21 เม.ย. เวลา 04:09 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

กรรมกรเอเชียที่ถูกลืม เมื่อทางรถไฟสายมรณะไม่ได้มีแค่เรื่องราวของเชลยศึกสัมพันธมิตรที่มาร่วมสร้าง

ในการรับรู้เรื่องราวทางรถไฟสายมรณะของประชาชนทั่วไปนั้น เราจะมองเห็นแค่ภาพของเชลยศึกชาวตะวันตกที่ผอมเหลือแต่กระดูก ทำงานอย่างหนัก ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากผู้คุมเกาหลีและทหารญี่ปุ่น
และหลายคนคิดว่าทางรถไฟนั้นแล้วเสร็จได้เพราะหยาดเหงือแรงกายและชีวิตเชลยศึกตะวันตกเท่านั้น
แต่ที่จริงแล้วยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นแรงงานหลักในการก่อสร้าง นั่นคือกรรมกรเอเชีย ซึ่งพวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้ายกว่ามากครับ
กรรมกรเอเชีย
แรงงานชาวทมิฬ (จำนวนมากที่สุด)
แรงงานชาวพม่า
แรงงานชาวมลายู
แรงงานชาวชวา
แรงงานชาวไทย
แรงงานชาวเวียดนาม
แรงงานชาวจีน
แรงงานชาวกัมพูชา
แรงงานชาวลาว
(อ้างอิงจากการศึกษาของ อ.วรวุธ สุวรรณฤทธิ์)
แรงงานเอเชียจำนวนกว่า 230,000-250,000 คน(ข้อมูลบางแหล่งมีมากถึง 300,000 คน) เป็นแรงงานในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ
ในส่วนของเชลยศึกตะวันตกมีประมาณ 60,000 คน
หากเทียบอัตราส่วนแล้วเชลยศึกมีจำนวนน้อยกว่ากรรมกรเอเชียถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
กรรมกรเอเชียระหว่างการสร้างสะพาน โดยมีทหารญี่ปุ่นคอยควบคุมงาน
จำนวนผู้เสียชีวิตของกรรมกรเอเชียอยู่ที่ประมาณ 90,000-100,000 คน หรือ 40% ของกรรมกรเอเชียทั้งหมด พูดภาษาชาวบ้านคือ ใน100 คนจะมีประมาณ 40 คนที่เสียชีวิต
หันกลับมาดูฝ่ายเชลยศึกกันบ้าง จำนวนผู้เสียชีวิตมีประมาณ 13,000 คน หรือ 21% ของเชลยศึกทั้งหมด พูดภาษาชาวบ้านคือใน 100 คนมีเชลยศึกเสียชีวิตประมาณ 21 คน
หากเราอ่านหนังสือหลายๆเล่มหรือเอกสารหลายฉบับแม้กระทั้งเชลยศึกสัมพันธมิตรเอง ก็ยังบันทึกว่า สภาพความเป็นอยู่ของเชลยศึกที่ว่าแย่แล้ว มันถือว่าดีกว่าความเป็นอยู่ของกรรมกรเอเชีย
โดยเชลยศึกปรกติจะเป็นทหาร ที่มีความรู้อ่านออกเขียนได้ มีความรู้ในเรื่องของระเบียบวินัยและรักษาความสะอาดสุขอนามัย การป้องกันโรคระบาด ตลอดจนในหน่วยเชลยศึกแต่ละหน่วยมีแพทย์ทหารอยู่ด้วยครับ
แพทย์เหล่านี้สามารถให้คำแนะนำหรือสามารถออกแบบดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ รวมถึงการขอแบ่งยารักษาโรคจากฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อใช้รักษาเชลยศึกที่มีอาการหนัก ค่ายเชลยศึกมีการจัดการเรื่องความสะอาด มีการทำค่ายแยกสำหรับผู้ป่วยโรคระบาดต่างๆ และทำการแยกผู้ป่วยออกไป เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคระบาด
สภาพของกรรมกรเอเชีย
ถึงแม้จะมีทรัพยากรทางการแพทย์เครื่องมือ ของใช้ต่างๆอย่างจำกัด แต่แพทย์ทหารเหล่านี้ก็ยังคงพยายามรักษาพยาบาลเบื้องต้น ให้กับเชลยศึกที่เจ็บป่วยรอดตายได้ไม่มากก็น้อย
มากล่าวถึงความเป็นอยู่ของกรรมกรเอเชียกันบ้าง แต่ต้องขออธิบายข้อมูลที่ไปที่มาของเหล่ากรรมกรเอเชียว่ามาได้อย่างไรเสียก่อน
กรรมกรเอเชียคือกลุ่มคนชาวเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบางส่วนคือชาวจีน ที่ถูกส่งมาใช้แรงงานในการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า
