25 เม.ย. เวลา 08:20 • กีฬา

เปิดทุกเงื่อนไข : ทำไม เลสเตอร์ จึงประณาม พรีเมียร์ลีก-EFL ว่า "ไม่ยุติธรรม" ? | Main Stand

ทันทีที่พรีเมียร์ลีกมีการแจ้งข้อหา เลสเตอร์ ซิตี้ เรื่องทำผิดกฎทางการเงิน ภายใต้ชื่อกฎที่หลายคนคงได้เห็นชื่อบ่อย ๆ ในเวลานี้ นั่นคือกฎ "PSR"
2
ประธานสโมสรอย่าง อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ก็ตอบโต้กลับทันทีว่า นี่คือการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม และการใช้อำนาจเกินขอบเขตในการเล่นงานทีมอย่าง เลสเตอร์ ที่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในลีกสูงสุดด้วยซ้ำ
สิ่งที่สะท้อนออกมาเห็นชัดจากกรณีนี้ เราจะเห็นเลยว่า พรีเมียร์ลีก มีการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน เพราะในขณะที่แฟนๆ แสดงความเห็นว่า เคสใหญ่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี เมื่อไหร่จะมีความคืบหน้า แต่ถึงวันนี้ก็ยังเงียบ
ขณะที่เคสทีมอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ กลับมีการเร่งรัดการดำเนินการให้จบภายใน 12 สัปดาห์ ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไรที่ EPL ถึงเอนเอียงได้ขนาดนี้
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ทำไมกฎ PSR ถึงไล่เช็คบิลทีมเล็ก ๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาถึง เลสเตอร์ ในคิวล่าสุด... "ความไม่ยุติธรรม" ที่ว่านี้คืออะไร ติดตามที่ Main Stand
PSR มายังไง ?
PSR มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Profitability and Sustainability แปลตรงตัวคือ "กฎเพื่อการทำกำไรและความยั่งยืน" ของทีมในพรีเมียร์ลีก เดิมทีกฎนี้พรีเมียร์ลีกรับลูกมาจากยูฟ่า ชื่อเดิมคือกฎ FFP โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2013
ตามหลักการเเล้วมันไม่มีอะไรมากไปกว่า "แก่น" ของกฎนี้ นั่นคือการทำให้ทีมในพรีเมียร์ลีก ขาดทุนไม่เกิน 105 ล้านปอนด์ จากผลประกอบการ 3 ปีหลังสุด ... กล่าวคือคุณมีหนี้ได้ แต่ถ้าคุณไม่จัดการหนี้ก้อนนั้นให้น้อยกว่าที่กำหนดไว้
และการขาดทุน-กำไร ในส่วนของกฎ PSR นี้จะใช้แค่การซื้อ-ขาย นักเตะ รวมถึงการจ่ายค่าเหนื่อย - ค่าจ้าง นักเตะและทีมงานส่วนต่าง ๆ ของสโมสรเท่านั้น ส่วนเงินที่แต่ละทีมใช้พัฒนาเยาวชน, โครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามซ้อม, ศูนย์ฝึกเยาวชน, ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ... เงินที่ใช้ในส่วนนี้จะไม่ถูกนับรวมเข้ามาในการตรวจสอบ
2
สำหรับทีมที่ขาดทุนรวมเกิน 105 ล้านปอนด์ จะต้องถูกส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการอิสระเพื่อ ตัดสินคดีดังกล่าวว่าการผิดกฎ PSR หรือไม่
1
ซึ่งการตรวจสอบและตัดสินคดีความผิดกฏ PSR แบบเก่านั้นไม่มีกรอบของเวลามากำหนดว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ทว่าจากกรณีล่าสุดกำหนดการตัดสินกลับถูกแก้ให้จบลงภายใน 12 สัปดาห์ ซึ่งสร้างความงุนงงถึงมาตรฐานที่เกิดขึ้นอย่างมาก
เหตุผลที่เป็นแบบนั้นเพราะ เอฟเวอร์ตัน ทีมที่โดนพรีเมียร์ลีกตัดแต้มในฤดูกาลนี้ ได้ทำผิดกฎการเงิน PSR มานานแล้ว แต่การตัดสินที่ไร้กรอบเวลา นั้นทำให้ล่าช้า และทำให้ผลการตัดสินว่าพวกเขาผิดจริง จึงออกมาช้ากว่าฤดูกาล 2022-23 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พวกเขาทำผิดกฎ PSR จึงทำให้มีการประท้วงกันว่า ทำไมไม่ตัดสินให้จบในฤดูกาลที่เป็นจุดเกิดเหตุ เพื่อความเท่าเทียมกันกับทีมอื่น ๆ ในลีก
ล่าสุดที่กำลังสู้กับเรื่องนี้คือ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่พวกเขาได้ประกาศจุดยืนไปสด ๆ ร้อน ๆ ว่า "นี่คือการกระทำที่ไร้ความเป็นธรรม" ทำไมพวกเขาคิดแบบนั้น ?
