12 เม.ย. เวลา 10:30 • ประวัติศาสตร์

• ทำไมมนุษย์ถึงตื่นเช้า? เรื่องนี้อาจเกี่ยวกับ DNA ของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

ทำไมมนุษย์ต้องตื่นเช้า? เราอาจจะตอบว่าเป็นเพราะภาระหน้าที่การงาน การเรียน หรือต้องไปทำภารกิจต่าง ๆ แต่ถ้าตอบในมุมวิทยาศาสตร์ การตื่นเช้าของเราก็เกี่ยวข้องกับกลไกทางร่างกายและธรรมชาติของสปีชีส์เรา
แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ในวารสารวิชาการ Genome Biology and Evolution ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้เปิดเผยว่า หนึ่งปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ตื่นเช้า อาจเป็นเพราะเรามีดีเอ็นเอของนีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) และเดนิโซแวน (Denisovan) ที่เป็นสปีชีส์มนุษย์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
1
“ด้วยการวิเคราะห์ชิ้นส่วน DNA ของนีแอนเดอร์ทัลที่ยังคงอยู่ในจีโนมมนุษย์สมัยใหม่ เราค้นพบแนวโน้มที่โดดเด่น”
“นีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซแวนถ่ายทอด DNA ที่ทำให้เราตื่นเช้ามากขึ้น และสิ่งนี้ยังคงอยู่ในประชากรมนุษย์ยุคใหม่” จอห์น คาปรา (John Capra) รองศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและชีวสถิติของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวถึงงานวิจัยนี้
1
งานวิจัยนี้อธิบายว่า ในตอนที่บรรพบุรุษมนุษย์ยังอาศัยอยู่ในแอฟริกาที่เป็นเขตรัอน ระยะเวลาของกลางวันจะอยู่ที่ราว 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งช่วงเวลากลางวันก็คือช่วงเวลาออกหาอาหาร
ต่อมาราว 70,000-50,000 ปีที่แล้ว เมื่อสปีชีส์ของเราอย่างโฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) อพยพจากแอฟริกาไปยังยุโรปและเอเชีย ดินแดนทั้งสองนี้ก็มีมนุษย์สปีชีส์อื่นอย่างนีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซแวน อาศัยอยู่ก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายแสนปีแล้ว
3
ด้วยระยะเวลาเป็นแสน ๆ ปี ทำให้มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลและเดนิโซแวน สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างจากแอฟริกาที่พวกเขาจากมา การปรับตัวที่ว่านี้ก่อให้เกิดวิวัฒนาการถึงในระดับพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคบางชนิด การลดการผลิตเม็ดสีบนผิวหนังเนื่องจากแสงแดดน้อยลง รวมถึงการตื่นที่เช้ามากขึ้น
ในบางพื้นที่ของยุโรปและเอเชียที่มีอากาศหนาวเย็น ทำให้ระยะเวลาของกลางวันน้อยลง เท่ากับว่าช่วงเวลาออกหาอาหารก็จะน้อยลงไปด้วย ดังนั้นทางเลือกที่มนุษย์โบราณเหล่านี้เลือก ก็คือตื่นเช้าเพื่อให้มีเวลาออกหาอาหารมากขึ้น
1
ต่อมาเมื่อโฮโม เซเปียนส์ ครอบครองโลกและเป็นมนุษย์สปีชีส์เดียวที่เหลือรอด ลักษณะทางพันธุกรรมจากมนุษย์สปีชีส์อื่น ๆ ที่สูญพันธุ์ไป ก็ได้อยู่ในพันธุกรรมของโฮโม เซเปียนส์ด้วย
1
จากการศึกษาพบว่า ผู้คนในยุโรปและเอเชียมีโอกาสพบ DNA จากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลราว 1-2% ขณะที่บางพื้นที่ของโลก อย่างเช่นเกาะปาปัวนิวกินี พบว่าผู้คนที่นั้นมีโอกาสมี DNA ที่มาจากมนุษย์เดนิโซแวนราว 5%
2
งานวิจัยมีแนวโน้มในทางที่ดี แต่ทีมวิจัยก็ยืนยันว่า พวกเขาจำเป็นต้องศึกษาในปัจจัยด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก เพื่อช่วยให้เราเข้าใจในพันธุกรรมของมนุษย์ยุคปัจจุบัน และชีววิทยาของมนุษย์โบราณมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
• ifl science. Being A Morning Person May Be Due To Neanderthal DNA. https://www.iflscience.com/being-a-morning-person-may-be-due-to-neanderthal-dna-72053
1
• Business Insider. If you're an early riser, you may have Neanderthal DNA to thank for it. https://www.businessinsider.com/early-riser-may-be-able-thank-your-neanderthal-dna-study-2023-12
1
#HistofunDeluxe
โฆษณา