ซึ่งมาในหลากหลายรูปแบบครับ บางส่วนก็เต็มใจมาเนื่องจากทางญี่ปุ่นสัญญาว่าจะให้ค่าจ้างอย่างงามสำหรับการมาก่อสร้าง(แต่ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้จ่ายจริง หรืออาจจะจ่ายไม่ครบ)
บางส่วนถูกหลอกมาก็มี หลายคนถูกบังคับจับตัวส่งมาทำงานสร้างทางรถไฟในไทยและพม่า
กรรมกรเอเชียในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟ
โดยกรรมกรบางกลุ่มโดยเฉพาะชาวทมิฬมาในรูปแบบครอบครัว ยกกันมาเป็นครัวเรือน มีเมีย มีลูกหลานมาด้วย เป็นรูปแบบครอบครัวใหญ่
ญี่ปุ่นเองก็ขอให้ทางการไทยจัดหาแรงงานไทยและจีน โดยญี่ปุ่นจะจ้างเพื่อไปทำงานสร้างทางรถไฟเช่นกัน
แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องสุขลักษณะอนามัย การอยู่อย่างแออัด การขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค สิ่งต่างๆเหล่านี้นำไปสู่การเจ็บป่วย และโรคระบาด
ไม่มีแพทย์ดูแลอย่างเช่นเชลยศึก เมื่อไม่มีแพทย์ดูแลรักษา แม้จะป่วยไม่มากก็ส่งผลให้คนป่วยทุกข์ทรมาน และหลายครั้งก็ทำให้คนป่วยเสียชีวิต
ยังไม่นับรวมเรื่องโรคระบาดเช่น อหิวาตกโรค ที่กรรมกรเอเชียไม่มีความรู้ที่จะรับมือ ไม่มีการแยกผู้ป่วยออก จนเป็นเหตุให้เกิดการระบาดอย่างหนักในหมู่กรรมกรเอเชีย และแพร่กระจายไปยังแรงงานเชลยศึกต่อไป
ศพที่ตายจำนวนมากอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ และส่วนใหญ่ถูกฝังในหลุมรวมกัน ไม่รู้ใครเป็นใคร ชื่ออะไร บางครอบครัวก็ตายทั้งครอบครัว
ครอบครัวของกรรมกร มีเด็กรวมอยู่ด้วย
ไม่มีใครรับรู้ชื่อเสียงเรียงนามประวัติของพวกเขา
หากด้วยคนที่รอดจากความตายมาได้ และถูกปลดปล่อยหลังสงคราม
ด้วยไม่ความรู้หนังสือของกรรมกรส่วนมาก
ชีวิตหลังจากสงครามแน่นอนคนกลุ่มนี้ก็ยังคงต้องไปหาเช้ากินค่ำต่อไป
บาดแผลและความทุกข์ทรมานจะยังคงมีในจิตใจ แต่ก็ไม่สามารถเขียนออกมาได้ เพราะหลายคนไม่มีความรู้หนังสือ ถึงจะรู้หนังสือแต่ก็ต้องสาละวนกับการทำมาหากินเอา
จึงแทบจะไม่มีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรรมกรเอเชีย(ที่ผมเห็นก็จะมีแต่บันทึกความทรงจำของหัวหน้ากรรมกรเอเชียชาวพม่าที่ชื่อ Lin Yone Thit Lwin )
และรายชื่อผู้เสียชีวิตนั้นไม่มีใครทราบได้ มีเพียงคำบอกเล่าของคนที่รอดชีวิตเท่านั้นที่จะพอบอกเรื่องราวเหตุการณ์ในยามยากลำบากให้แก่ลูกหลานหรือคนรุ่นหลังได้ฟัง
สตรีชาวทมิฬ ครอบครัวของกรรมกรเอเชียที่มาสร้างทางรถไฟ
ซึ่งแตกต่างจากเชลยศึกสัมพันธมิตรที่ทั้งหมดเป็นทหาร เมื่อกลับไปยังประเทศของตน บุคคลเหล่านี้มีหน้าที่การงานมีความรู้ ไม่ต้องทำงานปากกัดตีนถีบเฉกเช่นกรรมกรเอเชียที่ยังต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง
พวกเขายังพอมีเวลาที่จะเขียนบันทึกข้อมูลเรื่องราวที่พวกเขาได้พบเจอ ได้เขียนความยากลำบากความตาย ลงในบันทึกส่วนตัว ลงในหนังสือ ให้เราได้อ่านในปัจจุบัน
ส่วนหนึ่งของกรรมกรเอเชียที่เป็นผู้หญิง
เรื่องราวของเชลยศึกสัมพันธมิตรจึงมีให้เห็นมากกว่าและกลายเป็นสื่อกระแสหลักของประวัติศาสตร์การสร้างทางรถไฟสายมรณะ
จนทำให้หลายคนเข้าใจว่ามีเพียงเชลยศึกที่มาสร้างทางรถไฟสายนี้
