25 เม.ย. เวลา 08:12 • ประวัติศาสตร์
กรุงเทพมหานคร

มโหรคะ นาคจำพวกที่่ไม่มีพิษตามคติพุทธนิกายมหายานญี่ปุ่นและจีน... #摩睺羅伽(まごらが)(Mahoraga)

คนไทยจะคุ้นเคยกับพญานาคและนาคกันดีอยู่แล้วเพราะเป็นธรรมบาลผู้ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ทั้งพญานาคและนาคล้วนเป็นงูใหญ่ที่มีฤทธิ มีหงอนมงกุฏ มีพิษ มีเทวฤทธิ์ดุจเทวดา เป็นสัตว์เดรัจฉานที่สามารถแปลงกายได้ มีความเป็นอยู่เกือบเหมือนเทวดา และแน่นอนในทางพุทธ พญานาคไม่ใช่ความเชื่อ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตประเภททิพยภาวะ อยู่ในอีกมิติหนึ่ง คนละมิติกับโลกมนุษย์เรา
พญานาคเป็นสัตว์มีฤทธิ์ในคติของศาสนาฮินดูและพุทธทั้งเถรวาทและมหายาน เป็นตัวแทนของสายน้ำและพิษสง เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของธาตุน้ำและธาตุไฟ พ่นได้ทั้งไฟและทั้งน้ำ พวกพญานาคจะมีบุญญาธิการมากกว่าพวกนาค พวกพญานาคจะพ่นประทีปไฟได้ เหมือนตอนที่มารอรับเสด็จพระพุทธองค์ลงมาจากไปธรรมเทศนาที่ดาวดึงส์ แต่พวกนาคจะมีพิษร้ายอย่างงูเท่านั้น พ่นประทีบมิได้
แต่ในคติความเชื่อของชาวพุทธมหายาน โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ยังมีอมนุษย์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นกึ่งมนุษย์กึ่งเดรัจฉาน(ในศาสนาพุทธเถรวาทไม่มีกึ่งมนุษย์กึ่งเดรัจฉาน มีแต่เดรัจฉานมีฤทธิ์ที่มีรูปร่างเป็นกึ่งคนกึ่งสัตว์เฉยๆ เช่น พวกนรสิงห์ พวกกินรี) ซึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งงูหลามมีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า มาโงะระกะ(摩睺羅伽/まごらがที่มาจากคำภาษาสันสกฤตว่าMahoragaแปลว่าผู้เป็นใหญ่แห่งงู)
มาโงะระกะเป็นอดีตเทพปีศาจที่ผันตัวมารับนับถือพุทธศาสนา แต่เดิมเคยเป็นเทพเจ้าแห่งงูที่ไม่มีพิษในศาสนาฮินดูยุคฤคเวท พุทธาจารย์ฝ่ายมหายานได้จาระว่าเหล่ามโหรคะเกิดความเลื่อมใสในพุทธมหายานจึงขอเข้ามาเป็นพุทธศาสนิกเทพ ธรรมบาลประจำศาสนาพุทธ ลักษณะของเหล่ามโหรคะจะผิดกับนาคและพญานาคตรงที่มีลำตัวเป็นมนุษย์ มีไหล่ มีกล้าม มีแขนมีมือ แต่มีศีรษะเป็นงูหลาม ท่อนล่างก็เป็นลำตัวงูหลาม มีเกล็ดสีเขียวขี้ม้าแวววาว และมีเพียงเพศผู้เท่านั้น
มาโงะระกะมีความสามารถในการผสมพันธุ์ได้ทั้งกับมนุษย์และงูหลาม(ส่วนใหญ่มักผสมกับงูหลาม ลูกที่ออกมาจะเป็นมโหรคะแท้ๆเสมอ) มาโงะระกะมีฤทธิ์น้อยกว่านาคและพญานาค ทำให้ไม่สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์ได้ จึงอยู่ในสภาพกึ่งมนุษย์กึ่งงูตลอดชีวิต แม้จะดูน่ากลัว แต่ก็อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชเช่นเดียวกับพญานาคและนาค จึงถือว่าเป็นเผ่าพันธุ์ฝ่ายสุคติภูมิเผ่าพันธุ์หนึ่ง มีอิทธิฤทธิ์เกือบเท่าเทวดาเช่นกัน แต่มโหรคะก็ยังต้องลักไข่สัตว์อื่นกินเป็นอาหารเพื่อดำรงชีพ ราวกับงูทั่วๆไป
