12 เม.ย. เวลา 11:52 • ความคิดเห็น

เรื่องภาษี และ สวัสดิการ

ความบาดหมางที่สร้างรอยร้าวในสังคม
ทำไมสังคมตีกันทุกครั้ง ที่มีการหยิบยกประเด็นนี้มาพูด ?
 
และ มักเกิดการแบ่งแยก โจมตีกันรุนแรง โดยเฉพาะ กลุ่มผู้เสียภาษี ที่นิยามตนว่าเป็น "เดอะแบก " กับ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ต้องการรัฐสวัสดิการเต็มขั้น
ปัญหา ของ คำตอบนี้คือ " รัฐ " ค่ะ
เพราะ ประเทศเราไม่เคยใช้ "ภาษี " ได้ "คุ้มค่า " เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราจึงอยู่ในวังวนของความขัดแย้งเรื่องนี้เรื่อยมา โดยไม่เห็นทางออก
ยิ่งบางครั้ง เราเห็น รัฐใช้ภาษีไปกับนโยบาย ที่มองแล้วไม่คุ้มค่า เห็นแล้วก็ อีหยังวะ !!! ยิ่งสร้างให้เกิดรอยร้าวมากขึ้น เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมากขึ้น
ถ้าประเทศเรามีพัฒนาการในการใช้ " ภาษี " ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความขัดแย้งในเรื่องนี้ย่อมลดลง และจะนำพาให้ทุกๆคน มีเจตจำนงค์สูงสุดที่อยากจะจ่ายภาษี เพื่อประเทศของเรา
ตอนนี้ไม่ว่าเราจะต้องการ สวัสดิการ อย่างไร แบบไหน มันก็ไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้ ไม่ว่าทางไหนก็ล้วนแต่มีรูรั่วทั้งนั้น เพราะอะไรน่ะหรอ ?
.
ก็เพราะประเทศเราไม่มีศักยภาพมากพอที่จะจ่าย "สวัสดิการ" เหล่านั้นยังไงหล่ะคะ
เป็นความจริงที่โหดร้าย และเราต้องยอมรับ คือ เรามีปัญหา
(1) เราหาเงินเข้าจากภายนอกมาไม่ได้มากพอ
(2) เราขาดประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้จากภายใน (3) เราขาดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณรายได้ที่มาจากภาษี
(4) เรายังติดอยู่ในโครงสร้างที่ไม่นำพาให้ ข้อ 1-3 พัฒนาขึ้น และยังติดหล่มอยู่
.
4 ข้อนี้คือรากปัจจัยปัญหาของประเทศเรา
ลองพิจารณาดูจะพบว่า ไม่ว่าเราต้องการสวัสดิการแบบไหน อย่างไร จากปัญหา 4 ข้อข้างต้น เราก็ไม่พ้นต้องสร้างหนี้ กู้หนี้ยืมสินในอนาคตมาใช้ เพราะเราไม่มีเงินเพียงพอ ทำอย่างไรก็ไม่พอ นี่คือความจริง ต่อให้ลดรายจ่ายที่ใครมองว่าไม่จำเป็นเอาจริงๆก็ไม่พอกับสวัสดิการที่เราต้องการ ลองหักลบงบประมาณตามจริงที่ต้องจ่าย กับสวัสดการที่ต้องการจะได้ จะเห็นว่า มันห่างกันเป็นสิบเท่า ลดได้หมื่นล้าน แต่ความต้องการระดับแสนล้าน
พอเราติดอยู่ในโครงสร้างปัญหาเหล่านี้ เวลาจะแก้ เรามักแก้แบบขอไปที
เช่น " เก็บภาษีเพิ่ม " เพราะมันเป็นหนทางที่ง่ายที่สุด
เป็นทางรอดของ รัฐสวัสดิการ
การจัดเก็บ "ภาษีเพิ่ม" มันแย่มากไหม ???