แต่ในความเป็นจริงยังมีประวัติศาสตร์ที่อยู่ในมุมมืด ขาดการศึกษาและสนใจ นั่นคือเรื่องของแรงงานกรรมกรเอเชียจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟ
แต่เรากลับไม่รับรู้ หรือรับรู้เรื่องของพวกเขาเหล่านี้น้อยมาก
การขุดพบโครงกระดูกกรรมกรเอเชียประมาณ 500 ศพ ที่ จ.กาญจนบุรี เมื่อ ปี ค.ศ. 1990 หรือ พ.ศ.2533 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านี้มีตัวตนจริง และเป็นสิ่งย้ำเตือนถึงความโหดร้ายและความทุกข์ทรมานจากการก่อสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า
กระโหลกของกรรมกรเอเชีย
ซอยแสงชูโต 14 พื้นที่บริเวณนั้นอยู่ห่างจากกำแพงศาลากลางประมาณ 100 เมตร และอยู่ห่างจากถนนแสงชูโตประมาณ 200 เมตร เป็นไร่อ้อย ที่ดินของ คุณครู อนัญญา วัฒนแย้ม
โดยมีการให้เบาะแสจากผู้อาวุโสที่อยู่ในพื้นที่ว่าที่พื้นที่แถบนั้น เคยเป็นที่ฝังศพกรรมกรสร้างทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
มูลนิธิโพธิ์ภาวนาได้ทำการขอเข้าขุดล้างป่าช้าในพื้นที่บริเวณนั้น
คุณครูอนัญญาได้อนุญาตให้ทำการขุดค้นหาศพเพื่อทำการล้างป่าช้าได้
โดยที่ครูอนัญญาจะไม่ขอรับเงินค่าเสียหายในการที่ต้องไถต้นอ้อยออกไปแต่อย่างใด
ในการไถต้นอ้อย รถไถได้รับการสนับสนุนจาก พล.ต.ท. จำรัส มังคลารัตน์ ภายหลังปรับพื้นที่จนเหลือแต่หน้าดินเพื่อรอการขุดโครงกระดูก
ในวันที่ 15 พ.ย. 1990
วันแรกของการขุดศพไร้ญาตินั้น พบโครงกระดูกจำนวนกว่าร้อยศพ นอนทับกันในหลุม จำนวนหลายหลุม
และยังขุดพบภาชนะแก้วน้ำ ชามข้าวที่เป็นแบบสังกะสีเคลือบจำนวนพอสมควร
ในวันที่ 16 พ.ย.1990 มีการขุดศพไร้ญาติต่อเป็นวันที่สองครับ พบโครงกระดูกประมาณ 104 ศพ
ในวันที่ 18 พ.ย.1990 หลังจากที่ข่าวแพร่กระจายออกไปว่ามีการขุดค้นพบโครงกระดูกจำนวนมากอยู่ข้างๆศาลากลาง จังหวัดกาญจนบุรี ทางอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงพื้นที่การขุด เพื่อตรวจสอบ และมีความเห็นว่าการขุดแบบนี้อาจจะเป็นการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้
จึงมีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการ จ.กาญจนบุรี ให้มีคำสั่งให้มูลนิธิยุติการขุดล้างป่าช้าชั่วคราว และได้ให้กองโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์นำโดย คุณสถาพร ขวัญยืน เป็นผู้เข้าขุดสำรวจ และมีอาจารย์ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ เลขาธิการศูนย์วัฒนธรรมราชภัฏกาญจนบุรี (หรือวิทยาลัยครูในสมัยนั้น) เข้าร่วมด้วย
ในวันที่ 20 พ.ย.1990
กองโบราณคดี ได้เริ่มทำการขุดหลุม 2 หลุม เลยจากบริเวณที่มูลนิธิขุดพบศพไปทางใต้ แต่ไม่พบศพ
เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ทำการขุดค้น
ในวันที่ 23 พ.ย. 1990
จึงมีการขุดหลุมที่สามใกล้กับบริเวณที่ชาวบ้านขุดพบก่อนหน้านี้
ในหลุมที่ 3 มีการขุดหลุมขนาด 4 ×5 เมตร พบโครงกระดูก 35 โครง โดยทั้งหมดหันหัวไปในแนวทิศเหนือใต้
มี 24 โครงหันหัวไปทางเหนือ
มี11 โครงหันหัวไปทางใต้
แผนผังหลุมขุดค้นของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรณ์
โครงกระดูกถูกฝังทับซ้อนกัน สภาพโครงกระดูกผุกร่อนเนื่องจากอยู่ใต้ไร่อ้อยและมีน้ำใต้ดินขังอยู่ โครงกระดูกส่วนใหญ่อยู่ใต้ผิวดินประมาณ 60-70 ซม.