ความน่าสนใจอยู่ที่-แม้พวกมโหรคะจะมีรูปลักษณ์น่ากลัว แต่กลับมีประวัติที่ดีมาก เป็นเดรัจฉานมีฤทธิ์ที่มีจิตใฝ่ธรรมะ ไม่มีมโหรคะตัวใดเป็นฝ่ายอธรรม ในขณะที่พวกพญานาคและพวกนาคจะมีทั้งฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรมแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัดเจน
นอกจากนี้ ในคติฤคเวทและพุทธมหายานนั้น จะถือกันว่ามโหราค มาโงะระกะ หรือ มโหรคะนั้น เป็นเทพแห่งดนตรีและเพลง นักแสดง-นักระบำในสมัยโบราณจึงนิยมบูชากันมาก ว่ากันว่าชาวสวรรค์จะเรียกใช้เหล่ามโหรคะในการบรรเลงดนตรีและร้องเพลงเพื่อขับกล่อม โดยจะมีเผ่าพันธ์ุกินนรอีกเผ่าหนึ่งที่คอยเต้นระบำให้ในลักษณะฉวัดเฉวียนเร้าใจ ส่วนเทพีอัปสราก็จะเป็นฝั่งที่ร่ายรำในลักษณะอ่อนช้อย ตราตรึง สะกดสายตา
นับเป็นกามคุณทางอายาตนะ(ตาหูจมูกลิ้นกายใจ)ที่หาได้อย่างง่ายดายในสวรรค์ชั้นที่ ๑
แต่คนญี่ปุ่นโบราณก็ได้บุคลาธิฐานาภิเษกมโหรคะขึ้นมาในรูปลักษณ์ใหม่ โดยเป็นเทพเจ้าในชุดทรงนักรบโบราณ มีงูพันอยู่รอบศีรษะ และถือเป็นหนึ่งใน "เท็นริวฮะฉิบุชู"(天竜八部衆/てんりゅうはちぶしゅう)หรือ แปดเทพมังกรสวรรค์ เลื่อนขั้นเป็นเทพมังกรอย่างเต็มตัว ดำรงตำแหน่งผู้ปกปักรักษาพระธรรมและพระโพธิสัตว์ ตลอดจนพระพุทธเจ้านับแต่โบราณกาลนานมา แต่จะสังเกตได้ว่าสัญลักษณ์ที่เป็นงูพันรอบศีรษะก็ยังอยู่ แสดงถึงรากเหง้าว่าเป็นงู ไม่ใช่นาคหรือมังกร
ปัจจุบันจะหาคนที่เชื่อในเรื่องมโหรคะในญี่ปุ่นและจีนเห็นทีคงจะเหลือน้อยเต็มทีแล้ว อย่างไรก็ตามสิ่งที่มองไม่เห็น ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มี มิติที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเหมือนกลีบบัวซ่อนชั้น ย่อมซ่อนภพภูมิและชีวิตอันละเอียดในระดับฟิสิกส์ควอนตั้มเอาไว้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปพยายามขวนขวายพบเจอ
เพราะสิ่งที่มีประโยชน์กว่านั้นคือการเข้าถึงแก่นธรรมให้ได้ แล้วก้าวข้ามวัฏสงสารเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาทุกข์ทนในการเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าเหล่ามโหรคะก็คิดเช่นนั้นเหมือนกันจึงปวารณาตนให้กับพระพุทธศาสนานั่นเอง(บทความนี้เขียนโดยแอดนาโค แอดมินเพจเฟซบุ๊ค "ธรรมะแฟนตาซี" สามารถคัดลอกไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องให้เครดิตทางเพจเพื่อจะได้ไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์นะครับ)
โฆษณา