24 เม.ย. เวลา 15:52 • ข่าว

หอยเรืองแสงไทยได้รับคัดเลือกให้เป็น International Mollusc of the Year 2024

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ในขณะที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังรื่นเริงกับวันไหลอย่างสนุกสนาน วงการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของไทยก็มีข่าวน่ายินดีมามอบเป็นของขวัญให้คนไทยเช่นกัน
หอยเรืองแสงของไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็น International Mollusc of the Year 2024 ด้วยคะแนน 3,279 จากทั้งหมด 6,263 คะแนนเสียงทั่วโลก เจ้าหอยดังกล่าวเรียกว่า หอยทากบกเรืองแสง (The Glow Stick Snail) จัดอยู่ในชนิด Phuphania crossei สกุล Phuphania ซึ่งเป็นสกุลที่ค้นพบใหม่ของโลกเมื่อปี ค.ศ. 2007 โดยคณะนักวิจัยไทย โดยชื่อสกุลตั้งมาจากเทือกเขาภูพานที่เป็นสถานที่ค้นพบหอยสกุลนี้ชนิดแรก หอยชนิดนี้อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าเขตร้อนในประเทศไทยภาคกลาง และป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่
เว็บไซต์มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร อธิบายลักษณะพิเศษของหอยทากบกเรืองแสงนี้ คือ มีเปลือกหนาปานกลางถึงใหญ่ มีลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองและมีรอยขีดที่เปลือก มีหัวสีเทาเข้ม แสงสีเขียวที่เรืองแสงมาจากเซลล์เปล่งแสงที่อยู่บริเวณส่วนหน้าของเท้า และแสงนั้นมาจากภายในเซลล์ของร่างกายจริง ๆ ไม่ใช่เมือกเรืองแสง
การค้นพบการเรืองแสงดังกล่าว มาจากทีมของ ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ นำโดย ดร. อาทิตย์ พลโยธา ร่วมกับ รศ.ดร. จิรศักดิ์ สุจริต ผศ.ดร. ปิโยรส ทองเกิด และร่วมกับทีมของ ศ.ดร. Yuichi Oba จาก Chubu University ประเทศญี่ปุ่น นำโดย Dr. Daichi Yano และ Gaku Mizuno
การเรืองแสงของหอยที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศบนบกนับได้ว่าหายากมากและนับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญทางธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ใจ โดยหอยทากบกสามารถสร้างแสงสว่างออกมาได้ด้วยตัวของมันเองโดยอาศัยปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกาย (luciferin-luciferase reaction) สัตว์บางชนิดใช้แสงเพื่อประโยชน์ในการล่อเพศตรงข้าม เพื่อการสืบพันธุ์ เพื่อล่อเหยื่อให้เข้ามาใกล้จะได้จับกินเป็นอาหาร แต่ในหอยทากบกน่าจะใช้แสงเพื่อเป็นสีเตือนภัย ป้องกันไม่ให้ผู้ล่ามากิน (aposematic displays)
นอกจากหอยเรืองแสงของไทยแล้ว ก็มีอีก 5 ชนิดที่ได้รับเลือกให้เป็น Mollusc of the Year 2024 ประกอบด้วย ผีเสื้อทะเลแอตแลนติก หมึก Brief Squid หนอนทะเล Micromelo undatus และหอยแมลงภู่ coosa fiveridge จาก Alabama สหรัฐอเมริกา
อ้างอิง
โฆษณา