23 เม.ย. เวลา 03:10 • สิ่งแวดล้อม

ชวนรู้จัก “สิงโตนายสนิท” กล้วยไม้ป่าดิบเขาภาคเหนือไทย

ชวนรู้จักกล้วยไม้เกียรติประวัติไทย สิงโตนายสนิท พบได้ตามภาคเหนือของไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า 𝘉𝘶𝘭𝘣𝘰𝘱𝘩𝘺𝘭𝘭𝘶𝘮 𝘴𝘢𝘯𝘪𝘵𝘪𝘪 Seidenf. วงศ์ : Orchidaceae
“สิงโตนายสนิท” ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1970 ในวารสาร Botanisk Tidsskrift เล่มที่ 65 หน้า 345 ตัวอย่างต้นแบบหมายเลข 𝘚𝘦𝘪𝘥𝘦𝘯𝘧𝘢𝘥𝘦𝘯 & 𝘚𝘮𝘪𝘵𝘪𝘯𝘢𝘯𝘥 𝘎𝘛 7260 เก็บจากดอยขุนห้วยโป่ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
คำระบุชนิด “𝘴𝘢𝘯𝘪𝘵𝘪𝘪” ตั้งเป็นเกียรติให้แก่กัปตันสนิท (Thai Capitain in Royal Thia Airforce and Helicopter Pilot) นายทหารประจำกองทัพอากาศ ผู้ขับเฮลิคอปเตอร์ให้แก่ ศาสตราจารย์ Gunnar Seidenfaden นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กล้วยไม้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสำรวจกล้วยไม้ของประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์กล้วยไม้อิงอาศัย ลำลูกกล้วยทรงรูปไข่ สีเหลืองแกมเขียว ใบรูปขอบขนานแคบ กว้าง 2.5-3 ซม. ปลายแหลม โคนสอบเรียว แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 3-4 มม. ช่อดอกแบบช่อกระจะ (raceme เป็นช่อดอกที่มีดอกย่อยเกิดบนแกนกลาง โดยดอก แก่จะอยู่ล่างสุด ดอกอ่อนจะอยู่บน ดอกล่างสุดจะบานก่อน แล้วดอกอื่น ๆ ที่อยู่ถัดขึ้นไป จึงจะบานตามต่อมา ก้านดอกย่อยของดอกย่อยแต่ละดอกจะยาวเท่า ๆ กัน) ยาว 15-28 ซม. มีมากกว่า 30 ดอก
ดอกสีครีมถึงสีเหลือง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบเลี้ยงบนรูปใบหอก กว้างประมาณ 2 มม. ยาว 0.6-1.3 มม. ปลายแหลม ขอบเรียบ ด้านในมีขน กลีบเลี้ยงคู่ข้างรูปแถบแกมรูปเคียว ยาวประมาณ 2 ซม. กว้างประมาณ 2 มม. บิดเป็นเกลียวเล็กน้อย โคนเชื่อมติดกันยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ กลีบดอกรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 1.4 มม. ยาวประมาณ 4 มม. ปลายเรียวแหลม ขอบเป็นชายคุรย กลีบปากแยกเป็น 3 แฉก แฉกกลางปลายมน โค้งลง ขอบและด้านล่างมีขนแผง เส้าเกสรยาวประมาณ 1.5 มม. มีเขี้ยวรูปลิ่มแคบยื่นขึ้นด้านบน ยาวประมาณ 0.5 มม.
พบทางภาคเหนือ ในป่าดิบเขา ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 1,400-1,700 ม. ออกดอกเดือน มี.ค. - เม.ย.
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
🌏 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci And Tech
โฆษณา