24 เม.ย. เวลา 08:00 • การศึกษา

Futures of Learning in Thailand 2030: อนาคตของการเรียนรู้ในปี 2030

[#Learn] [#Thailand] ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชัน จํากัด (FutureTales Lab by MQDC) ร่วมกับสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต่อยอดโครงการวิจัยคาดการณ์อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ.2573 (Futures and Beyond: Navigating Thailand toward 2030)
ในมิติของการเรียนรู้ในบริบทประเทศไทยปี พ.ศ.2573 (Futures of Learning in Thailand 2030) โดยการพัฒนาเนื้อหา ข้อมูลสถิติสําคัญ บทวิเคราะห์สถานการณ์ สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ฉากทัศน์อนาคต รวมถึงข้อเสนอสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ให้กับประเทศไทย
Scenario 1 : LEARNING DECOMPOSED
ผู้เรียนรู้สึกเป็นทุกข์ต่อการเรียน เนื่องจากไม่ได้เรียนตามสิ่งที่ตนเองสนใจ และการเรียนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิตได้ ประสิทธิภาพการบริหารจัดการการเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ในระดับต่ำ การเข้าถึงความรู้ถูกจำกัด หลักสูตรหรือองค์ความรู้ไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมและทันสมัย ขาดการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งผลกระทบทำให้ความรู้ความสามารถของประชาชนถดถอย ขีดความสามารถทางการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอยู่ในระดับต่ำ
Society สังคม
สังคมเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากประชาชนทุกช่วงวัยไม่ได้เรียนตามสิ่งที่ตนเองสนใจ และการเรียนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิตได้ ขาดการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งผลกระทบทำให้ความรู้ความสามารถของประชาชนถดถอย จึงเกิดปัญหาทางสังคมหลากหลายรูปแบบ
Technology เทคโนโลยี
ขาดการลงทุน พัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการศึกษามาใช้สำหรับการบริหารจัดการการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและเหมาะสม การเรียนส่วนมากเป็นรูปแบบเดิมอยู่ในห้องเรียนและเน้นการเรียนรู้ภาคทฤษฎี ประชาชนขาดการเข้าถึงการศึกษา ได้รับข้อมูลจำกัด เนื่องจากเทคโนโลยีมีการจำกัดข้อมูลที่ประชาชนได้รับ
Environment สภาพแวดล้อม
พื้นที่ของการเรียนรู้ส่วนมากจำกัดเฉพาะแค่ในห้องเรียนของสถาบันการศึกษาหรือสำนักงาน บทบาทของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยส่วนมากไม่ปรับตัวต่อบริบทของสังคมสมัยใหม่ ทำให้การพัฒนาที่หยุดชะงัก เสื่อมโทรม หรือปิดตัว สถานที่เรียนรู้ในเมืองมีจำนวนน้อย พื้นที่ในเมืองไม่ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน
Economy เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจประเทศตกต่ำ ถดถอย เนื่องจากแรงงานส่วนมากขาดความรู้และทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการทำงานที่มีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประชาชนส่วนมากมีรายได้ต่ำหรือขาดรายได้ แรงงานทักษะต่ำตกงาน เนื่องจากถูกแทนที่งานด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
Policy นโยบาย
นโยบายการเรียนรู้มีการจำกัดข้อมูลและแนวคิดให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย ซึ่งเกิดจาก การไม่ปรับปรุงข้อมูลเนื้อหา ขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และขาดงบประมาณเนื่องจากไม่เห็นความสำคัญ ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนช่องทางในการเรียนรู้ที่หลากหลายและทันสมัย ทำให้เกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจของประเทศถดถอยตามมา
Values คุณค่า
ผู้เรียนรู้สึกเป็นทุกข์ต่อการเรียน เนื่องจากไม่ได้เรียนตามสิ่งที่ตนเองสนใจ ไม่ทราบความต้องการที่แท้จริงของตนเอง สถาบันการศึกษาขาดการคำนึงถึงสุขภาวะของผู้เรียน และการเรียนไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการทำงานและการใช้ชีวิตได้ ขาดแคลนการเข้าถึงการเรียนรู้ที่ทันสมัย คิดว่าการเรียนไม่สามารถตอบโจทย์ให้สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้
Scenario 2 : THE VICIOUS CYCLE OF JOB SEEKERS
ผู้เรียนส่วนใหญ่รู้สึกกดดันกับการเรียนรู้และเกิดการแข่งขันในวัยเรียนและวัยทำงาน เนื่องจากแรงผลักดันของตลาดแรงงานที่บังคับการเลือกชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของสังคม ไม่ใช่จากความชอบที่แท้จริงของตนเอง คุณภาพของการเรียนรู้ที่ได้รับส่วนมากยังขึ้นอยู่กับโอกาสและฐานะทางสังคมสืบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำในสังคม มีการเพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา แต่ยังไม่ทั่วถึงในสถาบันการศึกษาและองค์กรส่วนใหญ่ สังคมให้คุณค่ากับวุฒิการศึกษา และไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตนอกห้องเรียน
Society สังคม
