17 เม.ย. เวลา 07:30 • ไอที & แก็ดเจ็ต

รวมคดีหลอกลวงออนไลน์ ก่อนสงกรานต์ 2567 พบหลอกให้ซื้อตุ๊กตา "ลาบูบู้"

กระทรวงดีอี เผยคดีหลอกลวงออนไลน์ ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนสงกรานต์ 2567 พบ หลอกให้รัก-หลอกให้ซื้อตุ๊กตา "ลาบูบู้" และอื่น ๆ รวมสูญเงินกว่า 3.5 แสน!
16 เม.ย. 67 นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ทางศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441 ได้มีรายงานเคสตัวอย่าง ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์
ซึ่งมีทั้งการหลอกให้รัก ให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล ไปจนถึงหลอกให้ซื้อตุ๊กตาลาบูบู้ (Labubu) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รวมคดีหลอกลวงออนไลน์ ก่อนสงกรานต์ 2567 พบหลอกให้ซื้อตุ๊กตา "ลาบูบู้"
คดีที่ 1
หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 188,000 บาท โดยรายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทช้อปปิ้งออนไลน์แห่งหนึ่ง แจ้งว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลฟรีสามารถเลือกสินค้าได้เลย
จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ แล้วเชิญเข้ากลุ่ม เพื่อร่วมทำกิจกรรมตามที่บริษัทกำหนด อ้างว่าเป็นกิจกรรมการกุศลจะได้รับเงินคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินไปหลายครั้ง ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง แต่ภายหลังไม่ได้รับผลตอบแทน
คดีที่ 2
คล้ายกับคดีแรก มูลค่าความเสียหาย 103,000 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทช้อปปิ้งออนไลน์แห่งหนึ่ง แจ้งว่าเป็นผู้โชคดีจากการรีวิวสินค้า จะได้รับรางวัลและสิทธิประโยชน์ จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียม และร่วมทำกิจกรรมตามที่บริษัทกำหนด
อ้างว่า เป็นกิจกรรมการกุศล และจะได้รับผลตอบแทนคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินไปหลายครั้ง ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง แต่ภายหลังไม่ได้รับ
คดีที่ 3
หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน ผู้เสียหายได้รู้จักพูดคุยสนิทใจกับมิจฉาชีพ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก อ้างว่าเป็นนายแพทย์ สาขากระดูก รักษาทหารอยู่ในประเทศอิสราเอล ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย ให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าตั๋วเดินทางให้ก่อน เมื่อกลับถึงเมืองไทยจะโอนเงินกลับคืน ผู้เสียหายเกิดความสงสารจึงโอนเงินไป จำนวน 50,000 บาท ภายหลังไม่สามารถติดต่อได้อีก
คดีที่ 4
หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ โดยผู้เสียหายผู้เสียหายได้สั่งซื้อสินค้า “ตุ๊กตาลาบูบู้” (Labubu) กำลังเป็นที่นิยมผ่านช่องทาง X โดยโอนเงินชำระเต็มจำนวนมูลค่า 9,996 บาท ภายหลังการโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้อีกและไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงไว้
ตุ๊กตา ลาบูบู้ (Labubu)
คดีที่ 5
ผู้เสียหายพบโฆษณาที่พักผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก เพจ “Bangsaen Cabana” ผู้เสียหายสนใจจึงได้ติดต่อพูดคุยและจองห้องพัก ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน โดยโอนเงินชำระเต็มราคามูลค่า 5,580 บาท หลังจากนั้นทางเพจติดต่อกลับผู้เสียหาย อ้างว่า มีค่าประกันห้องพักที่ต้องชำระเพิ่ม แต่ผู้เสียหายไม่ได้โอนเงินค่าประกันดังกล่าวไป
ซึ่งผู้เสียหายทั้ง 5 เคส เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก จึงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ AOC 1441 โดยมีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 เคส รวม 356,576 บาท
นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ดีอี ยังคงพบว่า มีการหลอกลวงประชาชนจากมิจฉาชีพอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวังการหลอกลวงดังกล่าว ที่มีในหลากหลายรูปแบบ โดยไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย งดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย และอย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ลงทุนแล้วเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง
ทั้งนี้ ขอให้อย่าไว้ใจ และตระหนักอยู่เสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพได้ รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย
หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี ได้ที่สายด่วน AOC 1441
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา