12 เม.ย. เวลา 02:10 • ความคิดเห็น

เมื่อถึงจุดหนึ่ง Self-Improvement จะไม่สำคัญเท่า Self-Acceptance

เวลาเดินเข้าในร้านหนังสือ มุมหนึ่งที่ผมไปเยือนบ่อยที่สุดคือมุม Self-Improvement หรือ Self-Help
มีหนังสือมากมายที่สอนว่าเราจะทำงานเก่งกว่านี้ได้อย่างไร จัดการตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ดูแลร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร
พ็อดแคสต์ชื่อดังหลายรายการที่ผมฟังก็จะโคจรรอบหัวข้อประมาณนี้
ดูเหมือนมนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนที่เก่งขึ้น หรือถ้าให้ตรงประเด็นยิ่งกว่านั้นก็คือ ทุกคนอยากมีชีวิตที่ดี
แต่สมการชีวิตที่ “ดี” ก็มีส่วนประกอบสองอย่าง คือความจริงของโลกภายนอก กับความคาดหวังของโลกภายใน
1
ที่ผ่านมาเราพยายาม “พัฒนา” ความจริงของโลกภายนอก เพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น หาเงินได้มากขึ้น ดูดีขึ้น
1
แต่ไม่ว่าเราจะพัฒนาไปเท่าไหร่ ความคาดหวังของโลกภายในมักจะตามทันเสมอ
เพราะในโลกโซเชียลนั้น เรื่องมหัศจรรย์ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา
ในความหมายที่ว่า เรื่องราวของคนระดับ Top 1% หรือแม้กระทั่ง Top 0.01% จะถูกแชร์ให้เราเห็นอยู่ทุกวัน จนรู้สึกว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องปกติ
เมื่อเห็นคนที่เก่งกว่า รวยกว่า ดูดีกว่า เราก็อาจจะมีปฏิกิริยาหนึ่งในสามอย่างนี้
หนึ่ง คือเราฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจ และเราก็ออกไป “วิ่ง” เพื่อไขว่คว้า
สอง คือเรารู้สึกด้อยค่า ว่าทำไมเราถึงยังไม่ดีเท่าเขา
สาม คือปฏิเสธเส้นทางของคนเหล่านั้น อารมณ์หมาจิ้งจอกกับองุ่นเปรี้ยว
กลับมาที่สมการนี้
ชีวิตที่ดี = ความเป็นจริงของโลกภายนอก – ความคาดหวังของโลกภายใน
1
สำหรับคนที่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น แน่นอนว่าเราต้องทำความจริงของโลกภายนอกให้ดีขึ้นก่อน อย่างน้อยให้ถึงจุดที่เราสามารถเลี้ยงดูตัวเองและคนที่เรารักได้
1
แต่มีงานวิจัยมากมาย ที่ระบุว่าเมื่อเรามีรายได้ถึงจุดหนึ่ง การมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้นำพามาซึ่งความสุขที่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันอีกต่อไป
3
คำถามสำคัญก็คือเรามาถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ยังหมายถึงมิติอื่นๆ ด้วยเช่นความแข็งแรงหรือความดูดี
1
เพราะถ้าเราคิดแต่จะ beat yesterday เราก็กำลังหลบตาจากความจริงที่ว่า สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เมื่อถึงจุดที่โลกภายนอกดีพอแล้ว เราจึงควรกลับมาจัดการโลกภายในให้พอดี
ในการ์ตูนเรื่อง One Piece มีตัวละครหนึ่งเคยพูดเอาไว้ทำนองว่า
“สัญญาณของการเติบโต คือการยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง”
7
พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผม เคยบอกไว้ว่า
2
“เราสามารถชื่นชมคนอื่นได้ โดยไม่ต้องอยากเป็นอย่างเขา”
4
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะสงบศึกกับตัวเอง รู้ตัวว่าเราเหมาะกับอะไร และยอมรับว่าต่อให้เราพยายามกว่านี้ มันก็จะได้ประมาณนี้แหละ
3
เราก็อาจโล่งใจที่ไม่ต้อง “วิ่ง” ไปตลอด และไม่รู้สึกผิดกับการอยู่เฉยๆ
2
เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต การพัฒนาตัวเองจะไม่สำคัญเท่ากับการยอมรับตัวเองครับ
โฆษณา