19 เม.ย. เวลา 06:44 • ท่องเที่ยว

โปรดเกศเชษฐาราม วัดไทยชื่อไพเราะแห่งย่านมอญพระประแดง

เมื่อราวสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ได้มีการพัฒนาและแต่งตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ หรือ “พระประแดง” ให้กลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญตลอดจนมีการปลูกสร้างและทำนุบำรุงสิ่งต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นป้อมหรือวัดก็ตาม
ซึ่งในเมืองที่เป็นอดีตชุมชนชาวรามัญดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ก็ได้เกิดวัดใหม่ ๆ หลายแห่งในช่วงรัชกาลที่ 2 ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวัดไทยแห่งเดียวท่ามกลางหว่างล้อมของวัดมอญอย่าง “วัดโปรดเกศเชษฐาราม”
วัดไทยนามไพเราะนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุลเกตุทัด ซึ่งใช้เวลาสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จวบจนรัชกาลที่ 3 เดิมมีชื่อเรียกว่าวัดปากคลอง ก่อนที่จะมีการบูรณะใหม่ในรุ่นลูกของพระนาเพชรพิไชย (เกตุ) และบูรณะอีกครั้งในปี 2542
ความน่าสนใจของวัดโปรดเกศฯ นอกจากจะเป็นวัดไทยแห่งเดียวกลางชุมชนมอญแล้ว ยังมีลักษณะวัดที่โดดเด่น พระอุโบสถของวัดนี้ไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ซึ่งเป็นเครื่องลำยองไทย คล้ายกับงานพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าบันเป็นปูนปั้นเครือเถาประดับเครื่องลายคราม
ส่วนพระประธานนั้นเป็นพระใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9 ภายในมีจิตรกรรมของจิตรกรชื่อดังอย่างขรัวอินโข่งแขวนอยู่หลายชิ้น ซึ่งนอกเหนือจากภาพของขรัวอินโข่งแล้วยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือมีภาพจิตรกรรมยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ถูกซ่อนอยู่ในช่องบนผนังและปกปิดเอาไว้มานานนับร้อยปีก่อนที่จะถูกค้นพบในการบูรณะเมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นภาพพระพุทธสาวิกาหรือภิกษุณี โดยหนึ่งในนั้นมีงานปูนปั้นนูนต่ำรูปพระสาวกด้วย โดยมีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่าถูกฉาบปูนปิดไว้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
วัดโปรดเกศเชษฐารามนับว่าป็นอีกหนึ่งวัดอันซีนในพระประแดงที่ผู้คนภายนอกอาจจะไม่ค่อยเดินทางมาสักเท่าไหร่ อันที่จริงแล้ววัดนี้ยังคงมีอะไรให้เที่ยวดูชมอีกมากมาย สำหรับใครที่อยากเดินทางมาชมก็สามารถมาได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.30 น.
โฆษณา