Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thai Burma railway ทางรถไฟสายมรณะ
•
ติดตาม
25 เม.ย. 2024 เวลา 01:17 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ
ถนนประจวบคีรีขันธ์-มะริด ถนนสายยุทธศาสตร์ของกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เส้นทางถนนจากประจวบคีรีขันธ์และมะริดนั้นมีมาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยาหรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ
ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้รุกจากไทยเข้าสู่พม่าผ่านเข้าทางคอคอดกระ กองทัพมุ่งหน้าจากแหลมทางใต้สุดของพม่าแล้วรุกขึ้นเหนือ
ทหารอีกส่วนหนึ่งรุกจากกาญจนบุรีผ่านเส้นทางวังโพ-ทวาย เข้ายึดเมืองทวายได้สำเร็จในช่วงต้นปี 1942
ทหารญี่ปุ่นเดินแถวบนถนนในเมืองทวาย พร้อมกับประชาชนชาวพม่าที่ออกมาต้อนรับ
เมืองมะริดถูกทหารญี่ปุ่นปิดล้อมจากทางเหนือและทางใต้
ด้วยเหตุนี้ทำให้ทหารอังกฤษที่ประจำการที่มะริดต้องอพยพหนีออกจากเมืองทางเรือ
หลังจากนั้นทหารญี่ปุ่นจึงเข้ายึดเมืองมะริดได้ไม่ยากนักและควบคุมพื้นที่ทางใต้ของพม่าได้แทบทั้งหมดในช่วงต้นปี 1942
แต่สถานการณ์ของสงครามได้เปลี่ยนไปในช่วงกลางปี 1944
ทหารญี่ปุ่นในพม่ารุกคืบไปจนถึงชายแดนพม่าและอินเดีย ญี่ปุ่นได้เปิดยุทธการยูโก U-go ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายในการเข้าตีข้ามเทือกเขาบริเวณชายแดนพม่า-อินเดีย เพื่อเข้ายึดที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร
แต่การยุทธในครั้งนี้ญี่ปุ่นประสบปัญหาการส่งกำลังบำรุง อาวุธ เสบียงไม่เพียงพอ ทหารที่ไปรบก็ป่วยด้วยโรคภัยเป็นจำนวนมาก ยุทธการนี้เป็นจุดเปลี่ยนของสงครามในสมรภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ญี่ปุ่นพ่ายแพ้และต้องถอยทัพ ในระหว่างการถอยกองทัพอังกฤษและอินเดียก็ได้ทำการรุกไล่บดขยี้ทหารญี่ปุ่น จนกองทัพญี่ปุ่นเสียหายอย่างหนัก
ทหารญี่ปุ่นที่เดินทางถอนทัพหลังจากพ่ายศึกที่ Imphal และ Kohima
ทหารญี่ปุ่นพยายามวางแนวตั้งรับตามริมแม่น้ำสายสำคัญต่างๆเพื่อหยุดยั้งกองทัพอังกฤษและอินเดีย แต่ก็ทำได้เพียงชะลอทัพของทั้งสองให้ช้าลงเท่านั้น
สถานการณ์ทางตอนเหนือของพม่าย่ำแย่
เมื่อสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ทางใต้ของพม่าต้องเตรียมความพร้อมในการต่อสู้กับกองทัพอังกฤษที่อาจจะทำการยกพลที่มะริดหรือทวาย หรือพื้นที่ชายทะเลทางใต้ของพม่าทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน ในช่วงปี 1944 จนถึงช่วงปลายสงครามนั้นเส้นทางขนส่งยุทธปัจจัยหลัก เช่นเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า(เส้นทางรถไฟสายมรณะ) หรือเส้นทางรถไฟคอคอดกระ ถูกทิ้งระเบิดรบกวนทำให้การขนส่งยุทธปัจจัยไม่สะดวก ประกอบกับทางรถไฟทั้งสองเส้นทางไม่ได้อยู่ใกล้กับเมืองมะริดและทวายมากนัก
ญี่ปุ่นจึงได้มีคำสั่งให้สร้างถนนสายยุทธศาสตร์ขึ้นระหว่างทางภาคตะวันตกของไทยกับภาคใต้ของพม่า ก็คือเส้นทางวังโพ-ทวาย และอีกเส้นทางคือประจวบ-มะริด
