14 เม.ย. เวลา 13:03 • ประวัติศาสตร์

• มนุษย์โฮโม เซเปียนส์ เคยต่อสู้กับมนุษย์สปีชีส์อื่นไหม?

ราว 40,000 ปีที่แล้ว เมื่อโฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) หรือมนุษย์ยุคใหม่อพยพจากแอฟริกาไปถึงยุโรป พวกเขาพบว่า ดินแดนแห่งนี้มีมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่
มนุษย์กลุ่มนี้ก็คือโฮโม นีแอนเดอร์ทัลเอนซิส (Homo neanderthalensis) หรือมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล พวกเขามีความใกล้ชิดกับมนุษย์ยุคใหม่มากที่สุด และถือเป็นสปีชีส์พี่น้องกับเรา นีแอนเดอร์ทัลมาถึงยุโรปและเอเชียหลายแสนปีก่อนที่มนุษย์ยุคใหม่จะมาถึง
แต่ไม่กี่พันปีจากนั้น นีแอนเดอร์ทัลได้หายสาปสูญไป หลงเหลือเพียงโฮโม เซเปียนส์ ที่จะขยายเผ่าพันธุ์จนครอบครองโลกในที่สุด
แล้วอะไรที่ทำให้นีแอนเดอร์ทัลสูญพันธุ์ไปจากโลก เรื่องนี้ถูกถกเถียงมาช้านาน และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดสองสมมติฐานที่ใช้อธิบายเรื่องดังกล่าว ได้แก่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก และการเผชิญหน้ากับมนุษย์ยุคใหม่
1
การที่พันธุกรรมในมนุษย์ยุคใหม่มี DNA ของนีแอนเดอร์ทัลบ่งชี้ว่า มนุษย์ยุคใหม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับนีแอนเดอร์ทัลในทางใดทางหนึ่ง
จากการศึกษาพบว่า คนที่อยู่นอกแอฟริกาอย่างเช่นยุโรปหรือเอเชีย มีโอกาสพบ DNA ของนีแอนเดอร์ทัลอยู่ที่ราว 1-3% ส่วนมนุษย์ยุคใหม่ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 40,000 ปีที่แล้ว จะมี DNA ของนีแอนเดอร์ทัลอยู่ที่ราว 6-9%
นอกจากการผสมข้ามสปีชีส์ ยังมีทฤษฎีที่บอกว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนีแอนเดอร์ทัลกับมนุษย์ยุคใหม่ อาจจะรวมถึง ‘สงคราม’ และความรุนแรงระหว่างสองสปีชีส์ด้วย
ชิมแปนซีที่มีบรรพบุรุษร่วมกันกับมนุษย์ จะมีพฤติกรรมที่ชิมแปนซีเพศผู้รวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้กับชิมแปนซีอีกกลุ่ม ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า ความรุนแรงหรือการใช้กำลังตัดสิน เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับบรรพบุรุษมนุษย์ รวมถึงมนุษย์ยุคใหม่และนีแอนเดอร์ทัล
2
ฟอสซิลโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งพบว่า มีร่องรอยของการถูกทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธ อย่างเช่นรอยฟกซ้ำที่กะโหลกศีรษะที่เกิดจากอาวุธอย่างเช่นกระบอง หรืออาการบาดเจ็บตรงกระดูกท่อนแขนส่วนล่าง ที่เกิดจากการพยายามใช้แขนปกป้องร่างกาย โครงกระดูกนีแอนเดอร์ทัลร่างหนึ่งที่ค้นพบในถ้ำซานิดาร์ (Shanidar Cave) ประเทศอิรัก ก็พบหอกที่เสียบอยู่ที่อก
1
แต่ประเด็นน่าสนใจคือ โครงกระดูกของนีแอนเดอร์ทัลที่พบร่องรอยอาการบาดเจ็บนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนที่มนุษย์ยุคใหม่จะปรากฎตัวในยุโรป ในขณะเดียวกัน โครงกระดูกของโฮโม เซเปียนส์ ในช่วงยุคหินเก่า (Neolithic) ที่มีร่องรอยถูกสังหารด้วยอาวุธ ส่วนใหญ่จะมีอายุหลายพันปีหลังจากการหายไปของนีแอนเดอร์ทัล
ที่สำคัญก็คือ เราจะแบ่งแยกได้อย่างไรว่า สาเหตุการตายของเหยื่อเหล่านี้ มาจากความบาดหมางในครอบครัวหรือคนกลุ่มเล็ก ๆ การถูกฆาตกรรม หรือถูกฆ่าจากสงคราม
ดังนั้นถ้าถามว่า นีแอนเดอร์ทัลเคยต่อสู้กับมนุษย์ยุคใหม่ หรือไม่ ก็พบว่านีแอนเดอร์ทัลในหลายพื้นที่ของยุโรปสูญพันธุ์ก่อนที่มนุษย์ยุคใหม่จะไปถึง เราจึงไม่สามารถสรุปได้แบบชัดเจนว่า มนุษย์ยุคใหม่มีส่วนต่อการสูญพันธุ์ของนีแอนเดอร์ทัล
แต่ปัจจัยด้านอื่น ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่ทั้งรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือการที่โฮโม เซเปียนส์ ยืดหยุ่นหรือปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีกว่า ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นีแอนเดอร์ทัลถูกแทนที่ด้วยโฮโม เซเปียนส์
อ้างอิง
• The Conversation. When did humans first go to war?. https://theconversation.com/when-did-humans-first-go-to-war-149637
• BBC ไทย. รักข้ามสายพันธุ์ “โฮโมเซเปียนส์-นีแอนเดอร์ทัล” จับคู่จู๋จี๋กันได้อย่างไรในยุคก่อนประวัติศาสตร์. https://www.bbc.com/thai/international-56646656
#HistofunDeluxe
โฆษณา