ผู้คนในสังคมมองว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องของเด็กและวัยรุ่นเป็นหลัก ผู้ใหญ่วัยทำงานมักไม่ได้ขวนขวายเรียนรู้พัฒนาทักษะตนเองเพิ่มเติม ส่งผลให้วัยแรงงานปรับตัวต่อการทำงานรูปแบบใหม่ได้ยากขึ้น หลักสูตรปรับตามความต้องการของตลาดแรงงาน อันดับการศึกษาของไทยลดต่ำลง ผู้คนขาดการปรับตัวและการเตรียมพร้อมสู่อนาคต
Technology เทคโนโลยี
มีการนำเทคโนโลยีด้านการศึกษามาใช้ในการเรียนรู้มากขึ้น เช่น แอปพลิเคชัน เทคโนโลยีเสมือน ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ แต่การเข้าถึงยังจำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์และเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ในสังคม
Environment สภาพแวดล้อม
พื้นที่ของการเรียนรู้ส่วนมากอยู่แค่ในห้องเรียน แต่มีการเพิ่มขึ้นของการศึกษานอกห้องเรียนแบบมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มสถาบันการศึกษาหรือสถานประกอบการที่มีงบประมาณสูง สถาบันการศึกษาพยายามปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมสมัยใหม่ การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ในเมืองแม้จะมีจำนวนมากขึ้น แต่ยังไม่เข้าถึงผู้เรียนทุกคนอย่างแท้จริง พื้นที่ในเมืองมีการให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนมากขึ้นในหลายพื้นที่ แต่ยังไม่ทั่วถึง
Economy เศรษฐกิจ
เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจและสังคม แรงงานขาดทักษะที่ตอบโจทย์ต่อการทำงานในอนาคต การพัฒนาทักษะแรงงานยังไม่เกิดประสิทธิภาหรือมีหลักสูตรที่พัฒนาที่สอดรับกับความต้องการได้อย่างแท้จริง เศรษฐกิจไม่พัฒนา ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยยังไม่สามารถเทียบเท่าประเทศอื่นได้
Policy นโยบาย
นโยบายด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่ต่อเนื่องทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนา นโยบายด้านการพัฒนาทักษะแรงงานจากภาครัฐและภาคเอกชนยังไม่เข้นข้นและจริงจัง ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตยังไม่มีประสิทธิภาพ
Values คุณค่า
สังคมให้คุณค่ากับวุฒิการศึกษา สถาบันและคณะที่จบ ทำให้การเรียนเกิดการแข่งขันสูง ผู้เรียนได้รับแรงกดดันจากตนเอง ครอบครัว และสังคม ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่ทราบความต้องการที่แท้จริงของตนเองและไม่สามารถเรียนตามสิ่งที่ตนเองสนใจได้ ผู้คนส่วนมากไม่มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะ เนื่องจากขาดแรงจูงใจและการส่งเสริม ส่งผลให้วัยแรงงานไม่สามารถปรับตัวต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปได้
Scenario 3: NEVER-ENDING LEARNING
ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นและรักในการเรียนรู้ เนื่องจากประเทศมีนโยบายส่งเสริมการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพต่อผู้คนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย สังคมให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื้อหาการเรียนรู้สอดคล้องกับทักษะใหม่แห่งอนาคตที่ตลาดแรงงานต้องการ มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจบทเรียนได้ง่าย สนุก และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ต่อยอดเพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพ
ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามต้องการโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ ครูผู้สอนและหน่วยงานพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนมีหน้าที่แนะนำและอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ มีหลักสูตรและแหล่งข้อมูลให้ศึกษาอย่างหลากหลาย
Society สังคม
เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตกับทุกคนในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เรียนสามารถเข้าถึง การศึกษาได้สะดวกมากขึ้นผ่านทางออนไลน์ หรือการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์และการสร้างคุณค่าให้สังคมเป็นฐาน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง ผู้คนมีทักษะที่ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเพิ่มขึ้น
Technology เทคโนโลยี
มีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของการเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมต่อตัวผู้เรียนแต่ละบุคคลด้วย AI เทคโนโลยีการเรียนรู้ทางออนไลน์ ระบบบริหารจัดการโรงเรียนด้วยระบบออนไลน์ รวมถึงการ นำเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้ในการเรียนวิชาต่าง ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ เป็นต้น ทำให้ผู้เรียนทุกเพศทุกวัย สนุกกับเนื้อหาและฝึกปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ที่มากขึ้น
Environment สภาพแวดล้อม
พื้นที่ของการเรียนรู้ได้รับการพัฒนาให้สามารถเรียนรู้ได้เต็มที่ไม่ว่าอยู่ในหรือนอกห้องเรียน มีการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถานประกอบการและชุมชนเพิ่มขึ้น พื้นที่ในเมืองทุกแห่งได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา สถานที่เรียนรู้ในเมืองมีจำนวนมาก หลากหลายรูปแบบ ผู้คนทุกกลุ่มในสังคมสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่มีข้อจำกัด
 
