15 เม.ย. เวลา 16:28 • ปรัชญา

ชีวิตเปรียบเสมือนการเดินขึ้นบันไดอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด

บทความนี้ผมอยากเขียนมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้โอกาสในการเขียนสักที ทุกครั้งที่ผมสนทนากับคนรู้จักเกี่ยวกับชีวิตของเรา หากมีโอกาสผมมักจะเปรียบเปรยชีวิตของเราเปรียบเสมือนการเดินขึ้นบันไดอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดโดยปราศจากเพดาน
คำเปรียบเปรยนี้ไม่ได้แตกต่างกับชีวิตคือการเดินไปข้างหน้าสักเท่าไร เพียงแต่การเปรียบเปรยถึงบันไดมันเห็นภาพชัดเจนถึงพฤติกรรมที่มักจะเกิดขึ้นกับเรา หรือจะเรียกสิ่งนี้ว่า "สัญชาตญาน" เลยก็ได้ เพราะหลายครั้งเราอาจจะอยากขึ้นไปสูงเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงทรัพย์สินเงินทองอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการเป็นจุดสนใจ ความสำคัญ การได้รับการยอมรับด้วย
หลายคนที่เดินขึ้นในขั้นที่สูงย่อมไม่อยากลงมาเป็นธรรมดา และสิ่งที่ทำให้เราอยากจะขึ้นไปอย่างรวดเร็วก็คือคนรอบ ๆ ตัว หรือคนที่เราให้ความสนใจ ไม่ว่าเราจะรู้จักเขาโดยตรง หรือเป็นคนที่เราไม่รู้จักแต่พบเห็นทางเครือข่ายสังคมต่าง ๆ เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเราทุกคนต่างเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นโดยเจตนา และไม่เจตนา (อัตโนมัติ)
ป้ญหาก็คือหลายคนมักจะไม่ยอมรับกับสิ่งนี้ เพราะเราทุกคนอยากจะมองตัวเองในทางที่ดี อยากจะเป็นคนที่แข่งขันกับตัวเอง ไม่แข่งขันกับคนอื่น มันดูไม่คลู ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกการป้องกันตัวเองที่พยายามจะหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่ดีที่มีต่อตนเอง ยิ่งเรารู้สึกต่ำต้อยกว่า เราก็บิ่งอยากจะพยายามไต่ขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมดา
แต่มันก็ยิ่งทำให้เราตกอยู่ในวังวนของการไต่ขึ้นบันไดไปเรื่อย ๆ ยิ่งเราขึ้นไปเร็วมากแค่ไหนเราก็รู้สึกว่าความสุขที่เราพบเจอมันเพียงแค่สั้นประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น
เราใช้วิธีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นรอบตัวเพื่อกำหนดสถานะทางสังคมให้กับตัวเอง เป็นกลไกเพื่อวิเคราะห์ว่าเรามีรายได้มากพอหรือไม่ หรืออยู่ในสถานะใดกันแน่ ในหนังสือ Luxury Fever ผู้เขียน โรเบิร์ต แฟรงค์ (Robert Frank) ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมเมื่อประเทศหนึ่งที่มั่งคั่งขึ้นประชากรของประเทศนั้นถึงไม่ได้มีความสุขมากขึ้น เขาพิจารณาความเป็นไปได้ว่า เมื่อความต้องการขั้นพื้นฐานบรรลุแล้ว เงินก็ไม่อาจซื้อความสุขเพิ่มเติมได้อีก
แต่หลังจากที่เขาได้ทำการศึกษาลงไปลึกขึ้นเรื่อย ๆ แฟรงก์ก็พบเจอว่าการบรรลุความต้องการพื้นฐานแล้วไม่ได้เป็นสาเหตุของการที่มีความสุขน้อยลงเพียงอย่างเดียว แต่มันมีพฤติกรรมบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น ทำไมคนเราถึงทุ่มเทเงินทองซื้อของฟุ่มเฟือยกับสินค้าอื่น ๆ และปรับตัวเข้ากับของพวกนั้นจนสมบูรณ์ แทนที่จะซื้อของที่ทำให้ตัวเองมีความสุข และสุขภาพดีกว่าถ้าทำงานให้น้อยลง ใช้จ่ายเวลาไปกับครอบครัวและเพื่อน
แฟรงก์เรียกสิ่งนี้ว่า "การบริโภคเพื่อโอ่อวด" ซึ่งหมายถึงการซื้อสิ่งของที่คนอื่นเห็นได้ง่ายและถือเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของคนคนนั้น สินค้าเหล่านี้เป็นเหมือนการต่อสู้แข่งขัน คุณค่าของมันไม่ได้มาจากเป้าหมายในการใช้งานมากเท่ากับการประกาศสถานภาพผู้เป็นเจ้าของ