ในจำนวนโครงกระดูก 35 โครง มีหนึ่งโครงกระดูกเป็นของเด็กหญิงอายุไม่เกิน 10 ขวบ เนื่องจากยังมีฟันน้ำนมอยู่ และพร้อมกันนั้นยังพบกำไลข้อมือที่แขนข้างซ้ายของโครงกระดูกนี้
โครงกระดูกเด็กเพศหญิง
กำไรที่ข้อมือ
จากการขุดค้นของนักโบราณคดีพบว่า ลักษณะการขุดหลุมฝังจะขุดหลุมเป็นสีเหลี่ยมผืนผ้ายาว 2-2.5 เมตร ความกว้างไม่แน่นอน มีการฝังศพสองครั้งในหลุมเดียวกัน กล่าวคือเมื่อฝังศพแรกแล้วก็จะเอาดินกลบลงไปประมาณ 30 ซ.ม.แล้วนำอีกศพมาฝังด้านบนแล้วค่อยเอาดินกลบ
สภาพโครงกระดูก
นอกจากการขุดพบโครงกระดูกแล้ว ยังขุดพบข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตาย โดยมีทั้งกระบอกน้ำโลหะ บางใบมีตราประทับเขียนแหล่งผลิตที่ ฮ่องกงหรือญี่ปุ่นด้วย บางใบบอกปีผลิตว่าเป็นปี 1939 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอน
ภาชนะที่ถูกขุดพบ
กำไลโลหะที่ข้อมือของโครงกระดูกเด็ก
พบตะกรุดโลหะ 2 ชิ้น และพบเศษเชือกในหูร้อยเชือกของตะกรุด ตะกรุดนั้นพบที่ช่วงสะโพกของโครงกระดูก (คนมัดตะกรุดคาดเอว)
พบบางศพมีฟันเลี่ยมด้วยทอง บางศพพบมีการใส่ฟันปลอม
7 ศพพบว่ามีลักษณะฟันสีดำที่เกิดจากการเคี้ยวหมาก
จากหลักฐานทางโบราณคดีนั้นสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้สูงอายุว่าในอดีตพื้นที่แถบนี้เป็นค่ายกรรมกรเอเชีย และมีพยานเคยพบเห็นการขุดหลุมฝังศพของกรรมกรเอเชีย (อินเดีย)
โดยคำบอกเล่ามีดังนี้
นาง อุไร บ่อทรัพย์
นาง อุไร บ่อทรัพย์
วัย 65 ปี ชาวบ้านปากแพรก สัมภาษณ์ 21 พ.ย. 2543
เล่าว่าสมัยนั้นตนเอง อายุ 15 ปี ญี่ปุ่นได้เข้ามาในกาญจนบุรี มีการสร้างค่ายกรรมกรเอเชียตั้งตามแนวทางรถไฟจากบ้านเขาดินถึงบ้านบ่อ (บริเวณโรงพยาบาลพหลในปัจจุบัน) กรรมกรเอเชียนั้นมีชีวิตลำบากตื่นแต่เช้าออกไปทำงานอย่างหนัก อาหารไม่พอกิน ยารักษาโรคก็ไม่มี ป่วยเป็นมาลาเลีย บิด อหิวา เสียชีวิตจำนวนมาก เด็กบางคนไม่มีข้าวกินไม่มีนมกินผอมโซ
เคยแอบมองเข้าไปในค่ายกรรมกรเอเชียเห็นการฝังศพของชาวอินเดียหรือพวกกุลีโต้ (กุลีโต้คือคำเรียกที่ทหารญี่ปุ่นใช้เรียกกรรมกรเอเชียหรือพวกกุลี) โดยหลุมจะถูกขุดไว้ก่อน กรรมกรที่เสียชีวิตจะถูกนำมาฝัง มีการจับศพโยนลงไปซ้อน ๆ ทับกัน
และมีการโรยด้วยปูนขาวเพื่อลดกลิ่นเหม็น เนื่องจากหลุมจะยังไม่ถูกกลบในทีเดียวเพราะในหลุมหนึ่งๆ ต้องใช้ทิ้งศพหลายศพ เมื่อได้ปริมาณศพเพียงพอแล้วจึงจะมีการกลบดิน
หลุมขุดค้นกระดูกกรรมกรเอเชีย
นายเอี่ยม บ่อทรัพย์ วัย 81 ปี สัมภาษณ์ 20 มีนาคม 2551
ค่ายญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านบ่อ ส่วนค่ายกรรมกรอินเดีย ชวา มลายู อยู่ที่โรงพยาบาลบ้านบ่อ(โรงพยาบาลพหล) นายเอี่ยมเห็นกรรมกรล้มป่วยเป็นจำนวนมาก บางคนเป็นอหิวา บางคนมีแผลตามเนื้อตัวเต็มไปหมด มีผู้เสียชีวิตมากมาย และศพจะถูกนำไปฝังหลังโรงพยาบาลพหล(ในปัจจุบัน)
