที่ชื่อ ITPC เป็นองค์กรดูแลรับผิดชอบโครงการ วิเคราะห์การขยายการผูกขาดยารักษาและวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยการจดสิทธิบัตรแบบ evergreening
1
บทความที่มีชื่อว่า “เปิดโปงกลยุทธ์จดสิทธิบัตรยาและวัคซีน: การจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19” ของคณะวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทีมนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารฟรอนเทียร์ส (Frontiers) ซึ่งเป็นหนึ่งในวารสารวิชาการวิทางทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก
งานวิจัยเปิดเผยว่าบริษัทยาและสถาบันทางวิชาการหลายแห่งยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านระบบ PCT (Patent Cooperation Treaty) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกไว้ทั้งสิ้น 73 ฉบับ เพื่อผูกขาดตลาดยาและวัคซีนที่จำเป็นในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดหนักและหลังจากที่วิกฤตคลี่คลายลง โดยที่เป็นคำขอรับสิทธิบัตร 29 ฉบับสำหรับยาต้านไวรัสสำหรับรักษาโควิด-19, 3 ฉบับสำหรับยาชีววัตถุ, และ 41 ฉบับสำหรับวัคซีน
งานศึกษาของพวกเราแสดงให้เห็นว่ามีการยื่นขอจดสิทธิบัตรที่ซับซ้อนและเป็นจำนวนมากสำหรับวัคซีน สิ่งนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการนำแนวทางด้านสาธารณสุขมาใช้ในการตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นเรื่องสำคัญ
คุณมาเรีย ลอรีนา บาซิกาลูโป, คุณมาเรีย ฟลอเรนเซีย พิคนาทาโร, และคุณคาโรลิน เธย์ สโคเปล ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักของโครงการนี้กล่าวไว้ในแถลงการณ์ร่วม
การจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นวิธีการจดสิทธิบัตรแบบหว่านแห ที่มักใช้กันในทางกฎหมาย เทคโนโลยี และธุรกิจ เพื่อขยายการคุ้มครองการผูกขาดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดแต่สิทธิบัตรที่มีอยู่ใกล้หมดอายุ ให้มีระยะเวลาการผูกขาดได้นานออกไป กีดกันไม่ให้บริษัทยาและวัคซีนอื่นผลิตยาและวัคซีนออกมาขายแข่ง และตนเองจะผูกขาดกอบโกยกำไรต่อไปได้
การยื่นขอจดสิทธิบัตรหลายฉบับสำหรับยาที่ใช้สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมชนิดเดียวกัน (Active Pharmaceutical Ingredient, API ) เป็นวิธีการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดที่บริษัทยาข้ามชาติใช้เป็นประจำ
งานศึกษาฉบับนี้แสดงให้เห็นวิธีการที่บริษัทยาข้ามชาติและสถาบันวิชการหลายแห่งยื่นขอจดสิทธิบัตรจำนวนมากผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) เพื่อผูกขาดเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับโควิด-19 อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าคำขอจดสิทธิบัตรเหล่านี้ผ่านไปถึงขั้นตอนระบุประเทศที่ต้องการจดสิทธิบัตรได้ บริษัทอาจจะขอจดสิทธิบัตรในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง และรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจะต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ที่คนในประเทศเข้าไม่ถึงยาและวัคซีน
รัฐบาล ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคมได้ประจักษ์ถึงผลกระทบของการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดมาตลอด 25 ปี การจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดทำให้คนเข้าถึงไม่ถึงยาและการรักษา ยาบางชนิดราคาแพงลิบลิ่ว