ก็ไม่ได้แย่มาก เพียงแต่มันเป็นการแก้ที่ปลายๆแล้ว
เมื่อมีข่าวการเสนอขึ้น ภาษี หรือ การจะปรับอัตรา VAT ขึ้น ที่ผ่านมาสังคมมักมีข้อถกเถียงกันเสมอ ไม่ว่าคุณจะโปรฝั่งไหน มันก็เป็นเรื่องที่หนักหนา เพราะมันก็ย้อนไปสู่รากปัญหาเดิมคือ ภาษีไม่ได้ถูกใช้อย่างเหมาะสมอยู่ดี และ ซ้ำเติมหนักขึ้นด้วยความไม่เข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับระบบภาษี
ฝ่ายซ้ายมักพูดกันเสมอว่า การขึ้นภาษี VAT เป็นการเก็บขึ้นภาษีที่ไม่ยุติธรรมนักสำหรับคนจน เพราะถ้าเทียบกับสัดส่วนรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย คนจนจะจ่ายภาษี VAT ใน อัตราส่วน % ที่มากกว่าคนรวย ซึ่งมันก็จริง ตรงนี้ไม่เถียง แต่ก็อยากให้มองในมุมที่กว้างขึ้นของผลประโยชน์ที่เราจะได้รับด้วย เช่น ชาวต่างชาติ หรือ แรงงานต่างด้าวนอกระบบ ตลอดรวมถึงการค้าภายในที่เราจะจัดเก็บรายได้ได้มากยิ่งขึ้น
กระนั้นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เคทอยากให้สังคมทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น และมองเห็นร่วมกันคือ VAT คือ ภาษีที่มีความเสมอภาคที่สุดแล้ว นั่นคือ คอนเซปของมัน
การคิดเล็กคิดน้อยว่าคนกลุ่มไหนจ่ายมากกว่าน้อยกว่าก็ดูไม่ถูกต้องนัก ต้องตระหนักเรื่องระบบการค้าด้วย (ตรงนี้เคยอธิบายบ่อยแล้ว เดี๋ยวจะหาลิ้งค์แปะให้ในคอมเม้นต์อีกที เพื่อแลกเปลี่ยน )
(ภาษีเงินได้ คอนเซปคือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อีกจุดที่อยากชี้คือ ผู้ที่เข้าถึงฐานชำระภาษี ก็ได้สวัสดิการสิทธิลดหย่อนมากกว่าเป็นสิ่งตอบแทน )
เมื่อพูดถึงตรงนี้ อีกเรื่องที่อยากจะให้เพื่อนๆพี่น้อง ทำความเข้าใจร่วมกัน อยากให้เลิกทะเลาะแดกดันกัน คือ ผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเสียภาษีได้ ไม่ใช่ปัญหา หรือ ภาระของสังคม และผู้ที่มีศักยภาพเสียภาษีได้ ก็ไม่ได้มีใครมีมูลค่าสูงกว่ากันเพราะนี่คือระบบพื้นฐาน
สิ่งที่เราต้องเข้าใจร่วมกันคือ
เรื่องนี้เป็น ปัญหาระดับ รัฐ !!