คำบอกเล่าจากเจ้าอาวาสวัดแถวบ้านโป่งที่เคยเห็นกรรมกรเอเชียเชื้อสายอินเดียมาลงรถไฟที่สถานีหนองปลาดุกและเดินเท้าไปยัง จังหวัดกาญจนบุรี ในขบวนนั้นมีเด็กและผู้หญิงร่วมเดินทางไปด้วย โดยผู้หญิงส่วนใหญ่ก็คือภรรยาของกรรมกรชายที่ออกไปทำงาน ผู้หญิงเองก็มีหน้าที่เป็นแม่บ้านและเป็นคนทำอาหาร
การทำงานก่อสร้างทางรถไฟของดรรมกรเอเชีย
Robert Hardie แพทย์ประจำกองทัพอังกฤษที่ตกเป็นเชลยศึกได้กล่าวถึงกรรมกรเอเชียว่า มีกรรมกรชาวจีน มาเลย์ อินเดียทมิฬ จำนวนมากถูกชักชวนให้มาทำการสร้างทางรถไฟสายมรณะ โดยทางญี่ปุ่นอ้างว่า เป็นงานที่ไม่หนักและมีรายได้ดี พวกเขาถูกส่งมายังประเทศไทยโดยทางรถไฟ เมื่อมาถึงบ้านโป่ง ก็มีการเดินเท้าต่อมายังกาญจนบุรี กรรมกรเอเชียนั้นมีจำนวนหลายพันคนและมีการตั้งค่ายตามแนวทางรถไฟหลายค่าย
เราได้ข่าวความน่ากลัวของการตายจากโรคระบาดในหมู่กรรมกรเอเชีย หลายคนป่วยจนพูดแทบไม่ไหว กรรมกรเอเชียบางคนเสียชีวิตในป่าศพขึ้นอืดเน่าไม่ได้รับการฝัง ระบบสุขาภิบาลไม่มี ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด ฝูงแมลงวันมีอยู่เต็มไปหมด ที่สำคัญไม่มีการรักษาพยาบาลสำหรับคนป่วยในค่ายกรรมกรเหล่านี้
Muthammal Palanisamy อดีตครูในประเทศมาเลเซียผู้ที่พยายามรวบรวมเรื่องราวของกรรมกรเอเชียที่รอดชีวิตกลับไปยังมาเลเซียหลังสงคราม เธอได้รวบรวมข้อมูลจากกรรมกรมาเลเซียได้จำนวน 12 คน และเรื่องราวนั้นกำลังรวบรวมและจะเขียนลงบนหนังสือต่อไป
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า กรรมกรเอเชียชาวมาเลย์อินเดียหลายคนพูดตรงกันว่า ทหารญี่ปุ่นมาเชิญชวนให้ไปทำงานสร้างทางรถไฟ โดยให้เหตุผลที่ว่า การสร้างทางรถไฟสายนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ และการสร้างทางรถไฟนี้จะช่วยญี่ปุ่นให้ส่งทหารเข้าไปรบกับอังกฤษ และทางรถไฟสายนี้จะช่วยปลดปล่อยอินเดียจากการตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวอินเดียทมิฬที่ถูกอังกฤษส่งมาใช้แรงงานในมลายูตัดสินใจไปร่วมสร้างทางรถไฟสายนี้
หลังจากที่มีการขุดพบโครงกระดูกมีการศึกษาพบว่าไม่ได้เป็นศพที่เกี่ยวกับอารยธรรมโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ข้อมูลหลังจากนี้ผมคาดการณ์ว่า ทางกรมศิลป์เองก็เลยไม่ได้ทำการสำรวจต่อ และให้ทางมูลนิธิโพธิภาวนาสงเคราะห์เข้ามาขุดศพทั้งที่เหลือออกจากพื้นที่
สถาพของกรรมกรเอเชีย
คำถามตามมาคือแล้วศพตอนนี้ไปอยู่ที่ใดบ้าง
จากการหาข้อมูลของผมได้ข้อมูลดังนี้
ส่วนแรก จำนวนมากหลายร้อยศพ
ในเอกสารของมูลนิธิโพธิภาวนา แจ้งว่าขุดได้ 10 วัน ได้โครงกระดูกบรรทุกเต็มรถหกล้อ 1 คัน ผมจึงสอบถามไปยังมูลนิธิและเล่าเรื่องเหตุการณ์เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน และสอบถามว่าหลังจากการล้างป่าช้าครั้งนั้น ศพที่ขุดได้ อยู่ที่ใด