นักวิจัยกล่าว
บริษัทยาข้ามชาติใช้การจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดอย่างกว้างขวาง เพื่อคงอำนาจผูกขาดตลาดยาและชะลอการแข่งขันของยาคู่แข่งที่เป็นยาชื่อสามัญ และเห็นได้ชัดในสามทศวรรษที่ผ่านมาในกรณียาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี และยารักษาโรคมะเร็ง
งานวิจัยยกตัวอย่างยาต่อไปนี้ที่เป็นยาที่เป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วแต่มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรเพิ่ม ได้แก่ ยาเรมเดสิเวียร์ (Remdesivir) ยาโมลนูพิราเวีย (molnupiravir) และยาซาริลูแมบ(sarilumab) ซึ่งเป็นยาที่เคยใช้รักษาโรคอื่นและถูกนำมาปรับมาใช้เพื่อรักษาโควิด-19 ในช่วงที่มีการระบาด บริษัทยาข้ามชาติหลายแห่งยื่นขอจดสิทธิบัตรคุ้มครองเรื่องข้อบ่งชี้ใหม่กับยาเหล่านี้ (ยาเก่าที่มีอยู่และใช้รักษาโรคอื่นมาก่อน แต่ถูกขอจดสิทธิบัตรเพิ่มในข้อบ่งใช้รักษาโควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่)
การศึกษาพบว่ามีการยื่นขอจดสิทธิบัตรสำหรับยาเรมเดสิเวียร์ 12 ฉบับ ยาโมลนูพิราเวียร์ 6 ฉบับ และซาริลูแมบ 3 ฉบับ ผ่านระบบ PCT ในช่วงปี ค.ศ. 2007 ถึง 2022 เมื่อคำนวณจากวันสิ้นสุดอายุสิทธิบัตรของคำขอรับสิทธิบัตรฉบับสุดท้ายที่ยื่นของยาแต่ละชนิดที่กล่าวมาแล้ว จะพบว่ายาเรมเดสิเวียร์จะมีอายุสิทธิบัตรผูกขาดนานได้ถึง 33 ปี ยาโมลนูพิราเวียร์ 27 ปี และยาซาริลูแมบ 34 ปี
โดยปกติแล้วสิทธิบัตรหนึ่งฉบับมีอายุการคุ้มครองเพียง 20 ปี แต่ด้วยการจดสิทธิบัตรหลายฉบับในเวลาที่ต่างกันสำหรับยาชนิดเดียวกัน จะทำให้ยืดอายุการคุ้มครองเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุดนี้อาจขัดขวางไม่ให้สถาบันวิจัยและพัฒนายาอื่นทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอดจากยาชนิดเดียวกันได้ องค์กรสมาชิกในโครงการ Make Medicine Affordable ได้รณรงค์มาอย่างยาวนาน เพื่อให้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกก็ตาม สามารถเข้าถึงการรักษาโควิด-19 ในราคาไม่แพง เพื่อให้สามารถเข้าถึงยาช่วยชีวิตได้อย่างเท่าเทียม
แน่นอนว่าผู้ที่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรักษาขึ้นมาทั้งในรูปของยา เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีการรักษานั้นสมควรได้รับการตอบแทนที่สาสม แต่การจดทะเบียนแบบหว่านแหนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การกระทบแบบนี้ทำให้ยามีมูลค่าสูงกว่าที่ควรจะเป็นและทำให้การเข้าถึงการรักษาทำได้ยากมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายให้ความสำคัญและออกมารณรงค์ในเรื่องนี้
งานวิจัยนี้สอดคล้องกับสิ่งที่โครงการรณรงค์ Make Medicine Affordable พยายามทำ เพราะงานวิจัยนี้มีส่วนช่วยเปิดเผยเล่ห์เหลี่ยมการใช้ประโยชน์จากการจดสิทธิบัตรยาอย่างไม่เป็นธรรม และแก้ไขปัญหาซับซ้อนที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงยา เพื่อทำให้ความรู้ทางเภสัชศาสตร์ที่ซับซ้อนมาเป็นรูปแบบปฏิบัติการที่ชัดเจน และขจัดอุปสรรคด้านสิทธิบัตรที่มีต่อการเข้าถึงยา
อ็อทแมน เมลลุก หัวหน้าฝ่ายการเข้าถึงยาขององค์กร ITPC
อ้างอิง
โฆษณา