หลักๆคือใช้ส่งกำลังบำรุงให้กับทหารญี่ปุ่นโดยส่งจากไทยข้ามชายแดนไปฝั่งพม่า พร้อมกันนั้นเส้นทางนี้ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือ หากกองทัพอังกฤษโจมตีทหารญี่ปุ่นที่ประจำการทางใต้ของพม่า แล้วถ้าหากทหารญี่ปุ่นไม่สามารถต้านทานได้ เส้นทางนี้จะถูกใช้ในการถอนทัพกลับเข้าสู่ประเทศไทยต่อไป
อาคารที่พักค่ายเชลยศึกแห่งหนึ่งที่ประจวบคีรีขันธ์
ในช่วงเมษายนปี 1945
ญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกประมาณ 1,500 คน จากค่ายเชลยศึกนครปฐม เดินทางด้วยรถไฟไปยังประจวบคีรีขันธ์
ผมเข้าใจว่าเชลยศึกลงจากรถไฟที่สถานีรถไฟหนองหินซึ่งอยู่ทางใต้ของ อ.เมือง ประจวบคีรีขันธ์
หลังจากนั้นก็มีการเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร การเดินนั้นต้องเดินผ่านด่านสิงขรเข้าไปในแดนพม่า ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 วัน เมื่อถึงบริเวณค่ายที่พักก็พบว่าที่พักนั้นสภาพแย่ตัวกระท่อมไม่มีหลังคามุง
ซึ่งดูสภาพแล้วเป็นค่ายเก่าของกรรมกรเอเชียที่มีการมาตั้งค่ายก่อนหน้านี้และได้ย้ายไปสร้างถนนช่วงที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนพม่า
มีกรรมกรเอเชียจำนวนมากที่ถูกส่งมาสร้างขยายและปรับปรุงถนนจากประจวบไปมะริด ก่อนการมาของเชลยศึก
จำนวนนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่เข้าใจว่ามีจำนวนมากกว่าเชลยศึกหลายเท่า และเป็นส่วนกำลังหลักในการก่อสร้างขยายถนนสายนี้
เนื่องจากข้อมูลของพวกกรรมกรเอเชียไม่ได้ถูกบันทึกในเอกสารต่างๆ ส่วนมากจะเป็นคำบอกเล่าเรื่องราวจากผู้รอดชีวิตแบบปากต่อปากจึงทำให้ข้อมูลค่อนข้างหายากและเลือนหายไป
แต่ให้เข้าใจได้เลยว่า หากเชลยศึกบันทึกว่าความเป็นอยู่ของพวกเขาในการก่อสร้างถนนสายนี้ยากลำบากอย่างไร
ความลำบากยากแค้นของกรรมกรเอเชียนั้น ลำบากมากกว่าแน่นอนครับ
กลับมาตามบันทึกเชลยศึกกล่าวว่าสภาพการทำงานนั้นค่อนข้างยากลำบากไม่แพ้กับการสร้างทางรถไฟสายมรณะ
คือจะต้องสร้างขยายถนนเดิม(เข้าใจว่าคือเส้นทางคนเดินหรือทางเกวียน)ให้เป็นถนนที่มีความกว้างพอที่ยานยนต์ทางทหารจะวิ่งผ่านไปได้ ก็คือประมาณ 3 เมตร
เส้นสีม่วงคือเส้นทางถนนในอดีตตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และผมคาดว่าญี่ปุ่นก็เข้ามาปรับปรุงขยายถนนเดิมให้ใหญ่และดีขึ้นครับ
การสร้างและขยายถนนนั้นจำเป็นจะต้องโค้นต้นไม้ ขุดกอไผ่ เอาหินกรวดมาถมถนนตลอดจนปรับถนนให้เรียบ และจะต้องสร้างสะพานข้ามลำห้วยต่างๆเป็นระยะๆ
และเช่นเดิมการขนส่งอาหารสำหรับเชลยศึกและแรงงานที่ก่อสร้างถนนเส้นนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก อาหารจึงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เชลยศึกและแรงงานมีอาการของโรคขาดสารอาหาร ยาป้องกันมาลาเรียก็ไม่เพียงพอ เชลยศึกจึงป่วยเป็นไข้ป่ากันจำนวนมาก
ผมเข้าใจว่าเชลยศึกที่ถูกเกณฑ์มานั้นทำการสร้างเส้นทางในช่วงบริเวณก่อนถึงด่านสิงขรไปจนถึงด่านแดนน้อย ประมาณระยะทาง 50 กิโลเมตร (เนื่องจากแผนผังที่เชลยศึกได้วาดไว้สุดที่บริเวณด่านแดนน้อย แต่ถนนไปยังมะริดยังเป็นระยะทางอีกไกล)
