25 เม.ย. เวลา 02:31 • การศึกษา

“ส้วม 9,700 โรงเรียนกับวุฒิภาวะของครู”

ออกมาอีกระลอกนโยบาย
(เพิ่งนึกได้)“สุขาดีมีความสุข” ร.ร.มีเด็ก 10-80 คน จำนวน9,700โรง เอาไปเลยโรงละ 10,000บาท ”ปรับปรุงซ่อมแซมส้วม“ให้ใช้แล้วมีความสุข อุตส่าห์ลงทุนไปตั้ง 100ล้านบาท พร้อมกำชับว่า
“เพื่อความเท่าเทียมกัน ครูต้องใช้ส้วมร่วมกับนักเรียน“
นับเป็นนโยบายที่ต้องการสร้างสุขให้นักเรียนจริงๆ
เรื่องส้วมนี้โรงเรียนเขาปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งมานานนับสิบปีแล้ว ถึงขั้นประกวดกันระดับประเทศทั้งโรงเรียน วัด ส่วนราชการและหน่วยงาน ใช้ทุนรอนที่จัดให้และหาเพิ่มกันเองหมดไปไม่รู้เท่าไร เพื่อตอบโจทย์ “ส้วมสุขสันต์”
เงิน 10,000 บาทที่แต่ละโรงได้รับมันพอมือหรือไม่? บางแห่งสภาพดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้ บางแห่งโทรมทะโรคก็ควรจัดเต็มมากน้อยตามจำเป็น เชื่อมั่นว่างานนี้ รร.เหนื่อยหอบแน่ที่จะต้องหาเงินเพิ่ม ครูเดินผ่านบ้านใครต่างพากันหลบวูบ เหมือน“ผีหนีซองผ้าป่า”เข้าไปแล้วเพราะถูกนินทาว่า “มาทีไรก็มีแต่..เตารีดและคันไถ”
ที่น่าเห็นใจคือ ครูกับเด็กต้องเท่าเทียมกันด้วยการ”ใช้ส้วมด้วยกัน“ ทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม แต่ถ้าไปดูตามห้าง/ปั๊ม เขามีส้วมเด็ก/ส้วมผู้ใหญ่ แต่โรงเรียนให้ใช้ร่วมกัน ดูเหมือนดี ”เอาใจเด็กแต่ขัดใจครู“ เรื่องเช่นนี้ครูเขารู้อยู่แล้วว่า ”ควรทำอย่างไร”ให้ครูเขาคิดเองบ้างก็ได้ บอก/สั่ง(แต่บอกแค่แนะนำ)ไปทุกเรื่องจนครูจะคิดกันไม่เป็นอยู่แล้ว
สไตล์การบริหารคนตาม ระดับ“วุฒิภาวะ”
-ต่ำ : ใช้วิธีบอก/สั่ง
-พอใช้ :ใช้วิธีขายความคิด
-ดี : ใช้วิธีการมีส่วนร่วม
-ดีมาก: ใช้วิธีมอบอำนาจ
วุฒิภาวะของครูน่าจะอยู่ในระดับ “ดีและดีมาก” คงไม่อยู่ในระดับ “ต่ำ”เป็นแน่
**ภิรมย์ นันทวงค์ เขียน
โฆษณา