15 เม.ย. เวลา 12:30 • กีฬา

Formula E : การแข่งขันรถไฟฟ้า กับความคุ้มค่าหากไทยจะเป็นเจ้าภาพ | Main Stand

เมื่อพูดถึงการแข่งรถ หรือ Motorsports ระดับโลก หลายคนมักนึกถึง Formula 1 หรือ รถสูตรหนึ่ง ไม่ก็ MotoGP ในสายสองล้อก่อนเป็นอันดับต้น ๆ เพราะรายการเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าคือที่สุดของการแข่งท้าความเร็ว ชนิดที่ต่อให้ไม่เคยดูรถแข่งมาก่อน ก็ต้องเคยได้ยินชื่อเหล่านี้บ้าง ไม่มากก็น้อย
แต่ไม่กี่ปีมานี้ Formula E ศึกการแข่งรถไฟฟ้าที่ชูจุดขายเรื่อง "การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" ค่อยๆ ได้รับการพูดถึงมากขึ้น เป็นผลมาจากการที่โลกให้ความสนใจ "รถไฟฟ้า" มากขึ้น จนได้รับการคาดหมายว่า นี่คืออนาคตของการประลองรถซิ่งของยุคต่อไป
และชื่อของ Formula E ยังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เมื่อมีข่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ต้องการปักหมุดประเทศไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2025 พร้อมวางสังเวียนแข่งไว้คร่าว ๆ แล้วว่าจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ทำให้คนที่ไม่เคยสนใจมาก่อน ถึงกับต้องลองค้นหาข้อมูลดูว่า การแข่งรถไฟฟ้านั้นน่าสนใจเพียงใด ถึงจะต้องเอามาจัดแข่งที่ประเทศไทยด้วย ?
ถ้าใครยังไม่รู้จักล่ะก็ มาหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand ได้ที่นี่
จากไอเดียบนผ้าเช็ดปาก
จุดเริ่มต้นของการแข่งขัน Formula E ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2011 จากความคิดของชาย 2 คนคือ อเลฮานโดร อาแกก นักธุรกิจชาวสเปน และ ฌอง ท็อดต์ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานของสหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ หรือ FIA (Fédération Internationale de l'Automobile) ที่หลายคนจดจำได้จากการอดีตบอสของทีม Ferrari ผู้อยู่เบื้องหลังการคว้าแชมป์โลก 5 สมัยของ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ช่วงปี 2000-2004
เย็นวันนั้น ทั้งคู่นัดคุยกันในร้านอาหารที่ปารีส เพื่อสนทนาถึงอนาคตของการแข่งรถว่า อยากเห็นวงการรถแข่งที่สร้างความยั่งยืนให้โลก ผ่านการใช้พลังงานที่สะอาด นอกเหนือไปจากการแข่งขันโดยใช้เครื่องยนต์สันดาป ใช้พลังงานน้ำมัน ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงาน และค่อย ๆ ทำลายโลกโดยไม่รู้ตัว
"ผมอยากสร้างอะไรสักอย่างที่จะถนอมโลกของเราไว้ไปถึงคนรุ่นต่อไป ในช่วงเวลาที่สภาพแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลง การแข่งขัน F1 อาจไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของเราอีกแล้ว เมื่อเทียบกับ E-mobility ที่จะเป็นอนาคต" อาแกก กล่าวไว้
ทั้งคู่แลกเปลี่ยนไอเดียคร่าว ๆ พร้อมร่างความคิดเกี่ยวกับการสร้างลีกการแข่งขันรถซิ่งไฟฟ้าบนผ้าเช็ดปาก ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่า ต่อมาไอเดียเหล่านั้นจะนำมาสู่การจัดแข่งขัน ที่รถไฟฟ้าออกซิ่งไปตามท้องถนนตามหัวเมืองใหญ่ทั่วโลก แล้วทำให้ผู้คนได้ตื่นตะลึงว่า รถไฟฟ้ามีศักยภาพที่จะเป็นรถยนต์แห่งอนาคตได้เพียงใด