ที่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดการสร้างรายได้ตลอดรวมถึงการกระจายให้ทั่วถึง แน่นอนว่า คนที่ไม่อยากผลักดันตนเองเพื่อให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นนั้น มันมีแน่นอน เป็นเรื่องจริงที่มีในทุกชนชั้นทุกสังคม
แต่....ก็เป็นส่วนน้อย เพราะโดยธรรมชาติ ทุกคนล้วนอยากมีรายได้เยอะกันทั้งนั้น (เคยมีงานวิจัยของฝั่งยุโรปทำไว้อยู่ ใครแปะข้อมูลให้ก็จะขอบคุณมาก) แต่ เมื่อโครงสร้างมันไม่เอื้อ มันเลยมีคนที่ถูกทิ้ง และมีแค่คนส่วนน้อย ที่เอาตัวรอดได้ มันจึงเป็นที่มาว่า คนส่วนน้อยก็เลยต้องพยุงประเทศไว้
แต่อย่างที่บอก อยากให้คนส่วนน้อย เห็นอีกด้านนึงที่ไม่เป็นธรรมของระบบ อย่างเช่น ที่กล่าวไปเรื่อง โครงสร้างภาษี Vat คนจนจ่ายมากกว่าคนรวย นี่คือเรื่องจริง และ ส่วนสำคัญที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือ ในระบบโครงสร้างแบบทุนนิยม มันมีเรื่องของการขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน และ การตั้งราคาที่ไม่เป็นธรรมอยู่ นี่ก็คือเรื่องจริง
เคทจะไม่อธิบายเยอะ เพราะก็เคยพูดบ่อยแล้ว แต่จะพูดง่ายๆว่า ในส่วนของ " กำไร " ที่เกิดขึ้นนั้น มันมีมูลค่าของแรงงานอยู่ในนั้นเสมอ
ผลตอบแทนของแรงงาน ไม่ได้สอดคล้องกับ ผลผลิต เสมอไป
มีไม่น้อยที่ " กำไร " จำนวนมาก ได้มาจากการ "กด" ค่าแรงของ แรงงาน
ตรงนี้ก็แก้ยาก เพราะ โลกมันผูกกับทุนนิยม ไล่กันมาตั่งแต่ ประเทศโลกที่ 1 จนมาโลกที่ 3 มันไม่แฟร์ตั่งแต่ต้นทางของระบบแล้ว
กำไร สอดคล้องกับต้นทุนแรงงานเสมอ ถ้ากำไรน้อยส่วนของผลตอบแทนแรงงานก็เพิ่มขึ้น เป็นแบบนั้นไหม ก็ไม่เสมอไปอีก เพราะบางครั้งกำไรน้อยก็ยิ่งกดดันรีดแรงงานเพิ่มไปอีก ตัวอย่างมีให้เห็นเยอะใน อุตรสาหกรรมขนาดใหญ่ยักษ์ทั้งหลาย หรือ ในภาคการเกษตร ก็ชัดเจน
ดังนั้นสิ่งที่อยากให้ตระหนักร่วมกันคือ เงินที่อยู่ในระบบทุน ในรูปแบบ "กำไร" หรือ ผลผลิต ที่นำไปสู่ รายได้-เข้ารัฐ มันมีปัจจัยของแรงงานเสมอ แต่แรงงานได้ค่าแรงต่ำกว่าจนไม่สามารถนำไปสู่การจ่ายภาษีทางตรงได้ นี่คือ ปัญหาของระบบและโครงสร้าง
รัฐต้องแก้ และผลักดัน โครงสร้างเศรษฐกิจให้เป็นธรรม ให้เกิดความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน และแข่งขันได้
เริ่มตั้งแต่ การมีระบบการศึกษาที่ทั่วถึงมีคุณภาพ คนพื้นที่ห่างไกลสามารถแข่งขันกับคนในเมืองได้ มีครูที่มีศักยภาพ มีขนส่งมวลชนที่เข้าถึงพื้นที่ชนบท แล้วจากนั้น การแข่งขันถึงจะเกิดประสิทธิภาพ ช่องว่างจะลดลง คนจะเข้าถึงรายได้ที่เป็นฐานภาษีได้จากองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้น และจากนั้น รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้นเอง
แต่หากรัฐไม่สามารถผลักดันได้ ซ้ำคนเหล่านี้ก็ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการ ประเทศเราก็จะวนลูปต่อไป
คร่าวๆก็ประมาณนี้ค่ะ เพื่อนๆพี่ๆ มีความเห็นอย่างไร เสนอความคิดเห็น แชร์ แลกเปลี่ยนกันได้นะคะ
มิ้วติ้ววนไป
โฆษณา