ถ้าทุกคนใส่แหวน คนแรกในที่ทำงานที่ใส่แหวนทองวงเล็กก็จะโดดเด่นขึ้นมา ต่อมาถ้าทุกคนขยับมาใส่แหวนทองวงเล็กจนเป็นเรื่องธรรมดาไปหมด ก็ต้องซื้อแหวนทองวงใหญ่ขึ้นไปเพื่อที่จะโดดเด่นขึ้นมาและพึงพอใจมากขึ้น
สรุปก็คือแหวนทองวงเล็ก ๆ ก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้ต่อไป
เราเปรียบเทียบกับคนทุกกลุ่มในทุกโอกาส เพื่อกำหนดสถานะของตัวเอง และใช้ค่านิยมต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมเป็นเครื่องมือ แก้ว แหวน เงิน ทอง บ้าน รถ และอื่น ๆ อีกมากมายราวกับดวงดาวบนฟากฟ้า แต่นี้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างที่ผมกล่าวไปก็คือ เราจะพยายามไต่บันไดไปขั้นที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงทำให้สิ่งที่สร้างความสุขให้กับเราในครั้งหนึ่ง จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
เราจะรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ด้านบนของบันได และไม่ใช่เพียงแค่วัตถุสิ่งของเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคุณลักษณะที่สังคมให้การยอมรับ จำพวก เกรดเฉลี่ย ตัวเลขเงินในธนาคาร จำนวนหุ้นคริปโตฯที่ถือคลอง การมีครอบครัวที่ดี การเป็นแม่ เป็นพ่อที่ดี การเป็นเพื่อนที่ดี หรือการเป็นพลเมืองที่ดี เราจะพยายามไต่บันไดคุณลักษณะเพื่อให้ตนเองเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับมากขึ้น "การเป็นแม่ที่ดีธรรมดาไม่พอ แต่ฉันต้องเป็นแม่ที่ดีกว่าคนอื่น ๆ" เราทำมันโดยไม่รู้ตัว
สิ่งที่น่าเศร้าก็คือ เราเข้าใจมันผิดทั้งหมด การเป็นคนที่ดี คือการทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ใช่การยัดเยียดเจตนาลวงโลกต่าง ๆ ที่เราคิดว่าดีให้กับตัวเองและผู้อื่น ทรัพย์สินเงินทองก็เช่นเดียวกัน การมีวัตถุสิ่งของมีค่ามากขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทำให้เรามีความสุข แต่มันยิ่งทำให้เราติดกับดักวังวนที่ไม่มีจุดสิ้นสุด
ตัวผมเองที่เขียนบทความนี้ ไม่ใช่คนที่รู้ดี แต่ก็เป็นหนึ่งในคนที่กำลังต่อสู้กับความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณดังกล่าวอยู่ทุกเมื่อชั่ววัน ผมต้องใช้สติเพื่อที่จะหยุดตัวเองไม่ให้ไต่บันไดขึ้นไปอย่างรวดเร็ว หยุดตัวเองจากการตำหนิติเตียนต่อการไม่มีเท่ากับคนอื่น ต่อรูปร่างหน้าตาที่ไม่ดีเท่าคนอื่น รวมไปถึงกับความฉลาดที่ไม่มีเท่าคนอื่น
จุดสำคัญก็คือเราจะต้องยอมรับต่อสิ่งที่ตัวเองเป็น สัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ การเปรียบเทียบอันไม่มีจุดสิ้นสุด บันไดที่ปราศจากชั้นสูงสุดและเพดาน เพื่อที่เราจะได้ใช้สติหยุดตัวเอง และมองดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ความเป็นไปและสัจธรรมที่ไม่มีการหยุดนิ่ง สิ่งต่าง ๆ ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง และเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา มิตรภาพ ความใส่ใจ การช่วยเหลือ และการให้อภัย เราจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นได้บ้าง
แม้ว่าเราจะประสบอยู่กับความทุกข์มากแค่ไหนก็ตาม เพราะในความจริงแล้วความทุกข์และความสุขคือเนื้อก่อนเดียวกันที่อยู่กันคนละด้านเท่านั้นเอง
อ้างอิง
Frank, R. (1999). Luxury Fever: Why Money Fails to Satisfy In An Era of Excess. DC: Free Press.
Payne, K. (2017). The Broken Ladder: How Inequality Affects the Way We Think, Live, and Die. NY: Viking.
คาลอส บุญสุภา. (2565). เราทุกคนต่างโหยหา สถานะทางสังคม แทบทั้งสิ้น (Social Status). https://sircr.blogspot.com/2022/07/social-status.html
โฆษณา