ที่สุดแล้ว การแข่งขัน Formula E หรือ FE ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2014 ณ Olympic Park กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยมีนักแข่งทั้งหมด 20 คน จาก 10 ทีมลงชิงชัย แล้วเป็น ลูคัส ดิ กราสซี่ จากทีม Audi Sport ABT ได้ชัยชนะในสนามแรก
ส่วน เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ อดีตนักแข่ง F1 ทีม Renault เมื่อปี 2008-2009 ได้ชื่อว่าเป็นแชมป์ประจำปีคนแรกของ FE หลังจบการแข่งขันทั้งหมด 11 เรซ แล้วมีคะแนนสะสม 144 คะแนน มากกว่าอันดับ 2 อย่าง เซบาสเตียน บูเอมี่ เพียงคะแนนเดียว ถือเป็นการเริ่มต้นศักราชแรกที่น่าจดจำทีเดียว
จุดขายว่าด้วยการรักษ์โลก
เมื่อปีแรกมาพร้อมความสนุดดุเดือดแบบนี้ คนทั้งโลกจึงเริ่มคาดหวังว่าปีต่อไปจะน่าสนใจมากกว่าเดิม การผลักดันของทั้ง อาแกก ที่ดำรงตำแหน่ง Chairman ของ FE กับ ท็อดต์ ไม่เพียงดึงดูดคนดู แต่ยังดึงดูดนักแข่งที่มีชื่อเสียงทั่วโลกมาลงแข่งขันด้วย จนมีอดีตนักแข่ง F1 หลายคนเปลี่ยนบรรยากาศมาประลองรถไฟฟ้าดูบ้าง อาทิ ฟิลิปเป้ มาสซ่า, ฌองส์ เอริค-เวิร์น, ยาโน่ ทรูลี่ และ สตอฟเฟิล ฟานดูร์น
ไม่เพียงแค่นั้น นิโค่ รอสเบิร์ก แชมป์โลก F1 กับทีม Mercedes เมื่อปี 2016 แม้จะไม่ได้มาลงแข่งเอง แต่ก็ยังลงทุนเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นคนสำคัญของ FE ด้วย
การยืนหยัดอย่างมั่นคงของ FE กลายเป็นพิมพ์เขียวที่ทำให้เกิดการแข่งรถไฟฟ้าอีกหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือ MotoE หรือการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่จัดแข่งขันในสัปดาห์เดียวกันกับ มอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลก MotoGP นั่นเอง
เมื่อปี 2020 FE ยังประกาศว่าเป็นการแข่งขันกีฬารายการแรกที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Footprint) โดยยึดหลักการทำงานตามแนวทางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อย่างรอบด้าน ทั้งลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และชดเชยการปล่อยก๊าซที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่
หลังได้รับการปรับสถานะเป็นการแข่งขัน "ชิงแชมป์โลก" เมื่อซีซั่นที่ 7 หรือฤดูกาล 2020-21 ปัจจุบัน FE แข่งขันมาถึงฤดูกาลที่ 10 แล้ว ซึ่งในเรซเปิดฤดูกาล 2023-24 ที่ประเทศเม็กซิโก มีรายงานว่ายอดคนดูเพิ่มขึ้นถึง 57% เมื่อเปรียบเทียบกับเรซแรกของฤดูกาล 2022-23 นอกจากนั้น จำนวนการพูดถึงในโซเชี่ยลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เพิ่มถึง 205% ด้วย
Formula E vs Formula 1 คู่แข่ง หรือช่วยผลักดัน ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า FE กับ F1 นั้นมีความเกี่ยวข้องและความผูกพันกันหลายด้าน เพราะถ้าไม่มีรากฐานที่แข็งแกร่งของรถสูตร 1 การแข่งขันรถไฟฟ้าก็อาจไม่เติบโตอย่างเร็วก็เป็นได้
