23 เม.ย. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การโจมตีกลับของอิหร่านส่งผลกระทบต่อโลกยังไงได้บ้าง?

เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว อิหร่านได้ยิงโดรนและขีปนาวุธใส่อิสราเอลหลังอิสราเอลจู่โจมซีเรีย ซึ่งนี่ก็ทำให้หลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสกำลังจะกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศอื่นๆ
หนึ่งในช่องทางหลักที่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นครั้งนี้จะส่งผลต่อทั่วโลกได้ก็คือผ่านทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยอิหร่านเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายหลักของโลกและมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันต่อการผลิตน้ำมันทั้งหมดทั่วโลกกว่า 4% (แผนภูมิ 1) ซึ่งเมื่อความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับสงครามในยูเครนแล้ว ก็มีโอกาสสูงที่ราคาพลังงานทั่วโลกจะถูกกระทบหากประเทศเหล่านี้ลดการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงสงคราม และนี่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นตามเช่นกัน
จากการคำนวณของ Capital Economics ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 10% มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นราวๆ 0.1% - 0.2% และถ้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวขึ้นสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นตาม ก็อาจทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกต้องเริ่มพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยนโยบายกันใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ยังไม่น่าจะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน นี่เป็นเพราะว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% นั้นค่อนข้างน้อยเกินกว่าที่จะเปลี่ยนใจธนาคารกลางได้ และถ้าจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากพอที่จะดึงดูดความสนใจของธนาคารกลางได้นั้น ราคาน้ำมันก็ต้องพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นก็ไม่ได้มีมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่บางประเทศ เช่น จีน กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืดแทนเงินเฟ้อจากการความต้องการภายในประเทศที่อ่อนแอผนวกกับการขยายฐานการผลิตในช่วงสามปีที่ผ่านมา
จากรายงานของ S&P Global โรงกลั่นในประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการผลิต 2.7% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้จำนวนสินค้าปิโตรเลียมแตะ 450 ล้านเมตริกตันในปี 2024 ในขณะเดียวกัน ความต้องการสินค้าชนิดนี้ในประเทศน่าจะแตะระดับสูงสุดที่เพียง 400 ล้านเมตริกตันในปี 2024 หรือ ปี 2025 ซึ่งการผลิตที่สูงกว่าความต้องการนี้จะทำให้ราคาสินค้าปิโตรเลียมจากจีนถูกลง ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกจากจีนลดลงด้วย และนี่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกไม่เพิ่มสูงเกินไป
นอกจากนี้ บางประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม OPEC+ ก็ได้เริ่มที่จะมองหาช่องทางผลิตน้ำมันเพิ่มแล้ว อย่างในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โรงงาน Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) ก็ได้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันให้ถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2027 ตามผลสำรวจของ Middle East Economic Survey และเมื่อมีความขัดแย้งในภูมิภาคที่อาจส่งผลเสียต่อราคาน้ำมันเช่นนี้แล้ว สมาชิกของ OPEC+ บางรายรวมถึง สหรัฐฯ เองก็ไม่น่านิ่งดูดาย และอาจผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อกดราคาน้ำมันไว้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและยังอาจรุนแรงกว่านี้ได้อีก จึงยังคงบอกอย่างเฉพาะเจาะจงได้อยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกบ้าง ดังนั้นทั่วโลกจึงยังจำเป็นที่จะต้องจับตาดูและติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางนี้อย่างใกล้ชิด
โฆษณา