11 เม.ย. เวลา 10:20 • ข่าวรอบโลก

สัตว์หนาวตาย 4.7 ล้านตัว มองโกเลียเผชิญฤดูหนาวรุนแรงผิดปกติจากวิกฤตโลกรวน

ในขณะที่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติ โหมโรงก่อนมาระอุในเดือนเมษายน
อีกด้านหนึ่งพื้นที่ในแถบมองโกเลียกลับเผชิญสภาพอากาศที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง - เป็นความหนาวเย็นอันแสนผิดปกติ - และไม่ใช่เรื่องน่าอิจฉา
ตามรายงานข่าวระบุว่าเป็นฤดูหนาวที่เลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ
หรือที่ในภาษาถิ่นมองโกเลียเรียกกันว่า ‘ซูด’ (Dzud หรือ Zud) แปลแบบดิบๆ ได้ว่า ‘ภัยพิบัติ’
หรือในความหมายเชิงละเอียดนั้นหมายถึงสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างรุนแรงที่กระทบต่อทั้งชีวิตมนุษย์และสัตว์ที่เลี้ยงไว้ทำมาหากิน
อุณหภูมิถึงจุดเยือกแข็ง หิมะตกหนักกว่าปกติอย่างน้อย 2 เท่า พื้นดินเยือกแข็งจนสัตว์ไม่สามารถเข้าถึงทุ่งหญ้าแหล่งอาหารได้
สภาวะเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากฤดูร้อนที่แห้งแล้ง
ผลที่ตามมาจะทำให้สัตว์สะสมอาหารในฤดูร้อนไม่เพียงพอจากสภาพความแห้งแล้ง พอถึงฤดูหนาวที่เข้าถึงอาหารยากกว่าปกติอยู่แล้ว สัตว์ก็จะขาดไขมันที่จำเป็นต่อการอยู่รอดได้
โดยในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เรื่อยมาจนปลายเดือนมีนาคม เหตุการณ์ซูดได้ปกคลุมพื้นที่มองโกเลียไปถึง 3 ใน 4
คนทำปศุสัตว์ในแถบมองโกเลียต้องสูญเสียสัตว์ที่เลี้ยงไว้ แพะ อูฐ วัว ม้า รวมกันประมาณ 4.7 ล้านตัว
หนักกว่าปีที่ผ่านมา ที่เสียสัตว์เลี้ยงไป 4.4 ล้านตัว
ซึ่งนั่นหมายความถึงการสูญเสียแหล่งอาหารและรายได้ของประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ - ได้รับผลกระทบอย่างต่ำ 2,250 ครอบครัว
เสียทั้งเนื้อสำหรับใช้ทาน น้ำนมสำหรับไว้ดื่ม และแหล่งรายได้จากการค้า
2
มากกว่านั้นยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและร่างกายของผู้คน
2
สำหรับมองโกเลียเกษตรกรรมคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
แต่ระบบการผลิตปศุสัตว์ในพื้นที่ชนบททำให้สามาารถดำรงชีพได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรในชนบท และถูกมองว่าเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ
เมื่อเกิดเหตุการณ์ซูด มีสัตว์เลี้ยงล้มตายมากมาย ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศษฐกิจในวงกว้างตามมา
เสี่ยงที่การชำระเงินกู้ของคนเลี้ยงสัตว์จะล้มเหลว และเสี่ยงเกิดปัญหาหนี้สินตามมา
สำหรับคนที่พึ่งพาปศุสัตว์เพื่อความอยู่รอดเพียงอย่างเดียว เสี่ยงพบความอดอยากแร้นแค้นในเดือนต่อๆ ไป ซึ่งบางส่วนในตอนนี้เริ่มไม่สามารถหาอาหารเลี้ยงตัวเองหรือทำบ้านให้อบอุ่นได้แล้ว
แม้ชาวมองโกเลียจะคุ้นเคยกับสภาพอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม แต่ในช่วงเวลาที่เกิดซูดนั้นทุกอย่างจะต่างออกไป
เมื่อเกิดซูดอย่างน้อยๆ อุณหภูมิในบางส่วนของประเทศจะลดลงต่ำถึงลบ 50 องศาเซลเซียส และเกิดพายุหิมะถี่มากกว่าปกติ
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติซูดกำลังกลายเป็นภัยพิบัติขาประจำ มีแนวโน้มจะเกิดบ่อยเสมือนจะเป็นฤดูกาลใหม่ที่เลวร้ายของพื้นที่แถบนี้ สาเหตุเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยอุณหภูมิในประเทศมองโกเลียเพิ่มขึ้น 2.5 องศาเซลเซียสในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งทำให้เกิดความแห้งแล้งในฤดูร้อนซ้ำๆ ทุกปี จากนั้นจะตามมาด้วยฤดูหนาวที่รุนแรง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดซูดมาแล้วถึง 6 ครั้งด้วยกัน
นอกจากสัตว์เลี้ยงเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพแล้ว สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) มองโกเลีย ได้รายงานถึงการสูญเสียอย่างสัตว์ป่าท้องถิ่นอย่างเนื้อทรายมองโกเลีย
ยอดรวมที่นับได้ตั้งแต่มกราคม - กุมภาพันธ์ คาดว่ามีเนื้อทรายมองโกเลียตายจากเหตุการณ์ซูดไปอย่างต่ำๆ 500 ตัว
และคาดว่าคงมีสัตว์ในธรรมชาติอื่นๆ อีกหลายชนิดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่ากำลังเข้าไปศึกษาข้อมูลนี้อยู่
หมายเหตุ จนถึงเดือนเมษายน เหตุการณ์ซูดยังรุนแรงต่อเนื่อง ยอดปศุสัตว์ที่ล้มตายล่าสุดบางแหล่งรายงานว่าสูงถึง 5 ล้านตัว ส่วนสำนักข่าวซินหัวอ้างว่าสูงถึง 6.3 ล้านตัว
อ้างอิง
Nearly 5 million animals dead in Mongolia’s harshest winter in half a century, aid agencies say https://shorturl.asia/L9Qah
Harsh Mongolian winter leaves 4.7m animals dead; Red Cross issues appeal https://shorturl.asia/cTrWh
Dzud Crisis Situation Update- March 2024 https://shorturl.asia/Fybp5
Climate disasters decimate Mongolian livestock https://shorturl.asia/eTUsZ
โฆษณา