ลักษณะของรถ FE เป็นรถแข่งล้อเปิด (Open Wheel) และมีที่นั่งเดียว (Single Seat) เหมือน F1 แต่ต่างกันที่แหล่งพลังงานของรถ โดย FE ใช้พลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนรถ F1 ปัจจุบันใช้เครื่องยนต์ไฮบริด ผสานการทำงานของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้เมื่อเทียบความเร็วกันแล้ว รถ F1 ยังเร็วและแรงกว่าหลายขุม มี Top Speed อยู่ที่ 372.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วน FE เร่งความเร็วสูงสุดแล้วอยู่ที่ 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้จุดประสงค์ของการแข่งขัน FE ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นการประลองความเร็วเหมือน F1 ตั้งแต่แรก เพราะด้วยความเร็วรถก็สู้กันไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม นักแข่ง FE ต้องใช้ทักษะและการวางแผนไม่น้อยหน้านักแข่ง F1 เหตุเพราะสนามแข่ง FE แทบทุกแห่ง คือ สตรีท เซอร์กิต ซิ่งบนถนนหลวง ที่แทบไม่อนุญาตให้ผิดพลาด อีกทั้งยังต้องวางแผนการใช้งานแบตเตอรี่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้รถดับไปก่อนจบการแข่งขัน เนื่องจากไม่มีการชาร์จไฟระหว่างการแข่ง
ขณะเดียวกัน พอเป็นรถไฟฟ้า เสียงของรถก็จะไม่ได้คำรามดังกึกก้องแบบรถ F1 ในปัจจุบัน จนไม่แปลกใจหากใครจะมองว่าเสียงหวี่ ๆ ของมันฟังแล้วไม่เร้าใจเลย
แต่หากก้าวข้ามเสียงของมันได้ล่ะก็ จะเจอกับการแข่งขันที่สนุก ตื่นเต้น เร้าใจ ชวนลุ้นระทึกจนถึงวินาทีสุดท้าย เพราะรถแต่ละทีมมีความแข็งแกร่งค่อนข้างสูสี แทบทุกคนจึงมีสิทธิ์ขึ้นโพเดี้ยมและได้แชมป์ไม่แพ้กัน ไม่เหมือนกับ F1 ที่มักโดนครหาว่าขอแค่มีรถดีหน่อย นักแข่งบางคนก็พร้อมจะผูกขาดชัยชนะจนน่าเบื่อ
อีกความแตกต่างคือการเข้าพิท ส่วนใหญ่แล้วการแข่งรถ 4 ล้อไม่ว่าจะ F1, NASCAR, Indycar ไปจนถึง WEC (World Endurance Championship) จะมีช่วงเวลาให้รถเข้าพิทเปลี่ยนยางใหม่ แต่การเข้าพิทของ FE คือการเปลี่ยนเอารถคันใหม่ออกมาวิ่งเลย เนื่องจากช่วงแรก ๆ แบตเตอรี่ของรถ Formula E Gen1 ยังไม่อึดพอจะวิ่งจบทั้งเรซได้ ก่อนที่ปัญหานั้นจะหมดไปในรถ Gen2 ที่พัฒนาขึ้น และสืบเนื่องมาถึงรถ Gen3 ที่เพิ่งเริ่มใช้งานในฤดูกาล 2023
1
โดยล่าสุด Formula E ยังเพิ่มกติกา เพิ่มลูกเล่นชื่อว่า Attack Charge อนุญาตให้รถแต่ละคันเข้าพิทเพื่อชาร์จแบต แล้วเอาขุมกำลังที่ได้ไปเร่งไล่แซงรถคันอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสนามที่ 6 ของฤดูกาล 2023-24 ที่ มิซาโน่ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2024 นี้เอง
การวิวัฒนาการตลอด 10 ปีที่ผ่านมาทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า นี่คือคู่แข่งรายสำคัญที่จะทำให้ F1 ล้มหายตายจากไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นิโค่ รอสเบิร์ก ให้ทัศนะไว้ว่า ทั้ง F1 และ FE ไม่ใช่คู่แข่งกัน แต่ต้องพึ่งพาอาศัยกันไปมากกว่า สอดคล้องกับ ฌอง ท็อดต์ ที่มองว่าจริง ๆ แล้ว FE แข่งขันกับตัวเองเป็นหลัก เพื่อพัฒนาตัวเอง ทำให้สาธารณชนเห็นว่า รถยนต์ไฟฟ้าคืออนาคตของโลก เทคโนโลยีสะอาดที่พัฒนาขึ้นจะส่งผลให้รถยนต์ทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไปอีกขั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการวิวัฒนาการสู่โลกที่มั่นคงและยั่งยืน
ต้องมีเงินแค่ไหน ถึงจัดแข่ง Formula E ได้ ?
