15 เม.ย. เวลา 16:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

งานในอนาคต (Future of Work) : ทักษะอะไรที่จำเป็นต้องมีในอนาคต

ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะอ่านเว็บไซต์หรืองานวิชาการอะไรก็ตาม มักจะพบเสมอว่าโลกทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการทำงาน เทรนด์การใช้ชีวิต ผลที่ตามมาก็คือปัญหาสุขภาพจิตและความทุกข์จากการต้องดิ้นรนปรับตัว ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีที่เข้ามาแย่งตำแหน่งงานโดยตรง หรือส่งผลกระทบให้บริษัทต่าง ๆ สามารถลดคนเพราะมีเทคโนโลยีมาช่วยทุ้นแรง
การจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงให้ทันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง หากเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่เราก็จะต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ หรือรู้จักเทคโนโลยีเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนกับนักเดินทางที่จะต้องรู้จักเส้นทางให้ดีเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ผมในฐานะที่เป็นครูจึงอยากจะเขียนบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพจิต อาชีพ การทำงาน ชีวิต ซึ่งในบทความนี้ผมอยากนำเสนอทักษะบางอย่างที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เนื้อหาทักษะที่ผมนำเสนอเป็นทักษะที่ผ่านการศึกษาของ World Economic Forum ในปี 2023 ออกมาเป็นรายงานชื่อ "Future of Jobs 2023" ซึ่งเป็นทักษะที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทักษะทั้งหมดที่ผมหยิบยกขึ้นมาสอดคล้องกับงานวิจัยมากมายที่นำเสนอว่าการจะอยู่รอดและเติบโตในปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนทักษะ Soft Skills ซึ่งคือทักษะทางความคิดและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และนอกเหนือจาก Soft Skills แล้วยังมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันอีกด้วย โดยผมขอนำเสนอทั้งหมด 10 ทักษะสั้น ๆ ดังนี้
1) ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) คือกระบวนการคิดในรูปแบบใหม่ ๆ การสร้างนวัตกรรม ความสามารถในการรับรู้ความคิดใหม่ ๆ โดยแยกออกจากความคิดทฤษฎี กฎและขั้นตอนการทำงานพื้นฐานทั่ว ๆ ไป ทักษะนี้เกี่ยวข้องกับการวางสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบใหม่โดยใช้จินตนาการ หรือที่เราเรียกกันว่าการคิดนอกกรอบ
2) ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) คือกระบวนการคิดในรายละเอียดเพื่อแยกแยะส่วนต่าง ๆ ออกเป็นองค์ประกอบหรือส่วนย่อย ๆ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ความเชื่อมโยง หรือความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่าการคิดวิเคราะห์เป็นการคิดในเชิงตรรกะทีละขั้นตอนเพื่อแบ่งระบบข้อมูลขนาดใหญ่ออกเป็นส่วน ๆ เพื่อมาวิเคราะห์หาสาเหตุ หรือเป้าหมายที่ต้องการ
3) ทักษะความรู้ทางเทคโนโลยี (Technological Literacy) คือการมีความรู้หรือความชำนาญในเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมทักษะคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานสู่ทักษะที่ซับซ้อนมากขึ้น อาจจะไม่ได้หมายถึงความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีแต่เป็นในมุมที่กว้าง โดยเฉพาะการตระหนักรู้เกี่ยวกับด้านลบหรือผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
4) ทักษะความขี้สงสัย และใฝ่เรียนรู้ (Curiosity and Lifelong Learning) คือทักษะการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลาจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวพัฒนาและพอกพูนความรู้ใหม่ ๆ ใส่ตัวอยู่เสมอ เรียนรู้ที่จะเข้าใจการสื่อสาร เรียนรู้ที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยที่เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ซึ่งในยุคนี้การมีความรู้เฉพาะในเรื่องที่ถนัดเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องสร้างองค์ความรู้ที่กว้างเพื่อเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ เข้าหากันผ่านความขี้สงสัยและใฝ่เรียนรู้
5) ทักษะความยืดหยุ่น และความคล่องตัว (Resilience, Flexibility and Agility) คือความสามารถที่จะทำงานอย่างคล่องตัว รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เพราะการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นความท้าทายของทุกคนในปัจจุบัน ที่จะต้องเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ หรือการใช้เทคโนโลยี
ดังนั้น เราควรมีความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อที่จะสามารถพลิกแพลงไอเดีย มุมมองที่แตกต่าง และลักษณะการทำงานให้เหมาะสมกับสิ่งรอบตัว ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้น ๆ ได้อย่างมีคุณภาพ
6) ทักษะการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) คือการคิดในภาพรวมที่เป็นระบบ และมีส่วนประกอบที่สัมพันธ์เชื่อมโยงจากส่วนย่อยไปหาส่วนใหญ่ เป็นการคิดอย่างมีเหตุมีผล เน้นการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดเพื่อให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วเป็นรูปแบบองค์รวม การคิดเชิงระบบแตกต่างจากการคิดวิเคราะห์ที่กระจายความรู้ออกเป็นย่อย ๆ แต่การคิดเชิงระบบจะเอาความรู้ที่กระจาย ๆ อยู่หลอมรวมเป็นภาพใหญ่
โดยส่วนตัวผมมองว่าการคิดเชิงระบบสำคัญอย่างมาก เพราะทุกวันนี้ข้อมูลหรือความรู้มากมายกระจัดกระจายและแย่งชิงกันเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้คน การมองเห็นสิ่งที่กระจัดกระจายเหล่านี้และนำมาหลอมรวมเป็นก้อนเพื่อให้ตัวเราและผู้อื่นเห็นภาพชัดเจน จะสามารถสร้างความได้เปรียบทั้งในเรื่องของการดำเนินชีวิตและประสบความสำเร็จในการทำงาน
7) ทักษะความรู้ด้าน AI และ Big Data (AI and Big Data) คือการมีความเชี่ยวชาญในด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI และการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสามารถต่อสู้และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในโลกแห่งการแข่งขัน
ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวดเร็ว การทำนายแนวโน้ม การปรับปรุงกระบวนการธุรกิจแบบอัตโนมัติ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ไปจนถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการของลูกค้าและอื่น ๆ อีกมากมาย
8) ทักษะการสร้างแรงจูงใจ และเข้าใจตัวเอง (Motivation and Self-awareness) คือความสามารถที่จะรับรู้และเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเอง ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น อันเนื่องมาจากความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการเหล่านั้นของเราเอง รวมไปถึงจุดแข็ง และจุดที่ควรพัฒนา ซึ่งหากเข้าใจตนเองมากเท่าไหร่ก็จะรู้วิธีการสร้างแรงจูงใจหรือกระตุ้นตัวเองให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้มากขึ้นเท่านั้น
9) ทักษะการบริหารจัดการคนเก่ง (Talent Management) คือการบริหารบุคคลที่สามารถพัฒนาให้บุคลากรมีความสามารถมากยิ่งขึ้น (เก่งขึ้น) หรือส่งเสริมคนที่มีความรู้ความสามารถให้มาเป็นผู้นำเพื่อที่จะพัฒนาเพื่อนร่วมงานให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้นได้เหมือนกับตนเอง เนื่องจากในปัจจุบันและอนาคตงานจะมีความซับซ้อนมากขึ้นจำเป็นจะต้องอาศัยความสามารถของคนหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันมาทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น
10) ทักษะการบริการ และเอาใจใส่ลูกค้า (Service Orientation and Customer Service) คือทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์กับลูกค้า การโต้ตอบกับลูกค้าที่ไม่ใช่แค่เจอหน้ากัน แต่อาจจะผ่านทางโทรศัพท์ อีเมลหรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ สิ่งสำคัญในการบริการลูกค้าคือพนักงานต้องสามารถเชื่อมโยงบทสนทนาให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังโต้ตอบกับคนที่ห่วงใยและใส่ใจปัญหาของพวกเขาอย่างแท้จริง
จริง ๆ แล้วยังมีทักษะอื่น ๆ อีกมากมายที่เราสามารถเรียนรู้ได้ในบทความ เพียงแต่จากการศึกษาทักษะเหล่านี้เป็นอันดับต้น ๆ ที่องค์กรจำนวนมากต้องการ และที่สำคัญก็คือเราสามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนพัฒนาตนเอง หรือบุคลากรทางด้านการศึกษาสามารถใช้เพื่อวางแผนการแนะแนวทางด้านอาชีพ (Vocational Guidance) อย่างเหมาะสมได้
ทักษะส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องใช้เวลาเพื่อฝึกฝน และไม่มีบทเรียนเฉพาะตัว ยกตัวอย่าง ทักษะการสร้างแรงจูงใจ และเข้าใจตัวเอง ไม่มีเทคนิคหรือวิธีการที่ชัดเจนในการฝึกฝน แต่จำเป็นจะต้องสำรวจตนเอง สังเกตตนเอง สังเกตการตอบสนองของผู้อื่น การลองผิดลองถูกอีกมากมายเพื่อจะพัฒนาทักษะดังกล่าวขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับทักษะความขี้สงสัย ความคิดวิเคราะห์ เชิงระบบ สร้างสรรค์ หรือความยืดหยุ่นก็เช่นเดียวกัน
ดังนั้นหากมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่แรก ๆ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง หาแนวทางในการฝึกฝน วางแผนเพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าว โดยไม่จำเป็นจะต้องพัฒนาทุกทักษะในบทความ เพียงแต่ฝึกฝนทักษะที่เราถนัดและเหมาะสมกับเรา ยกตัวอย่างเช่น ผมมีอาชีพเป็นครู การพัฒนาทักษะการสร้างแรงจูงใจ และเข้าใจตัวเอง การคิดรูปแบบต่าง ๆ จึงสำคัญมากกว่าทักษะการบริการและทักษะความรู้ทางเทคโนโลยี
จุดสำคัญคือการรู้ว่าตัวเองถนัดอะไรและกำลังจะเดินไปในเส้นทางไหน เพื่อที่เราจะหาอุปกรณ์สำหรับช่วยในการเดินทางซึ่งก็คือทักษะต่าง ๆ นั้นเอง
อ้างอิง
World Economic Forum. (2023). Future of Jobs Report 2023. https://www.weforum.org/publications/the-future-of-jobs-report-2023/
โฆษณา