มูลนิธิได้ให้คำตอบว่าในการล้างป่าช้าแต่ละครั้ง จะมีการนำศพกลับไปบำเพ็ญกุศลและทำการฌาปนกิจและนำเถ้ากระดูกไปไว้ในสุสานรวมหรือที่เรียกว่าฮวงซุ้ยรวมของศพไร้ญาติ
ซึ่งจะมีการไหว้ตามพิธีกรรมจีนในช่วงเชงเม้งของทุกปี มีของเซ่นไหว้ครับ สุสานของมูลนิธิอยู่ที่ จ.สระบุรีครับ (ก่อนที่จะมีการเผา จนท.กรมศิลป์ได้ไปตรวจสอบโครงกระดูกที่ มูลนิธิโพธิภาวนาสงเคราะห์ ที่กทม. รวบรวมไว้ เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่ได้หลักฐานอะไรมาก เพราะโครงกระดูกต่างๆ ล้วนแล้วแต่ปะปนกันไปหมด จากสุสานอื่นๆที่ทางมูลนิธิได้ไปทำการขุดศพไร้ญาติครับ)
สุสานรวมของมูลนิธิโพธิ์ภาวนา ที่กระดูกของกรรมกรเอเชียถูกเผาและเถ้ากระดูกนำมาบรรจุไว้ มีการไหว้เชงเม้งทุกปี
ส่วนที่สองมีการมอบศพให้กับพิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก ที่อยู่ข้างสะพานแม่น้ำแคว ที่จัดแสดงในครอบแก้วจะมีโครงกระดูกกรรมกรเอเชียสองโครง ส่วนอีก 104 โครงนั้นอยู่ด้านล่างลงไปในบ่อปูน รวมที่พิพิธภัณฑ์นี้มี 106 โครงกระดูก
โครงกระดูก 106 ศพ ที่พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก
และยังมีโครงกระดูกกรรมกรเอเชียอีก 33 โครงกระดูก ตามที่มีการเขียนไว้ใน international Herald Tribune, New York Times  โดย Thomas Fuller วันที่ 11 มีนาคม ปี 2008
Thomas Fuller ได้เดินทางมาที่ประเทศไทยทำข่าวเกี่ยวกับกรรมกรเอเชียที่ร่วมสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสัมภาษณ์ อาจารย์ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ เกี่ยวกับเรื่องราวการของทางรถไฟสานมรณะและเรื่องศพของกรรมกรเอเชีย รวมถึงสัมภาษณ์ผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น นางอุไร บ่อทรัพย์ ชาวบ้านที่บ้านอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ค่ายกรรมกร / นายทองอยู่ ชาลวันกุมภีร์ อดีตกรรมกรเอเชียชาวมาเลเซียที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย (ปัจจุบันนี้เสียชีวิตแล้ว)
ในเนื้อข่าวตอนหนึ่งระบุว่า
หลังจากที่มีการขุดพบซากโครงกระดูกกรรมกรเอเชียจำนวนมาก ที่ ปากแพรก กาญจนบุรี อาจารย์ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ ร้องขอไปยังทางจังหวัดให้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานหรือสุสานแก่กรรมกรเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดจากหน่วยงานภาครัฐ
ในข่าวยังระบุว่าอาจารย์ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ ได้ขุดศพกรรมกรเอเชียด้วยทุนทรัพย์ของตนเองและนำโครงกระดูกไปฝากไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จำนวน 33 ศพ เพื่อเก็บรักษา