ด้วยสภาพการทำงานกลางป่าดงดิบ อาหารและยาที่ไม่เพียงพอ
ตลอดจนการทำงานก่อสร้างถนนที่ใช้แรงงานอย่างหนักมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เชลยศึกที่อ่อนแออยู่แล้วป่วยและเสียชีวิตลง
ในการก่อสร้างถนนยุทธศาสตร์ประจวบคีรีขันธ์-มะริด มีเชลยศึกประมาณ 250 คนเสียชีวิต
หลังจากที่ผมตรวจสอบภาพวาดของเชลยศึกที่ระบุจุดตำแหน่งค่ายต่างๆของพบว่า บริเวณทางใต้ของเขาคันหอก ก่อนที่จะถึงด่านสิงขร จะมีค่ายทหารญี่ปุ่นที่เป็นที่เก็บอาหารและเสบียง
มีค่ายเชลยศึกตามเส้นทางที่เลยออกจากตัวด่านสิงขรจนถึงด่านแดนน้อย(ด่านแดนน้อยคือด่านชายแดนสยามกับพม่าในอดีตก่อนที่จะมีการปักปันเขตแดนกับอังกฤษทำให้ชายแดนเข้ามาอยู่ตรงด่านสิงขรในปัจจุบัน
จุดที่เป็นด่านแดนน้อยหรือ Negyadaung Pass
https://maps.app.goo.gl/5pQMupFPBSFPR5My9
)
เพราะฉนั้นค่ายเชลยศึกต่างๆ ส่วนมากอยู่ในเขตพม่าครับ
แต่เส้นทางถนนนั้นยังมีต่อจากด่านแดนน้อยไปอีกนะครับ แต่จนถึงปัจจุบันผมยังหาบันทึกเส้นทางต่อจากด่านแดนน้อยได้ไม่ชัดเจนนัก
แผนที่เส้นทางรถไฟสายมรณะและถนนมะริดอยู่ด้านล่าง ภาพจาก COFEPOW
จากการศึกษาแผนที่เก่าหลายฉบับ พอทราบคร่าวๆว่า เส้นทางนี้น่าจะเป็นเส้นทางที่ออกจากด่านแดนน้อยไปที่เมืองสิงขร หรือ Theinkun ในภาษาพม่า
หลังจากนั้นก็จะไปที่เมืองตะนาวศรีหรือ Tenasserim แล้วก็ไปที่เมือง Yebaw แล้วไปที่ Zawe แล้วผ่านหมู่บ้านSalun ไปที่เมือง Sandawut แล้วก็ถึงเมืองมะริดหรือ Mergui
เนื่องจากกองทัพอังกฤษไม่ได้เปิดฉากยกพลขึ้นบกหรือรุกลงมาทางใต้ของพม่า และในภายหลังญี่ปุ่นยอมแพ้เสียก่อน
เส้นทางนี้จึงไม่ค่อยได้ถูกใช้งานมากเท่าใดนัก การบันทึกข้อมูลจึงไม่มีให้พบเห็นได้เช่นกัน
และที่สำคัญพื้นที่ที่เลยจากด่านแดนน้อยไปนั้นเป็นแรงงานกรรมกรเอเชียชาวทมิฬ(คาดว่ามีคนไทยรวมอยู่ด้วย)ที่รับหน้าที่ก่อสร้างจึงคาดว่าคงไม่มีการบันทึกใดๆ แบบที่เชลยศึกที่บันทึกเรื่องราวเส้นทางระหว่างประจวบคีรีขันธ์ จนถึงด่านแดนน้อย
ส่วนสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือบริเวณที่เคยเป็นสุสานของเชลยศึกสัมพันธมิตรที่ถูกเกณฑ์มาสร้างถนนสายนี้ พวกที่เสียชีวิตถูกฝังไว้หลายแห่ง เช่นที่สุสานในบริเวณค่ายกิโลเมตรที่ 12 , สุสานใกล้กับสถานีรถไฟหนองหิน , สุสานของค่าย Minoa , สุสานค่าย Tagari , สุสานคลองวาฬ แต่ศพทั้งหมดได้ถูกเก็บกลับไปฝังที่สุสานที่ตัวเมืองกาญจนบุรีทั้งหมดครับ
สุสานของเชลยศึกที่ประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งค่ายและบริเวณสุสานผมเองไม่มีข้อมูลมากกว่านี้ และส่วนตัวคงหาโอกาสลงไปสำรวจยาก คงต้องอาศัยพี่ๆน้องๆที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์หรือจังหวัดใกล้เคียงที่มีความสนใจในเรื่องนี้ทำการสืบค้นต่อยอดจากข้อมูลชุดนี้ต่อไปนะครับ
ท่องเที่ยว
ประวัติศาสตร์
การศึกษา
1 บันทึก
4
5
1
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย