20 เม.ย. เวลา 09:26 • ธุรกิจ

สรุป 7 คำศัพท์ เบสิกธุรกิจ อยากทำธุรกิจของตัวเอง ต้องเข้าใจ

1. ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) = ต้นทุนที่ไม่ว่าเราจะขายสินค้าได้มาก ได้น้อย หรือไม่ได้เลย ก็ต้องจ่ายเท่าเดิม
1
เช่น ถ้าเราเปิดร้านกาแฟในซอยทองหล่อ เช่าที่เดือนละ 20,000 บาท ไม่ว่าจะขายกาแฟได้เดือนละ 100,000 บาท หรือ 10,000 บาท ก็เสียค่าเช่าที่ 20,000 บาท เท่าเดิม
เพราะฉะนั้น ค่าเช่าที่ ก็คือ Fixed Cost
2. ต้นทุนแปรผัน (Variable Cost) = ต้นทุนที่แปรผันไปตามปริมาณการขาย
เช่น เปิดร้านกาแฟ ต้นทุนแปรผัน คือ ค่าเมล็ดกาแฟ และค่าวัตถุดิบอื่น ๆ
สมมติต้นทุนผันแปร แก้วละ 20 บาท ขายได้ 100 แก้ว
ต้นทุนผันแปรรวม ก็เท่ากับ 2,000 บาท
3. การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) = สเกลการผลิตที่ ยิ่งผลิตมากขึ้น ยิ่งทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง
เช่น สมมติว่าเปิดร้านกาแฟ ที่มีต้นทุนคงที่ 20,000 บาท ต้นทุนแปรผันแก้วละ 20 บาท
วิธีคิด ต้นทุนเฉลี่ยต่อแก้ว = [(จำนวนแก้วที่ขายได้ x ต้นทุนแปรผันต่อแก้ว) + ต้นทุนคงที่ 20,000 บาท] และเอาทั้งหมดนี้ หารด้วย จำนวนแก้วที่ขายได้
-ถ้าทำขายได้เดือนละ 1,000 แก้ว ต้นทุนเฉลี่ยต่อแก้ว จะเท่ากับ 40 บาท
-ถ้าทำขายได้เดือนละ 2,000 แก้ว ต้นทุนเฉลี่ยต่อแก้ว จะเท่ากับ 30 บาท
-ถ้าทำขายได้เดือนละ 3,000 แก้ว ต้นทุนเฉลี่ยต่อแก้ว จะเท่ากับ 27 บาท
จะเห็นว่า ยิ่งขายกาแฟได้เยอะแก้ว ต้นทุนต่อแก้วยิ่งลดลง นี่คือการเกิด Economies of Scale
4. จุดคุ้มทุน (Break Even Point) = จุดที่ต้องขายสินค้าให้ได้กี่หน่วย ถึงจะเท่าต้นทุนที่เสียไปพอดี
สูตรคิดคือ
จำนวนสินค้าที่ขาย = ต้นทุนคงที่รวม / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนแปรผัน ต่อหน่วย)
4
เช่น เปิดร้านกาแฟ ที่มีต้นทุนคงที่ต่อเดือน 30,000 บาท และต้นทุนแปรผันเฉลี่ยแก้วละ 20 บาท สมมติขายกาแฟแก้วละ 50 บาท ต้องขายได้เดือนละ 1,000 แก้ว จะคุ้มทุนพอดี
5. ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) = ระยะเวลาที่ใช้ในการทำธุรกิจ จนมีกำไรสะสม เท่ากับเงินลงทุนทั้งหมดที่เสียไป
เช่น เงินลงทุนทั้งหมด 1,000,000 บาท ถ้าคาดการณ์ว่าธุรกิจนี้จะผลิตกำไรเฉลี่ยปีละ 100,000 บาท
ระยะเวลาคืนทุน จะเท่ากับ 10 ปี
6. อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) = อัตราส่วนที่เทียบ กำไรสุทธิ กับ รายได้รวม
แสดงให้เห็นว่า รายได้ทุก ๆ 100 บาท เป็นกำไร กี่บาท
เช่น CP All เจ้าของ 7-Eleven มีรายได้รวม 920,841 ล้านบาท กำไรสุทธิ 18,482 ล้านบาท
หมายความว่า อัตรากำไรสุทธิของ CP All คือ 2%
รายได้ทุก ๆ 100 บาท ของ CP All เป็นกำไรสุทธิ 2 บาท
9
7. ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) = มูลค่าที่เราเสียไป จากการไม่เลือกทำตัวเลือกนั้น
ตัวอย่างเช่น
เรามี 2 แผนธุรกิจที่ต้องเลือกซึ่งใช้เงินลงทุน 1 ล้านบาท เท่ากัน
-แผนที่หนึ่ง: ใช้เงิน 1 ล้านบาท เปิดร้านกาแฟในซอยทองหล่อ คาดว่าจะได้ทำกำไรได้เดือนละ 20,000 บาท
-แผนที่สอง: ใช้เงิน 1 ล้านบาท เปิดร้านไก่ทอดในซอยทองหล่อ คาดว่าจะได้ทำกำไรได้เดือนละ 15,000 บาท
สรุปแล้วเราเลือกเปิดร้านกาแฟ
เคสนี้ Opportunity Cost ของเรา คือการเสียโอกาสเปิดร้านไก่ทอด และเสียโอกาสในการสร้างกำไรเดือนละ 15,000 บาท จากการทำร้านไก่ทอด
1
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว Opportunity Cost ที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง
และเราก็ได้เลือกอีกทางเลือกที่เราคิดว่าดีกว่า และใช้ทุนเท่ากัน คือเปิดร้านกาแฟ ที่จะได้กำไรเดือนละ 20,000 บาท
1
เพราะฉะนั้น วิธีปรับใช้คอนเซปต์ของ Opportunity Cost ในมุมธุรกิจ ก็อย่างเช่น
ถ้าเรามีเงินทุนอยู่หนึ่งก้อน ให้ลองลิสต์ทางเลือกธุรกิจของเราออกมา แล้วลองวิเคราะห์ประมาณการรายได้ วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน แล้วเอาแต่ละทางเลือก มาเปรียบเทียบกัน
เพื่อให้เราไม่เสียโอกาสที่จะเลือกทำ ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ ภายในงบประมาณหรือทรัพยากร ที่เรามีอยู่อย่างจำกัด..
1
โฆษณา