หลังจากนั้นในปี 2008 อาจารย์ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ และ Thomas ได้เดินทางไปยังอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์เพื่อจะขอดูโครงกระดูกที่เคยนำมาฝากไว้ แต่กลับได้รับคำตอบว่า โครงกระดูกเหล่านั้นถูกนำไปขุดหลุมฝังเมื่อสองสามปีก่อนหน้านี้ เหตุผลที่นำโครงกระดูกไปฝังนั้น เนื่องจากห้องเก็บโครงกระดูกมีกลิ่นเหม็นอับและได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่และแขกผู้มาเยี่ยมชม เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงได้ขุดหลุมฝังโครงกระดูกจำนวน 33 โครง
การแบกไม้หมอนและการจัดวางไม้หมอนเพื่อเตรียมวางรางรถไฟต่อไป
ตัวผมเองก็อยากรู้ว่าสิ่งที่นักข่าวเขียนนั้นเป็นจริงหรือไม่อย่างไร จึงได้โทรไปที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ มีพี่ จนท.ผู้หญิงท่านหนึ่งรับสายและผมได้สอบถามบุคคลที่มีชื่อในข่าว(ขอสงวนนามนะครับ) ยืนยันว่ามีขุดหลุมฝังศพเหล่านั้นจริง
แต่คนที่ขุดฝังเป็นเหมือนกับลูกจ้างชั่วคราวและหลังจากฝังได้ไม่นานก็ลาออกไป และตอนนี้ไม่มีใครทราบว่าหลุมที่ขุดฝังโครงกระดูกกรรมกรเอเชียทั้ง 33 ศพอยู่ที่ใด เพราะเจ้าหน้าที่ในสมัยนั้นเกษียรหมดแล้วบางคนก็เสียชีวิตแล้ว
เมื่อกลับมาดูเนื้อหาข่าวในสำนักข่าว New York times ในปี 2008 ยังบอกเพิ่มเติมว่า หลุมที่ฝังโครงกระดูกพวกนั้นอยู่ใกล้กับกองปุ๋ยหมักเขาใช้คำว่า compost heap ซึ่งปัจจุบันคงไม่มีใครรู้อีกนั้นแหละครับเพราะหลายปีแล้ว นั้นหมายความว่า Thomas และอาจารย์วรวุธ รู้ว่าศพ33 ศพฝังที่ใด (แต่ อ.วรวุธ เสียชีวิตแล้วครับ)
ผมไม่ได้มาโจมตีการทำงานของหน่วยงานหรือบุคคลใดนะครับ แค่นำเอาเรื่องราวที่ไปที่มา รวมถึงข้อเท็จจริงมาเผยแพร่ให้คนได้ทราบเท่านั้น เพราะผมเชื่อว่ามีคนอีกมากอยากจะรู้ว่าโครงกระดูกที่ขุดพบนั้นอยู่ที่ใดบ้างก็เท่านั้น
และข้อมูลในหนังสือและเอกสารหลายฉบับ รวมถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ของอาจารย์ วรวุธ เชื่อว่าในพื้นที่บริเวณศาลากลาง โรงพยาบาลพหล ตลอดจน พื้นที่แถวซอย แสงชูโต 14 และรอบข้าง น่าจะยังมีศพหลงเหลืออยู่มากเพราะอดีตเป็นค่ายกรรมกรเอเชีย แต่ก็อย่างว่าแหละครับไม่มีใครอยากที่จะขุดหรือทำอะไร
บริเวณศาลากลางและ โรงพยาบาลพหล ในอดีตเป็นค่ายกรรมกรเอเชียเชื้อสายอินเดีย(ชาวทมิฬ)
ส่วนตัวผมเองก็เชื่อว่าในพื้นที่บริเวณนั้นก็คงจะมีโครงกระดูกของกรรมกรเอเชียหลงเหลืออยู่ครับ
หลังจากที่ผมสำรวจทางรถไฟอย่างจริงจังได้คุยกับชาวบ้านหลายคน ได้รับรู้เรื่องราวมาว่าในอดีตเคยมีชาวบ้านที่อยู่ตามแนวทางรถไฟสายมรณะ ขุดพบโครงกระดูกจำนวนมาก เช่นแถวกุยแหย่ หรือแม้กระทั่ง แถวสถานีถ้ำผี(ก่อนถึงช่องเขาขาด) ต่างมีการขุดพบโครงกระดูกจำนวนมาก แต่ไม่เป็นข่าวครับ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเมื่อนานมาแล้วเป็นพื้นที่ห่างไกล ไร้คนสนใจ ศพเหล่านั้นถูกขนไปวัด หรือนำไปเผาทำบุญ
