21 เม.ย. เวลา 05:00 • ไลฟ์สไตล์

คุยกับ ‘เล้ง - ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร’ ในวันที่ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่มีแนวคิดแบบ ‘มาม่า มายด์เซ็ต’

ส่องบทเรียนความเป็นผู้นำ การใช้ชีวิต รวมถึงคำแนะนำถึง "คนรุ่นใหม่" จาก "ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร" CEO บริษัท MFEC ผู้ให้คำปรึกษาไอทีชั้นนำของไทยผ่านคอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด
หลังจาก “พี่เล้ง - ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัทเอ็ม เอ็ฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) ขึ้นพูดบนเวทีเสวนาด้านเอไอซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจเมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คอลัมน์ “The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ก็ไม่พลาดที่จะชวนพี่เล้งมาพูดคุยเกี่ยวกับวิธีคิดเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน
3
เราทราบมาว่า ก่อนที่พี่เล้งจะเริ่มต้นก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีของตัวเองในวัยเพียง 28 ปี เขาเปลี่ยนงานเพียง 2-3 ครั้งหลังจากเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ซึ่งจากวันนั้นจนถึงวันนี้มูลค่าบริษัทฯ ของเขาก็พุ่งสูงขึ้นแตะ 4,000 ล้านบาท
2
เราจึงถามพี่เล้งว่า ปัจจัยอะไร ทำให้เขาในวัยยี่สิบปลาย กล้าที่จะออกจากงานประจำและสร้างอาณาจักรเทคโนโลยีของตัวเอง เขานิ่งคิดสักพักก่อนจะตอบว่า ณ จังหวะนั้นทุกอย่างมันเหมาะสม เขามั่นใจว่าทำได้ จึงตัดสินใจออกมา
1
“มันอยู่ที่ความพร้อม อยู่ที่ความเหมาะสม เหมือนกับการที่คุณจะเล่นเซิร์ฟ คุณต้องมีความสามารถ มีอุปกรณ์ ที่สำคัญลมต้องมี คลื่นต้องมา มันถึงจะเล่นได้ ถ้าคุณมีเซิร์ฟ แต่มันไม่มีคลื่นลมเลย ออกไปมันจะเล่นยังไงล่ะ ทั้งหมดแปลว่า โอกาส ความเหมาะสม เวลา เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งก่อนที่จะออกมาเปิดธุรกิจผมมั่นใจว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว”
4
เราทราบดีว่าการเปลี่ยนบทบาทพนักงานบริษัทธรรมดาสู่การสวมหมวกผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเทคฯ มูลค่าหลายพันล้านบาทไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากความพร้อมที่พี่เล้งเล่าให้ฟังแล้ว “ความอุตสาหะ” คือหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญ เราจึงถามความคิดเห็นเขาถึงแนวคิด “การประสบความสำเร็จแบบข้ามคืน” (Overnight Success) ผู้บริหารผู้นี้ตอบทันทีว่า “ไม่มีจริง”
1
“อันนี้เป็นสิ่งที่มันเกินไป ผมเรียกว่าเป็น มาม่ามายด์เซ็ต คือต้องการอะไรที่สำเร็จรูป อยากรู้อะไรถาม ต้องการให้บอกเลย ทำยังไงถึงจะสำเร็จ พี่บอกมาเลย 3 ข้อจะได้ทำตาม ไอ้พวกนี้เชื่อปะ มีที่ไหนละ”
“หลายคนคาดว่าทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตต้องเป็นแบบมาม่าสำเร็จรูป อ่านหนังสือ มี 10 เล่ม เอาที่ขายดีที่สุด ผมอ่านเฉพาะเล่มที่มีคนซื้อเยอะสุด แล้วผมจะเก่ง บอกเลยเป็นไปไม่ได้ เพราะกว่าจะประสบความสำเร็จหรือเก่งในเรื่องใดได้เราต้องย่อย เราต้องกลั่นกรอง เราต้องพัฒนาด้วยตัวเอง”
3