ไม่เป็นธรรมอย่างไร ?
อย่างที่บอกว่าการตรวจสอบเรื่องการขาดทุนจะต้องเช็คสถิติ 3 ปีหลังสุดในพรีเมียร์ลีก "ย้ำว่าในพรีเมียร์ลีก" ซึ่งตอนนี้ เลสเตอร์ ไม่ได้อยู่ในพรีเมียร์ลีก แต่พวกเขาเล่นในเดอะ เเชมเปี้ยนชิพที่เป็นลีกรอง
ตามปกติแล้ว หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ หน่วยงานในการดูแลทีมในพรีเมียร์ลีก เป็นหน้าที่ของ EPL ขณะที่หน่วยงานที่ดูแลการแข่งขันในลีกพระรองทั้งหมดของอังกฤษ เป็นหน้าที่ของ EFL ดังนั้น ปัจจุบัน เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เล่นอยู่ในลีกแชมเปี้ยนชิพ จึงอยู่ภายใต้การดูเเลของ EFL
ดังนั้นการที่พรีเมียร์ลีกใช้กฎ PSR มาตัดสิน เลสเตอร์ ในลีกรอง จึงเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่ฝั่ง เลสเตอร์ มองว่าอาจจะเป็นการกลั่นแกล้ง และการตั้งใจ "เอากันให้ตาย" แบบข้ามกฎเกณฑ์ที่ทาง พรีเมียร์ลีกเองนั่นแหละเป็นคนตั้งไว้ มันเลยเป็นคำถามที่ว่า ทำไมถึงมีการดำเนินการข้ามองค์กรแบบนี้
สรุปประเด็นสื่อสาร จะเห็นได้ว่า เลสเตอร์ ประคับประคองบัญชีของพวกเขาจนแทบไม่ได้กระดิกเสริมทัพเท่าที่เงินตัวเองมีเลยด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าส่งผลถึงการตกชั้นเลยทีเดียว
1
ยิ่งในฤดูกาล 2023-24 หรือฤดูกาลปัจจุบันคุณจะยิ่งเห็นภาพความพยายามในการแก้ไขบัญชีติดลบของสโมสรชัดยิ่งกว่า
โดยในฤดูกาลนี้ใน เเชมเปี้ยนชิพ เลสเตอร์ ปล่อยนักเตะที่ขายได้ราคาสูงอออกจากทีมไปถึง 2 คนได้แก่ เจมส์ แมดดิสัน, ฮาร์วีย์ บาร์นส์ และ ทิโมธี่ คาสตาญ ออกไปจากนี้ โดยได้เงินรวมระดับ 100 ล้านปอนด์จาก 3 รายนี้
นอกจากนี้นักเตะค่าเหนื่อยเเพง ๆ ที่ออกไปจากทีมนอกจาก 3 คนที่กล่าวไป ก็ยังมีอีกเยอะที่ทีมได้ระบายเพื่อลดรายจ่ายของทีม อาทิ ยูริ ติเลอมองส์, ไรอัน เบอร์ทรานด์, จอนนี่ อีแวนส์, คักลาร์ โซชุนชู และ อโยเซ่ เปเรซ
เรียกได้วา เลสเตอร์ ปล่อยสตาร์ดังไปเกือบหมดทีมในซีซั่นนี้ เพื่อประคองบัญชีของตัวเองไปพร้อม ๆ กับการบริหารสโมสรเพื่อไปอยูในความสำเร็จในระยะยาว ซึ่งหลายคนก็ราคาถูกมาก บางรายก็ยืมตัวจากทีมอื่นมาใช้
