8 พ.ค. เวลา 08:00 • ข่าวรอบโลก

‘งานซ้ำซากจำเจ’ อาจทำให้วัยทำงานเสี่ยง ‘อัลไซเมอร์’ เพิ่มขึ้น 37% หลังวัย 70 ปี

ทำงานใช้สมองหนักๆ อาจเหนื่อย แต่ดีต่อสุขภาพสมอง! เมื่อการศึกษาชิ้นใหม่ค้นพบว่า การทำงานที่มีลักษณะงานที่ซับซ้อน ต้องคิดวิเคราะห์เยอะๆ และมีความท้าทายทางจิตใจ นอกจากจะเป็นงานที่ให้ผลตอบแทนสูงแล้ว ยังเป็นงานที่ช่วยให้กระบวนการการรับรู้ทางสมองทำงานได้ดี และป้องกัน 'อัลไซเมอร์' เมื่ออายุมากขึ้นอีกด้วย
1
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโล ในประเทศนอร์เวย์ นำโดย “ดร.ทริน เอ็ดวิน” ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารด้านประสาทวิทยาของ American Academy of Neurology ค้นพบว่า
การทำงานที่มีลักษณะงานซ้ำซากจำเจ หรือมีสิ่งกระตุ้นทางจิตใจเพียงเล็กน้อย ในช่วงอายุ 30, 40, 50 และ 60 ปี จะเสี่ยงต่อการเกิดความบกพร่องทางการรับรู้ของสมองเพิ่มขึ้น 66% และมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม หลังอายุ 70 เพิ่มขึ้น 37%
“ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการมีอาชีพที่ต้องใช้กระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีรักษาความทรงจำและกระบวนการทางความคิดในวัยชรา อีกทั้งเราพบว่าสถานที่ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมสุขภาพทางปัญญาของพนักงาน” ดร.ทริน เอ็ดวิน กล่าว
ขณะที่ ดร.ริชาร์ด ไอแซคสัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันโรคระบบประสาทเสื่อมในฟลอริดา (ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัย) กล่าวถึงผลการศึกษาชิ้นนี้ด้วยว่า การมีส่วนร่วมในชีวิตอย่างแข็งขัน การรู้สึกว่ามีเป้าหมายในชีวิต การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และการกระตือรือร้นในการเข้าสังคม เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการป้องกันความเสื่อมถอยของสมองเมื่อเราอายุมากขึ้น
ในทำนองเดียวกับการศึกษาครั้งนี้ ที่แสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมในที่ทำงานอย่างกระตือรือร้น มีประโยชน์อย่างมากในการต่อสู้กับภาวะสมองเสื่อม
“มันก็เหมือนกับการที่เราออกกำลังกายเพื่อพัฒนาร่างกายและรักษากล้ามเนื้อให้แข็งแรง แต่ในกรณีนี้ เป็นการออกกำลังกายทางสมอง ผ่านการทำงานที่น่าสนใจ มีกระบวนการคิดอยู่เสมอ และการมีปฏิสัมพันธ์ในเพื่อนร่วมงานอย่างต่อเนื่องนั้น ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้” ไอแซคสัน กล่าว
อ้างอิง: CNN https://shorturl.asia/D0gBG
โฆษณา