15 เม.ย. เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

เมื่อโลกร้อนขึ้น งูพิษจะเปลี่ยนที่อยู่ กระทบต่อนิเวศและผู้คน

มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ‘งู’ จะเป็นสัตว์อีกชนิดที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอดของพวกมัน
จากป่าหนึ่ง ไปยังอีกป่าหนึ่ง หรืออาจเดินทางไกลข้ามประเทศ
ในการศึกษาถึง ‘ความเป็นไปได้’ พบว่าประเทศทั้งในแถบแอฟริกาและเอเชีย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยของงูครั้งใหญ่
โดยเฉพาะในกลุ่มงูพิษ ที่จะกระทบทั้งระบบนิเวศ สุขภาพความเป็นอยู่ของผู้คน และเศรษฐกิจยังชีพขั้นพื้นฐาน
ประเทศอย่าง ไนเจอร์ นามิเบีย จีน เนปาล และเมียนมาร์ จะกลายเป็นอยู่ของงูพิษหลายชนิดที่อพยพข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
รวมถึงยูกันดา เคนยา บังคลาเทศ อินเดีย และไทย - ที่จะมีงูย้ายถิ่นมาเช่นกัน แต่อาจพบ (จำนวนชนิด) น้อยกว่ากลุ่มบน
นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศในทั้งสองภูมิภาค
แต่เมื่อวัดผลกระทบแล้ว ประเทศที่กล่าวถึงจะเจอปัญหาหนักกว่า โดยมีปัจจัยเรื่องการประกอบอาชีพ ความยากจน และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขเข้ามาเกี่ยว
เป็นที่คาดการณ์ว่าประเทศต่างๆ เช่น ยูกันดา แคเมอรูน กินี เซียร์ราลีโอน ไนจีเรีย และโซมาเลีย จะมีพื้นที่ชนบทกว้างขวางเพื่อทำเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ภายในปี 2570
ข้อมูลนี้อ้างอิงจากการเปลี่ยนแปลงที่ดินในอนาคตของประเทศต่างๆ ที่จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ พร้อมๆ กับเป็นบ้านหลังใหม่ของเหล่างูพิษ เพราะมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในอนาคต
จากสถานการณ์นี้นำมาซึ่งความน่ากังวล เนื่องจากการถูกงูกัดจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและคนงานในชนบท โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อย
รวมถึงงูพิษยังสร้างความเสียหาย - ฆ่าปศุสัตว์จำนวนมากที่เป็นของเกษตรกรรายย่อยเช่นกัน
สิ่งนี้จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และอาจทำให้วิกฤตการณ์ทางอาหารสำหรับครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ชนบทที่ยากจนที่สุด
การอพยพย้ายถิ่นของงูยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบการรักษาพยาบาลในแต่ละเมือง ที่ต้องรับมือกับพิษงูชนิดใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน จึงอาจขาดยาต้านพิษเฉพาะของแต่ละชนิด
ในทางกลับกัน ประเทศที่งูหายไปก็อาจส่งผลกระทบต่อบทบาทของงูในระบบนิเวศ
งูมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น สัตว์ฟันแทะ ที่อาจทำลายพืชผลทางการเกษตรและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
หากงูหายไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค และความเสียหายของพืชเกษตรได้
ขณะเดียวกัน พิษงูก็มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ - ถูกนำมาใช้ในการผลิตยารักษาโรคหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท รักษาความดันโลหิตสูง และปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
ดังนั้นการสูญเสียงูจึงหมายถึงการสูญเสียผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางเภสัชวิทยาสูงของประเทศต่างๆ
นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเพิ่มความเสี่ยงให้คนถูกงูกัดมากขึ้น
โดยทุกๆ 1 องศาที่เพิ่มขึ้น จะเพิ่มโอกาสให้งูกับคนเผชิญหน้ากันบ่อยขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์
งานวิจัยดังกล่าวอ้างอิงจากพื้นที่เขตหนาว ที่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจะทำให้เวลาจำศีลของงูสั้นลง งูก็ออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น
รวมถึงพฤติกรรมคนที่ออกไปข้างนอกมากขึ้นในวันที่อากาศอบอุ่นขึ้น
ปัจจุบันในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะงูพิษกัดประมาณ 81,000 - 138,000 ราย
และประมาณ 400,000 ราย กลายเป็นผู้พิการถาวร
เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออก แอฟริกา ตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา
แต่จากนี้จะกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ (เขตร้อนใหม่) เพิ่มขึ้น
เรื่องนี้ทั้งหมด สามารถสรุปได้สั้นๆ ว่า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก
อย่างไรก็ดี งานวิจัยทั้งสองชิ้นก็เป็นเพียงการคาดการณ์ถึงอนาคตที่อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น
แต่ถ้าโลกไม่ร้อนขึ้น เรื่องราวที่กล่าวถึงทั้งหมดก็จะไม่เกิด
ในช่วงเวลาที่ยังพอมีทางรอด
เราต้องเลือกเดินให้ถูกทาง
 
อ้างอิง
Climate change-related distributional range shifts of venomous snakes: a predictive modelling study of effects on public health and biodiversity https://shorturl.asia/wGUln
Risk of venomous snakebites grows as temperatures increase, study shows
More People Die From Venomous Snakebites Each Year Than Have Ever Died from Ebola https://shorturl.asia/2ACzJ
โฆษณา