Economy เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น แรงงานทุกช่วงวัยมีการพัฒนาทักษะของตนเองให้สอดรับกับรูปแบบการทำงานในอนาคต มีการพัฒนาธุรกิจด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพ รวมถึงสถาบัน การศึกษาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรใหม่และหลากหลาย ร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชน
Policy นโยบาย
ประเทศไทยมีนโยบาย “Learning for All” สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดการเรียนรู้ โดยกระจายอำนาจให้สถาบันการศึกษาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมจัดหลักสูตรที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนรายบุคคล มีนโยบายส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้วัยแรงงานพัฒนาทักษะตนเอง ส่งเสริมองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมให้มีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้ให้คนไทย ผู้เรียนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย
Values คุณค่า
สังคมให้ความสำคัญต่อการผสมผสานการเรียนรู้ไปกับทุกมิติ ทุกพื้นที่ และทุกเวลาของการใช้ชีวิต คุณค่าต่อวุฒิการศึกษาลดลง ผู้เรียนจึงสามารถเลือกเรียนหรือฝึกทักษะได้อย่างเต็มที่ ความกดดันและการแข่งขันต่อการเรียนรู้ลดลง ส่งผลให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนและการทำงานเพิ่มมากขึ้น
Scenario 4 : DESIGN YOUR IDEAL LIFE
ผู้เรียนรู้สึกมีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ เนื่องจากสามารถเรียนรู้ตามความถนัดและความสนใจของตนเองได้อย่างเต็มที่ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดกับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเองขั้นสูงสุดและการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยวางแผนการเรียนเฉพาะบุคคล
พื้นที่ในเมืองได้รับการออกแบบให้ส่งเสริมการเรียนรู้และมีพื้นที่กิจกรรมที่สามารถเรียนรู้และต่อยอดการทำงานได้ตรงความสนใจและเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างเต็มที่ ตลาดแรงงานเปิดกว้างต่อการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ ผู้คนกลายเป็นผู้สร้างสรรค์งาน (Job creator) สังคมไม่มีการตัดสินจากวุฒิการศึกษา สื่อการเรียนรู้ หลักสูตร และรูปแบบการเรียนรู้มีให้เลือกหลากหลาย การเรียนรู้เกิดได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา สำหรับผู้คนทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ไม่มีข้อจำกัด
Society สังคม
การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งทางออนไลน์และสถานที่จริง มีแหล่งการเรียนรู้ในประเทศหลากหลายรูปแบบ ทุกคนสามารถเป็นผู้เรียนรู้และผู้มอบความรู้ให้ผู้อื่นได้
Technology เทคโนโลยี
มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมทางการศึกษามาส่งเสริมและบริหารจัดการการเรียนรู้และพัฒนาทักษะสำหรับผู้คนทุกช่วงวัยตลอดชีวิต ผ่านการวิเคราะห์ความสนใจของผู้เรียนรายบุคคล ผู้เรียนสามารถร่วมออกแบบการเรียนรู้ ตลอดชีวิตของตนเพื่อการค้นพบตนเองและนำทักษะไปใช้ต่อยอดในการทำงานได้เต็มที่ ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ทำให้เกิดเทคโนโลยีการเพิ่มความสามารถของสมองที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ จดจำ คิด และนำความรู้ไปใช้ต่อยอดได้มากขึ้น
Environment สภาพแวดล้อม
พื้นที่ของการเรียนรู้ได้รับการพัฒนาให้สามารถเรียนรู้ตามความสนใจของตนเองอย่างมีความสุขได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกห้องเรียนของสถาบันการศึกษาหรือสำนักงาน บทบาทของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกับสถานประกอบการ ชุมชน และผู้เรียนรายบุคคลเพิ่มขึ้น พื้นที่ในเมืองมีจำนวนมากเป็นพื้นที่กิจกรรมที่สร้างสรรค์และปลอดภัย สำหรับให้ผู้คนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ได้ทดลองทำสิ่งที่ตนเองรัก และพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตนเองได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมโดยไม่มีข้อจำกัด
Economy เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัว มีรูปแบบของนวัตกรรมและธุรกิจรูปแบบใหม่มากขึ้น เนื่องจากผู้คนสามารถเรียนรู้ พัฒนาตนเองและทำงานในสิ่งที่ชอบได้ จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมและโครงการเพื่อสังคมออกมามากมาย
Policy นโยบาย
รัฐบาลประกาศนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้แห่งชาติ มีการพัฒนาสื่อ หลักสูตร และเพิ่มแหล่งเรียนรู้ร่วมกับบริษัทเอกชน สตาร์ทอัพ รวมถึงชุมชน ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้เต็มที่ ทั้งพื้นที่ที่สถานศึกษา ออนไลน์ และชุมชน
Values คุณค่า