หนึ่งในแนวคิดที่พี่เล้งมักให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งคือการผสมผสานการทำงานเข้ากับองค์ความรู้จากตะวันออกอย่าง “ปรัชญาหยินหยาง” หรือการหาสมดุลระหว่างของสองสิ่ง เราจึงถามต่อว่าเขาปรับใช้แนวคิดดังกล่าวกับการทำงานอย่างไร
เขาเล่าให้ฟังว่า “มันคือการหาสมดุลระหว่างเวลาพักผ่อนกับเวลางานของแต่ละคนซึ่งลอกกันไม่ได้ ยกตัวอย่างอาหารบางอย่างบางคนกินแล้วแข็งแรง แต่พอเรากินกลับเป็นเบาหวาน หรือการเล่นกีฬา บางคนบอกวิ่งมาราธอนได้ดีมาก แต่ถ้าร่างกายเราไม่ได้ถูกกับมาราธอน เราไปวิ่งตามเขาร่างกายก็พัง การทำงานก็เหมือนกัน มันอยู่ที่สมดุลใครสมดุลมัน”
2
“งานที่สบายเกินไป เราทำแป๊บเดียวก็ไม่ท้าทายแล้ว ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น เราก็อาจจะไม่ได้พัฒนาเลย เราก็อาจจะเป็นเดดวูด (Deadwood) ตั้งแต่อายุยังน้อย หรืองานบางอย่าง เครียดเกินไป รับไม่ไหว เราเสียสมดุล กลายเป็นโรคซึมเศร้าอีก ดังนั้นเราต้องรู้และเข้าใจตัวเรา อย่าผลักภาระการเป็นตัวเรา ให้กับหัวหน้างาน เพราะเราเป็นคนที่รู้เกี่ยวกับตัวเรามากที่สุด”
9
ส่วนแนวคิดเรื่อง “เวิร์คไลฟ์บาลาซ์” ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน เมื่อถูกถาม เขาตอบทันทีว่า “ไม่เชื่อ” แนวคิดดังกล่าว
“ผมไม่เชื่อครับ มันอยู่ที่แต่ละคน เพราะฉะนั้นเราต้องหาสิ่งที่สมดุลของตัวเอง บางคนสร้างสภาวะแวดล้อม (Environment) ที่ไม่ท้าทาย (Challenge) เลย เราไม่ต้องการความเครียดเลย เราไม่ต้องการแรงกดดันเลย ผลก็คือซีรีบรัม (Cerebrum) คุณจะเรียบ แต่สมองจะทำงานได้ดี เราต้องมีแรงกดดันที่พอเหมาะ มีความเครียดที่พอเหมาะ เราถึงฉลาดขึ้น เราถึงเก่งขึ้น”
3
“คุณเล่นไม่เอาความเครียดเลย มันก็จะเหมือนคุณอยากให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กล้ามเนื้อเติบโตขึ้น คุณไม่ยกเวท หรือยกเวทน้ำหนักเท่าเดิม กล้ามเนื้อมันก็ไม่ขึ้น คุณต้องผลักดัน (Push) ตัวเอง ยกน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น จำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อคุณถึงจะเพิ่มขึ้น”
หลังจากบทสนทนาผ่านไปหลายสิบนาที เราก็ไม่พลาดที่จะถามคำถามสำคัญของ “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ที่ว่าหากย้อนกลับไปในช่วงหนึ่งของชีวิตได้อยากกลับไปบอกอะไรกับตัวเอง เขาตอบว่า
“หัดเป็นซีพียู ไม่ใช่ฮาร์ดดิสก์”
“พวกนี้มันคือค่อยๆ พัฒนา (Evolve) ความรู้ในการบริหารงานผมไม่ได้รู้ตอนเด็กๆ มันก็พัฒนามาจนถึงตอนนี้ ค่อยตกผลึก ค่อยรู้ แต่ก่อนผมก็เหมือนกัน คือเราอยู่ในสังคมที่สอนให้เราเป็นฮาร์ดดิสก์ อ่านแล้วจำ อ่านแล้วจำ อ่านแล้วทำตาม โดยไม่เคยประมวลผล แต่พอเราเอาตัวเองออกจากการเป็นฮาร์ดดิสก์ มาเป็นซีพียู เริ่มคิดได้ เริ่มวิเคราะห์ได้ เราเริ่มจะเข้าใจเรื่องการหาสมดุลของตัวเอง”
2
ก่อนบทสนทนาจะจบลง เราไม่ลืมที่จะขอให้ผู้บริหารท่านนี้แนะนำหนังสือที่เขาอ่านเป็นประจำ เขาตอบกลับมาทันทีว่า “ไม่ได้ครับ แนะนำไม่ได้ หนังสือมันเหมือนกับอาหาร มีทั้งอาหารดี และอาหารขยะ (Junk Food) คุณรู้ได้ไงว่าหนังสือที่คุณอ่านมันถูก หนังสือครึ่งหนึ่งที่มีอยู่ในท้องตลาด เผื่อมันจังก์ขึ้นมาจะทำยังไง ต้องเลือกอ่าน เพราะถ้ากินอาหารขยะทุกวันก็เป็นมะเร็ง ใช่ไหม…”
แต่เหมือนรู้ว่าเราผิดหวังที่ไม่ได้ชื่อหนังสือมาเขียนในคอลัมน์ พี่เล้งยิ้มแล้วตอบเราก่อนที่จะขอตัวกลับว่า “ถ้าต้องแนะนำจริงๆ ก็ ‘เต้าเต๋อจิง’ ครับ”
โฆษณา