อีกสิ่งที่แตกต่างกันของ F1 และ FE คือต้นทุนในการจัดแข่งขัน โดยกรณีของ F1 ใช้เงินมหาศาล เฉพาะค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันอย่างเดียวก็สูงถึง 31.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 พันล้านบาท) ต่อปี แถมหากต้องการเซ็นสัญญาระยะยาว ค่าลิขสิทธิ์ในปีต่อ ๆ ไปยังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราก้าวหน้า ตลอดจนยังมีค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันอีกราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 495 ล้านบาท) ต่อปี
ขณะที่เรื่องสนามแข่งขัน มีทางเลือกระหว่างการสร้างสนามแข่งถาวร ตามมาตรฐาน FIA เกรด 1 ที่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,900 ล้านบาท) แต่สามารถใช้ได้เรื่อย ๆ หรือปิดถนนเพื่อทำเป็น สตรีทเซอร์กิต แต่ก็ต้องใช้งบประมาณในการสร้างพื้นที่เฉพาะ และปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 57.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,900 ล้านบาท) ต่อปี
โดยในกรณีของประเทศสิงคโปร์ ชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดแข่ง F1 ณ เวลานี้ ซึ่งจัดแข่งแบบ สตรีทเซอร์กิต ทางกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ หรือ MTI เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดแข่งขัน Singapore Grand Prix เมื่อปี 2022 อยู่ที่ราว 135-140 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 3.6-3.8 พันล้านบาท) โดยรัฐบาลอุดหนุน 60% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ส่วน FE ไม่ได้ต้องจ่ายแพงขนาดนั้น เอ็ด วาเลนไทน์ นักวิเคราะห์จาก Sports Economics เคยให้ข้อมูลว่า ค่าลิขสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันอยู่ที่ประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงราว 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม CBC สื่อแคนาดาเปิดเผยว่า การจัด Montreal ePrix ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาคา เมื่อปี 2017 ต้องใช้งบประมาณทั้งหมดมากถึง 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ทั้งนี้เงินที่แคนาดาจ่ายไปคือค่าก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมบำรุง ดูแลสนาม ไปจนถึงเงินค่าจ้างออแกไนเซอร์ และเงินค่าชดเชยที่ประชาชนจะไม่สามารถใช้รถใช้ถนนในช่วงจัดงานได้ ฯลฯ
ที่สำคัญ เงินทั้งหมดในการจัดแข่ง FE ที่มอนทรีออลนั้นยังมาจากเงินภาษีของประชาชน จนโดนวิพากษ์วิจารณ์หนัก และทำให้ Montreal ePrix จัดแข่งแค่ในปี 2017 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทว่าการแข่งขันในหลายเมือง เช่น ปารีส, นิวยอร์ก รวมถึง ฮ่องกง ไม่ได้ใช้เงินภาษีของประชาชนสักแดงเดียว แต่เป็นเงินที่สปอนเซอร์ รวมถึงออแกไนเซอร์ผู้จัดการแข่งขันลงขัน จนครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด
สอดคล้องกับข้อมูลการจัดแข่งขัน Jakarta ePrix ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ อานีส บัสเวดัน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาให้ข้อมูลว่า การจัดแข่ง Formula E มีค่าใช้จ่าย 343,000,000,000 รูเปียอินโดนีเซีย หรือประมาณ 24.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 870 ล้านบาท) ต่อปี
โดยในปี 2024 อินโดนีเซียหลุดโผจากการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน Formula E หลังจัดแข่งขันในปี 2022 และ 2023 ด้วยเหตุผลว่าเพราะการแข่งจะชนกับช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียพอดี แต่จะพิจารณาว่าจะย้ายไปแข่งขันในเมืองอื่นแทน (ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีการจัดขึ้น) ส่วนจะกลับมาจัดปี 2025 หรือไม่ ต้องรอลุ้นกันต่อไป
โจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องรีบเดินหน้า
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายที่แคนาดาและอินโดนีเซียต้องแบกรับนั้นไม่ได้ถูกอย่างที่คิด แต่ทำไมประเทศไทยถึงยังยืนยันว่า ต้องการจะจัดแข่งขันงานนี้อยู่ ?