ผู้คนในสังคมมีทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เป็นทั้งผู้เรียนรู้และผู้แบ่งปันความรู้ การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกของคนทุกวัยนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่าย การเรียนรู้ช่วยให้ค้นพบตนเอง สามารถค้นพบความหมายของชีวิต ได้นำทักษะความรู้ที่ได้รับไปสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นในสังคมต่อไป
GUIDE TO ACTION
ข้อเสนอสู่การปฏิบัติ
ภาครัฐ
1. พัฒนานโยบาย กลยุทธ์ และกฎหมายเพื่อส่งเสริมอนาคตของการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงสภาพสังคม ตลาดแรงงาน แนวโน้มและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ความสนใจของผู้เรียน และบทบาทของการศึกษาในการสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจประเทศไทย
2. ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนรู้สำหรับผู้คนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยอย่างเสมอภาค กระจายอำนาจการบริหารการศึกษาสู่ท้องถิ่น
3. ส่งเสริมความร่วมมือและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาทั้งในและนอกระบบ สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์การทำงานจริง
4. ส่งเสริมนวัตกรรมการศึกษาและความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการเรียนการสอน สนับสนุนการทดลองและแนวทางการเรียนการสอนใหม่ ศึกษาและทดลองการนำเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มาประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ การทำโครงงานศึกษา และการเรียนรู้ส่วนบุคคล
5. ลงทุนในระบบโครงสร้างการจัดการข้อมูลการศึกษาเฉพาะบุคคล ยกระดับขีดความสามารถในการจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ระดับประเทศโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูล
6. ส่งเสริมสวัสดิภาพของผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษา การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในสถาบันการศึกษาให้ทุกคนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ภาคเอกชน
1. พัฒนาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ร่วมพัฒนาหลักสูตรและแผนพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
2. ส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรภายในองค์กรให้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันและเตรียมความพร้อมสู่อนาคต
3. สร้างโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับพนักงาน เสนอโปรแกรมฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพบุคลากร สนับสนุนการมีส่วนร่วมของพนักงานในการศึกษาต่อและการพัฒนาเส้นทางอาชีพ
4. ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม
5. ส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบเปิดเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม
ชุมชน
1. ขยายการเข้าถึงทรัพยากรการเรียนรู้ในชุมชน ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สถานประกอบการ ภาครัฐ และองค์กรท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่ดีได้อย่างทั่วถึง
2. ปรับปรุงพื้นที่ในชุมชนโดยมุ่งเน้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้คนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย
3. ให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบชุมชน พื้นที่สร้างสรรค์และแหล่งนวัตกรรมการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยออกแบบพื้นที่ ผลิตภัณฑ์ กิจกรรม และบริการ เพื่อให้ผู้คนในชุมชนสามารถนำไปใช้ต่อยอดและสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้
4. รวมกลุ่มผู้คนในสังคมเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ สร้างแนวทางการมีส่วนร่วมในการออกแบบพัฒนา และสนับสนุนการเรียนรู้ภายในชุมชน
5. กระตุ้นให้คนในชุมชนมีมุมมองที่ดีและรักที่จะเรียนรู้ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เชิงบวก และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้สำรวจความถนัดและความสนใจของตนเอง
ประชาชน
1. หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม พัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่ออนาคต เพื่อให้สามารถปรับตัวและพร้อมรับมือต่อทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
2. ทำความรู้จักและเข้าใจตนเอง ค้นหาความชอบและความสนใจของตนเอง เพื่อให้ทุกการตัดสินใจ การเลือกใช้ชีวิต และการใช้ทรัพยากรการศึกษาคุ้มค่าและก่อประโยชน์ต่อตนเองและสังคมสูงสุด
3. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตามความสนใจในสังคม
4. ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ในชุมชนตามความเชี่ยวชาญและความสนใจ มีส่วนร่วมในการออกแบบและจัดการเรียนรู้ในชุมชนและสังคม
ติดตามอ่านฉบับเต็มได้จาก: https://www.futuretaleslab.com/articles/futureoflearningscenarios
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofLearning #FuturesandBeyond #WellBeing #MQDC
โฆษณา