สุสานหรือหลุมศพของกรรกรเอเชียนั้นไม่สามารถเทียบกับสุสานของเชลยศึกสัมพันธมิตรได้เลยครับ
1
สุสานเชลยศึกสัมพันธมิตรดูร่มรื่นสวยงามเป็นระเบียบ ป้ายจารึกบนหลุมศพของเชลยศึกตะวันตกต่างเป็นคำที่สร้างถึงความรักและความภาคภูมิใจการรำลึก แต่สุสานของกรรมกรนั้นอยู่กลางป่าดง ในไร่นาสวนของชาวบ้าน บ้างก็อยู่ในพื้นที่ของประชาชนหรือสถานที่ราชการ ศพต้องนอนในพื้นดินหนาวเย็นไร้ผู้คนสนใจและไร้ตัวตน ไม่มีใครรู้การมีอยู่ของพวกเขา
1
แต่ก็ยังโชคดีอยู่บ้าง โดยศพของกรรมกรเอเชียบางส่วนได้มีการถูกค้นพบเมื่อปี 1951 กรือ พ.ศ.2494 โดยในขณะนั้นวัดถาวรวราราม หรือ วัดญวน มีการทำการล้างป่าช้าและพบศพซึ่งเป็นของกรรมกรเอเชียมากกว่า 4,500 ศพ
โดยมีการขุดศพขึ้นมาทำการบำเพ็ญกุศลฌาปนกิจ มีการสร้างสถูปรูปทรงดังภาพ แล้วได้บรรจุเถ้าอัฐิของกรรมกรเอเชียลงไป
ภาพสุสานหมื่นชีวิต ที่เก็บเถ่ากระดูกกรรมกรรมกรเอเชียที่วัดญวน ภาพโดย อ.เล็ก บ้านใต้
สุดท้ายนี้ผมขออุทิศงานเขียนนี้ให้แก่กรรมกรเอเชีย เพื่อให้พวกเขายังคงมีตัวตนอยู่ในความรับรู้ของคนในยุคปัจจุบัน
สองผมขออุทิศการค้นคว้านี้ให้แก่อาจารย์ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ผมรักและเคารพมาก อาจารย์ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ ท่านต้องการให้เกิดพิพิธภัณฑ์หรือสุสานของกรรมกรเอเชีย
คนไทยได้ใช้ทางรถไฟสายมรณะในการทำมาหากินรับนักท่องเที่ยว รายได้จากทางตรงและทางอ้อม
บทความนี้มุ่งหวังอยากบอกกับทุกคนว่า หากท่านจะระลึกถึงคนที่สร้างทางรถไฟ อยากให้ทุกคนรำลึกถึงทั้งกรรมกรเอเชียและเชลยศึก รวมถึงทหารญี่ปุ่นที่มีส่วนในการสร้างทางรถไฟสายนี้ เพราะประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้อดีต อะไรที่ดีควรศึกษาและเอามาปรับใช้ อะไรที่เป็นเรื่องเลวร้ายเรียนรู้ไว้อย่าให้มันเกิดซ้ำ
การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่จมปรักกับความเกลียดชัง
หากใครสนใจเข้ากลุ่มนักสำรวจทางรถไฟสายมรณะ ตามลิงค์เลย https://www.facebook.com/groups/2342060092765924/?ref=share
เอกสารอ้างอิงผมใช้หนังสือพิมพ์ New York times ตามที่ผมเขียนไว้ด้านบน
บทความสุสานสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมเมื่อกุมภาพันธ์ ปี 2534 ที่เขียนโดย คุณสถาพร ขวัญยืน เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ที่ขุดค้นครับ
หนังสือที่เขียนโดยอาจารย์วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ คือ หนังสือสงครามมหาเอเชียบูรพา
และบทความของต่างชาติอีกชุดหนึ่ง
เอกสาร ภูมิเมืองกาญจน์ ย่านปากแพรก เขียนโดย โสมชยา ธนังกุล
สมุดภาพของ เรนอิชิ ซูกาโน
โฆษณา