8 เม.ย. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ตามหาเสือที่สูญพันธุ์ อินโดนีเซียตามหาเสือโคร่งชวา หลังพบขนเส้นเดียว

บางครั้ง ‘ความหวัง’ ก็เดินทางมาถึงโดยไม่ทันตั้งตัว…
ตลอดเวลาเกือบสองทศวรรษหลังจาก ‘เสือโคร่งชวา’ ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ ก็ยังมี ‘ข่าวลือ’ ถึงการพบเจอเสือสายพันธุ์นี้ปรากฏอยู่บ่อยๆ
แต่ส่วนมาก ผู้ที่อ้างว่าพบก็ไม่มีหลักฐานประกอบ และบางครั้งเมื่อตรวจสอบ ก็เจอเพียงแค่เสือดาว หาใช่เสือโคร่งดังที่กล่าวอ้างไม่
เว้นก็แต่ในปี 2019 ที่มีผู้อ้างว่าพบเห็นเสือโคร่งชวาที่ชายป่าซูกาบูมี มีพยานพบเห็นด้วยกัน 5 คน พร้อมกันนั้นยังได้หลักฐานสำคัญอย่าง ‘เส้นขน’ จำนวนหนึ่งเส้น และรอยเท้าที่แลละม้ายคล้ายเสือ
ผ่านวันล่วงเลยมา 5 ปีให้หลัง ผลการวิเคราะห์ขนเส้นดังกล่าวก็ให้คำตอบว่า มีความใกล้เคียงกับขนของเสือโคร่งชวา 97.8 เปอร์เซ็นต์
งานศึกษานี้ดำเนินการโดยสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Research and Innovation Agengy) ที่ได้ศึกษาขนเพียงเส้นเดียวที่เก็บได้ นำมาเปรียบเทียบกับหนังสือโคร่งชวาที่ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งทางชวาตะวันตก
เพราะต้องปฏิบัติหลายขั้นตอน (วิธีตรวจสอบ) กว่าจะผลได้จึงกินเวลานาน แต่ผลที่ออกมาก็นับว่ามีความหมายและมีความหวัง
จากผลที่ได้ นักวิเคราะห์มองว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่เสือโคร่งชวาอาจยังมีชีวิตอยู่ที่ใดสักแห่งในผืนป่าของเกาะชวา
นับเป็นหลักฐานการมีอยู่ที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีในยุคสมัยปัจจุบัน
เสือโคร่งชวานั้นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่อยู่ร่วมกับเสือโคร่งสุมาตรา และเสือโคร่งบาหลี
เป็นหนึ่งในชีวิตที่วิวัฒนาการมาในยุคน้ำแข็งสุดท้ายเมื่อ 11,000 - 12,000 ปีก่อน และเคยเตร็ดเตร่อยู่ทั่วเกาะชวาก่อนค่อยๆ ล้มหายตายจากจนสูญพันธุ์ด้วยสาเหตุหลายประการ
การล่าเพื่อการค้าหนังคือหนึ่งในสาเหตุหลัก มีบันทึกการล่าที่หนักหน่วงในช่วง ค.ศ. 1830 - 1850
จำนวนมนุษย์ที่ตั้งรกรากอาศัยเพิ่มมากขึ้น ได้เปลี่ยนบ้านของเสือให้เป็นนาข้าวและพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อปลูกไม้สัก กาแฟ ยางพารา จากที่เคยมีป่า 23 เปอร์เซ็นต์ บนเกาะในปี 1938 พอปี 1975 ป่าบนเกาะชวาก็เหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์
กวางที่เป็นอาหารหลักของเสือก็ถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ ค.ศ. 1960
ปัญหาการเมืองในประเทสผลักดันให้กุ่มติดอาวุธเข้าป่า และล่าเสือเพื่อความอยู่รอด
หลายสิ่งหลายอย่างผสมรวมจนเสือโคร่งชวาลดลงอย่างกู่ไม่กลับ
ตัวเลขที่พอจะชัดเจนนั้น คาดว่าในปี 1960 เหลือเสือโคร่งในป่าธรรมชาติแค่เพียง 12 ตัว
แต่หลังจากปี 1980 เป็นต้นมา ก็ไม่พบร่อยเหลือหรือหลักฐานที่น่าเชื่อถือถึงการมีอยู่ของเสือโคร่งชวาอีกเลย
จนกระทั่งปี 2008 เสือโคร่งชวาก็ถูกประกาศให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปอย่างเป็นทางการ
และท่ามกลางคำกล่าวอ้างมากมายที่มีผู้ระบุว่าพบเห็นเสือโคร่งชวาอยู่เรื่อยๆ หลังประกาศว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว (แต่หาหลักฐานไม่ได้) จนกระทั่งในปี 2019 ที่มีพยานพบเห็นพร้อมกัน 5 คน และมีหลักฐานเป็นขนหนึ่งเส้น พร้อมผลการพิสูจน์กว่า 5 ปี ว่ามีความเป็นไปได้มากกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ว่านี่คือขนของเสือโคร่งชวา
ดูเหมือนเรื่องราวการค้นหาเสือโคร่งชวาที่สาบสูญและสูญพันธุ์จะเริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง
ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ลองฮึดสู้ดีครั้ง
เรามาลองทำงานวิจัยเรื่องเสือที่สูญพันธุ์ เพิ่มจำนวนกล้องดักถ่าย ออกนโยบายค้นหาและอนุรักษ์กันดูสักครั้งดีไหม
ไม่แน่ นี่อาจเป็นโอกาสที่สองในการอนุรักษ์สายพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อแสดงเจตนารมย์ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงเผ่าพันธุ์ของผู้ทำลาย
แต่ยังเป็นเผ่าพันธุ์ที่เจริญทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ พร้อมแชร์โลกให้กับทุกสรรพชีวิตได้อยู่อาศัยร่วมกันโดยมีความสมดุลเป็นแกนกลาง
และนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
อ้างอิง
‘The Javan tiger still exists’ : DNA find may herald an extinct species’ comeback https://shorturl.asia/gE6bY
โฆษณา