อาจไม่มีใครรู้คำตอบโดยตรง แต่เมื่อพิจารณาจากตารางแข่งขัน F1 ในปัจจุบันที่แข่งขัน 24 สนามต่อปี ถือว่าเยอะจนนักแข่งเองยังบ่นว่ามากเกินไปแล้ว การแย่งสล็อตเข้าไปเป็นเจ้าภาพ F1 ให้ได้จึงมีคู่แข่งที่ต้องต่อกรด้วยจำนวนมาก ทั้งประเทศที่พร้อมจะทุ่มเงินมหาศาลเพื่อช่วงชิงที่นั่งมาให้ได้ เพราะมั่นใจว่าเงินที่ทุ่มเทไปนั้นจะให้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ากว่านั้นหลายเท่า และประเทศที่จัดแข่งขันอยู่แล้วในปัจจุบันที่พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาเก้าอี้นั้นต่อไป
กลับกันหากผลักดันเพื่อจัดศึก FE ที่มีการแข่งขันไม่เกิน 16 เรซต่อปี (แถมบางสนามจัดแบบ Double Header คือ 2 เรซต่อเนื่องใน 2 วัน) และยังมีช่องให้เพิ่มเติมสนามได้อีกเรื่อย ๆ แน่นอนว่าการแข่งขันย่อมน้อยกว่า มีโอกาสมากกว่าในการได้สิทธิ์จัดแข่ง
ที่สำคัญ หากจะจัดแข่ง F1 ในประเทศไทย สนามที่สามารถรองรับการแข่งขันได้อย่างเป็นทางการ ณ เวลานี้ มีแค่ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน FIA เกรด 1 ที่เดียว แต่บุรีรัมย์ยังขาดโรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับสตาฟทีม F1 และแฟน ๆ ที่จะหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศได้ ลำพังแค่การแข่งขัน MotoGP ก็พบเจอแฟน ๆ บ่นตลอดว่าจับจองโรงแรมยากมาก และต้องจองล่วงหน้าเป็นปี ถึงจะได้โรงแรมที่ดีและอยู่ใกล้สนาม การจัด F1 ที่นี่จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ส่วนถ้าต้องการจัด F1 แบบ สตรีท เซอร์กิต ซึ่งเป็นเทรนด์ในยุคนี้ แม้การันตีว่าหาโรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวก และสามารถจัดอีเวนท์เสริม เช่น คอนเสิร์ต แบบที่ประเทศสิงคโปร์ทำในการแข่งขัน สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ ได้ไม่ยาก แต่ที่ต้องมาคิดต่อคือ จะใช้ถนนเส้นไหน ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด รวมถึงจะต้องปรับปรุงถนน หรือเจอกับเสียงวิจารณ์จากชาวบ้านเพียงใด
การย้ายมาจัด FE ในเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่ จึงน่าจะตอบโจทย์กว่า เพราะต้องการสนามที่ผ่านมาตรฐาน เอฟไอเอ เกรด 3 (FIA Grade 3) เท่านั้น และหากสถานที่จัดแข่งขันเป็นไปตามที่รัฐบาลเสนอไว้นั่นคือ อุทยานราชพฤกษ์ และสนามกีฬา 700 ปี ซึ่งมีความกว้างขวางเพียงพอจะดัดแปลงให้เป็นสนามแข่งรถ Street Circuit ความยาวต่อรอบการแข่งขัน 2-3 กิโลเมตร ยังรบกวนการเดินทางไปมาของประชากรในพื้นที่น้อยกว่าด้วย
เมื่อเทียบกับการปิดถนนจัดแข่งขันในกรุงเทพฯ (แม้วิวทิวทัศน์ของพื้นที่ตรงนั้น อาจไม่ได้สวยเหมือนการแข่งขันการเมืองใหญ่ที่มีตึกสูงระฟ้าก็ตาม)
หากไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่ง FE จริง ๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องวางรากฐาน และทำให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ทั้งการใช้งบประมาณที่ต้องมีความโปร่งใส และได้รับการยอมรับจากประชาชน รวมถึงการทำให้คนไทยรู้จักการแข่งขัน FE มากขึ้นว่าแข่งขันอะไร สามารถรับชมแบบถูกลิขสิทธิ์ทางช่องทางไหน แล้วมีกี่คนที่สามารถเข้าถึงได้ ?
ทั้งนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ฐานแฟนกีฬาแข่งรถ หรือมอเตอร์สปอร์ตในเมืองไทย ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอล แม้บางรายการอย่างการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ MotoGP จะได้รับความนิยมถึงขนาดจัดการแข่งขันที่จังหวัดบุรีรัมย์มาตั้งแต่ปี 2018
แต่ความชื่นชอบนั้นก็มีขอบเขตกว้างขวางมาก จนไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ชอบกีฬารถแข่งจะสนใจหรือชื่นชอบจนถึงขนาดอยากซื้อตั๋วมาชมแข่ง FE
นอกจากนี้จุดประสงค์ของการก่อตั้ง FE ก็เพื่อรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนความยั่งยืน และพลังสะอาด ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลก็ยังต้องรวมถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเร่งด่วนด้วย
ยิ่งหากจัดแข่งขันที่เชียงใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ตามที่ประกาศไว้ ก็ต้องไม่ลืมว่านั่นคือช่วงเวลาที่ฝุ่น PM2.5 จะออกอาละวาด บางปีฝุ่นอาจมาเร็ว บางปีอาจมาช้า ถ้าเกิดบังเอิญว่าการแข่งขันเกิดขึ้นตอนที่ค่าฝุ่นอยู่ในโซนสีแดงเข้ม ไปจนถึงโซนสีม่วงอันตราย ภาพของรถแข่งที่วิ่งท่ามกลางฝุ่นพิษของเมืองเชียงใหม่ อาจไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย รวมถึงภาพลักษณ์ที่ FE สร้างมาตลอดทศวรรษว่า ต้องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้โลก
แม้รัฐบาลจะเข้าเจรจาพูดคุยกับผู้จัดแข่งขัน และยืนยันว่า "จัดแน่" แต่ก็ยังต้องรอผลยืนยันอย่างเป็นทางการภายในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ไม่มีใครกังขาในศักยภาพในการจัดแข่งขันของประเทศไทย หากผลออกมาว่าไทยได้เป็นเจ้าภาพ แฟนกีฬารถซิ่งก็ล้วนแต่เอาใจช่วยให้ออกมาดี เพื่อให้เป็นหน้าตาประเทศ คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป
และใครจะไปรู้ หากงานออกมาประสบความสำเร็จ มันอาจเป็นก้าวแรก และเป็นเครดิตที่ทำให้ฝันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือการจัดแข่งขัน F1 ในประเทศไทยกลายเป็นจริงเสียทีก็เป็นได้
บทความโดย : ปารณพัฒน์ แอนุ้ย
แหล่งอ้างอิง :
โฆษณา