19 เม.ย. เวลา 11:55 • ข่าวรอบโลก

แรงงานหญิงในอินเดีย ตัดมดลูกทิ้ง เพราะไม่อยากเสียวันทำงาน

ผู้คนใน ‘บีด’ (Beed) เมืองเล็กๆ ของมหาราษฏระ รัฐทางตะวันตกของประเทศอินเดีย กำลังเผชิญพบกับความสูญเสียและเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
เมื่อมรสุมลมฝนไม่มาตามนัด สภาพอากาศคงเหลือไว้แต่ความร้อนและแล้งจนเพาะปลูกอะไรไม่ได้
ใครหลายๆ คนจึงผันตัวไปทำงานรับจ้างในไร่อ้อย แลกเงินรายวัน
และเป็นที่น่าตกใจว่าหญิงสาวหลายคนในไร่อ้อยตัดสินใจไปผ่าตัดเอามดลูกออก เพื่อจะได้ไม่มีประจำเดือน และป้องกันการตั้งครรภ์
โดยให้เหตุผลว่า ประจำเดือน และการตั้งครรภ์ ทำให้วันทำงานลดลง ซึ่งหมายถึงรายได้ที่หายไป
ตามรายงานของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (IIED) มีหญิงสาวมากกว่าครึ่งของของเมืองบีดที่ทำงานในไร่อ้อยตัดสินใจไปผ่าตัดเอามดลูกออก
และระบุว่า “การผ่าตัดมดลูกเป็นสัญญาณของความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เลวร้ายลงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”
ตอกย้ำให้เห็นถึงประเด็นความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังขยายใหญ่โตและยากจะประเมินได้
ตามข้อมูลของ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำมาซึ่งความสูญเสียและความเสียหายต่อ 3 ด้านหลัก
ประกอบด้วย ด้านสุขภาพ ด้านการผลิต และด้านผลิตภาพแรงงาน
ในกรณีของคนในบีดเจอ เรียกได้ว่าต้องเผชิญครบทั้ง 3 ด้านเลยทีเดียว
โดยย้อนหลังปี 2011 กลับไป 30 ปี เมืองบีดจะเผชิญกับภัยแล้งในทุก 5 ปี แต่ในช่วง 10 ปีผ่านมา พบภัยแล้งในทุกๆ 2 - 3 ปี
นอกจากสภาพปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศแล้ว ในรายงานของ IIED ยังระบุด้วยว่า ปัญหาหนี้สิน และการขาดความตระหนักเกี่ยวกับโครงการสวัสดิการ ทำให้ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจอพยพไปทำงานเป็นลูกจ้างกันมากขึ้น
ผู้รับเหมาในโรงงานน้ำตาลมักชอบจ้างคู่รักมาทำงาน โดยสามีเป็นคนตัดอ้อย และภรรยาดูแลทำความสะอาดและขนของ
ลูกจ้างจะมีรายได้ประมาณ 250 รูปีอินเดีย (ประมาณ 110 บาท) สำหรับอ้อยแต่ละตันที่พวกเขาบรรทุก และส่วนมากจะทำงานระหว่าง 12 - 16 ชั่วโมงต่อวัน
การวิจัยพบว่า เนื่องจากความกลัวว่ารายได้จะน้อยลง และไม่มีห้องน้ำให้บริการ ผู้หญิงจำนวนมากจึงไปรับการผ่าตัดมดลูกที่คลินิกเอกชน โดยละเลยถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
ที่ผ่านมาพบว่า ผู้หญิงที่ผ่าตัดเอามดลูกออกจะมีอาการปวดหลังและข้อ โรคกระดูกพรุน ความรู้สึกไม่สบายในอุ้งเชิงกราน และปัญหาสุขภาพจิตตามมา
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่นได้ออกกฎห้ามไม่ให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนผ่าตัดมดลูกโดยไม่จำเป็น และเน้นย้ำว่าควรปฏิบัติตามขั้นตอน
แต่ข้อห้ามที่ประกาศกันเฉพาะท้องถิ่น ทำให้ผู้หญิงบางคนเดินทางไปผ่าตัดในเขตที่อยู่ข้างเคียงแทน
ปัจจุบัน หญิงสาวตามชนบทของอินเดีย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยสามในสี่ของผู้หญิงในชนบทของอินเดียต้องพึ่งพาเกษตรกรรมเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถูกยอมรับว่าเป็นเกษตรกรหรือเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งหมายความว่าพวกเธอต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินเชื่อหรือเข้าถึงเงินอุดหนุนและโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาล
ตรงกันข้ามกับผู้ชายเมื่อไม่อาจทำไร่เพาะปลูกได้ ก็ยังย้ายไปอยู่ในเมืองต่างๆ เพื่อหางานใหม่เลี้ยงดูครอบครัวได้
แต่ผู้หญิงมักถูกจำกัดด้วยความรับผิดชอบในครัวเรือน
และเมื่อสภาพอากาศไม่แน่นอนเหมือนเก่า จึงทำให้ผู้หญิงต้องรับมือกับผลกระทบเพียงลำพัง
นั่นจึงเป็นเหตุให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือความล้มเหลวของนโยบายของรัฐบาล
ในอินเดีย ภาคเกษตรกรรมคิดเป็นเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ ของเศรษฐกิจอินเดีย มีมูลค่าเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์ เลี้ยงดูประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ
แม้เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยจากรัฐสำหรับการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร แต่ยังพบว่ามีผู้ตกหล่น ไม่ได้รับการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก
ตามรายงานของ มูลนิธิ Thomson Reuters อ้างว่า เมื่อคนเป็นแม่ไม่มีรายได้ จึงต้องให้ลูกออกจากโรงเรียน ซ้ำยังต้องแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กเพื่อรับสินสอดมาใช้จ่าย
อ้างอิง
In rural India, climate migrants 'have hysterectomies to survive' https://shorturl.asia/HJZUv
India's women farm workers suffer job losses from climate shocks https://shorturl.asia/Tasdm
ความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: โลกพร้อมแค่ไหนในการรับมือ และเพียงพอหรือไม่? https://shorturl.asia/gQX3x
โฆษณา