ดังนั้นหากมีการปิดงบประมาณประจำปีของสโมสรในปีนี้ พวกเขาก็อาจจะไม่ต้องโดนตัดสินว่าผิดแบบนี้ก็ได้ ... ยิ่งมีการแก้กฎหมายให้จบใน 12 สัปดาห์ ยิ่งทำให้เรื่องแบบนี้มันไปกันใหญ่ เพราะมันเหมือนกับการเร่งรัดการตรวจสอบและสอบสวน ในขณะที่ เลสเตอร์ ต้องรับกรรมไปเต็ม ๆ เพราะพวกเขาไม่สามารถเอาอะไรมายืนยันความบริสุทธ์ได้เลย เพราะพวกเขาเองก็คาดหวังว่าตัวเลขในปีงบประมาณของฤดูกาล 2023-24 จะเป็นกุญแจหลักในการปราบกฎนี้
เพราะถ้าพวกเขาสามารถเลื่อนชั้นไปได้ด้วยการใช้งบประมาณน้อยนิดขนาดนี้ ในฤดูกาลหน้าพวกเขาก็จะได้เงินสนับสนุน และเงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่จะบวกมาอีกเน้น ๆ การันตีมากกว่า 100 ล้านปอนด์แน่นอน... ซึ่งจุดนี้จะเข้ามาช่วยแก้ตัวเลขในบัญชีได้เน้น ๆ และส่งผลต่อการสร้างทีมในระยะยาวด้วย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ เลสเตอร์ มองว่าพรีเมียร์ลีกตรวจสอบข้อกล่าวหาทั้งหมดแบบไม่เป็นธรรม ยิ่งมีทีมอย่าง แมนฯ ซิตี้ ที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการผิดกฎการเงิน ถึง 115 กระทง กลับยังไม่โดนลงโทษจาก พรีเมียร์ลีก เลยสักครั้ง
"ผมประหลาดใจมากที่พรีเมียร์ลีกดำเนินการต่อเลสเตอร์ ซิตี้ ทั้ง ๆ ที่เลสเตอร์ไม่ได้เล่นในพรีเมียร์ลีกแล้ว โดยฟุตบอลลีกกลับให้ความร่วมมือที่จะลงโทษเราด้วย การกระทำของพรีเมียร์ลีกและฟุตบอลลีกไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลสเตอร์ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาโดยตลอด" นี่คือถ้อยแถลงส่วนหนึ่งของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเลสเตอร์
เช่นเดียวกับ นายโจนาธาน แอชเวิร์ธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมืองเลสเตอร์ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพรีเมียร์ลีก ตั้งคำถามต่อการดำเนินการของพรีเมียร์ลีกต่อสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ว่าไม่มีความโปร่งใสและไม่เป็นธรรม
“เพื่อความโปร่งใส เราขอให้พรีเมียร์ลีกอธิบายขั้นตอนในการพิจารณาของคณะกรรมการอิสระจะเป็นอย่างไร การกำหนดบทลงโทษจะเป็นไปอย่างยุติธรรมและเหมาะสมหรือไม่ และแฟนบอลจะมั่นใจได้อย่างไรว่ากระบวนการนี้มีความยุติธรรมจริง พรีเมียร์ต้องตอบคำถามว่า ได้ดำเนินการให้มีบทลงโทษอย่างเร่งด่วนต่อสโมสรอื่นในพรีเมียร์ลีกที่โดนตั้งข้อหาการผิดกฎทางการเงินนี้เช่นเดียวกับที่ทำกับเลสเตอร์ด้วยหรือไม่?”
มาตรฐาน ทีมใหญ่-ทีมเล็ก?
กรณีของเลสเตอร์นั้น ต่างจากสองทีมดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ เชลซี ที่ถูกพรีเมียร์ลีกสอบสวน และเรื่องราวของสองทีมนั้นยังคาราคาซัง โดยทั้งแมนฯ ซิตี้กับเชลซี พวกเขาถูกตั้งข้อหา ไม่สามารถอธิบายที่มาของรายได้อย่างชัดเจนได้ จนมีข้อสงสัยว่า เจ้าของทั้งสองทีมได้ใช้เงินส่วนตัว อัดฉีดเข้าไปโดยตกแต่งบัญชีให้เป็นรายได้จากผู้สนับสนุนหรือไม่
1
เคสของทีมเรือใบสีฟ้านั้น ถูกตั้งข้อสงสัยมาอย่างยาวนาน ซึ่งแม้พวกเขาจะรอดคมดาบของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า มาได้ เนื่องด้วยขอบเขตของเวลาที่ล่วงเลยมานาน และการได้มาของหลักฐานซึ่งไม่ถูกตามหลักการ แต่การสอบสวนของพรีเมียร์ลีก ไม่มีกำหนดอายุความไว้ อีกทั้งยังมีข้อหาถึง 115 กระทง
ขณะที่ฝั่งสิงห์บลูส์ กลุ่มทุนเจ้าของปัจจุบัน ถึงกับเป็นคนที่ยื่นเรื่องให้มีการสอบสวนเองเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากพวกเขาเพิ่งซื้อกิจการมาจากเจ้าของคนเดิมชาวรัสเซียเมื่อปี 2022 ซึ่งเจ้าของคนเดิมนั้น ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็น "โอลิการ์ก" อภิมหาเศรษฐี นักธุรกิจที่คาดว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือช่องโหว่ ที่ไม่เป็นธรรมสำหรับเลสเตอร์ ซิตี้ เพราะหากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎทางการเงิน ทั้งหมดทั้งมวล ควรอยู่บนมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน แต่อย่างที่เรียนไปว่า กรณีของเลสเตอร์ ซิตี้ กลับถูกตัดสินอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับ PSR ขณะที่ทีมใหญ่อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเชลซี พรีเมียร์ลีกกลับให้ช่องโหว่ในเรื่องที่ไม่มีกำหนดอายุความ นั่นจึงเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามมากพอสมควร ดังที่กล่าวไปข้างต้น
เกมรุมกินโต๊ะ
ถึงตอนนี้มันเหมือนกับการรุมกินโต๊ะแล้ว เพราะมีการพยายามแก้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อพยายามเช็คบิล เลสเตอร์ ซิตี้ ให้ได้ แม้พวกเขาจะเล่นอยู่ในลีกรอง ที่ทาง EPL(พรีเมียร์ลีก) ไม่สามารถล้ำเส้นเข้ามาตัดสินพวกเขาได้
2
แต่ EPL ก็กระตุ้นและกระตุกให้ทาง EFL ที่เป็นสมาคมที่คอยดูแลฟุตบอลตั้งแต่ดิวิชั่น 2 (เดอะ เเชมเปี้ยนชิพ) เป็นต้นไป เข้ามาช่วยจัดการลงดาบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้ เลสเตอร์ ทีมของ "คนไทย" หรือ "ชาวเอเชีย" ที่หลายฝ่ายกำลังมองว่าเป็นเป้าและถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษ
แม้ทางสโมสรจะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูลและตัวเลขในบัญชีก็ตาม จนกลายเป็นมุมมองที่โลกโซเชี่ยลแสดงความเห็นกันอย่างมากว่า ทาง EPL ใช้ดับเบิ้ล สเเตนดาร์ดกับทีมที่มีเจ้าของเป็นคนเอเชียเพียงเท่านั้นหรือ ก็ไม่ต่างอะไรกับการรณรงค์ STOP RACISM ที่รณรงค์กันทั่วโลก แต่พรีเมียร์ลีก กลับทำแบบนี้เสียเอง
ในวันที่พรีเมียร์ลีกเอากฏ PSR มาใช้ในปี 2013 เดวิด โกลด์ ประธานสโมสรของ เวสต์แฮม ถึงกับหลุดพูดออกมากว่า "บางสโมสรโดยเฉพาะทีมเล็ก ๆ มีความกังวลกับกฎเล็กนี้ในตอนที่เปิดโหวต แต่คนส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบ"
ซึ่งตอนนี้ทีมเล็ก ๆ อย่าง เอฟเวอร์ตัน หรือ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่โดนตัดแต้มไปแล้วก็น่าจะรู้สึกแบบนั้น เพราะพวกเขาโดนกฎนี้โจมตีแบบไม่ตั้งตัว และไม่มีเวลาให้เตรียมหลักฐานที่มีความหนักแน่นมากพอมาแก้ต่างได้เลย
ขณะที่ทีมใหญ่ ๆ หลายทีมในพรีเมียร์ลีกนั้นใช้เงินมากมาย อาทิ แมนฯ ซิตี้ ที่มีปัญหาเรื่องการตบแต่งบัญชีมากมายไม่หวาดไม่ไหว หรือ เชลซี กับโปรเจ็กต์พันล้านของ ท็อดด์ โบห์ลี่ย์ กลับไม่โดนตอแย แบบเล่นไม่เลิกเลย
แน่นอนว่าการมีกฎเป็นเรื่องที่ดี แต่การเอากฎมาใช้แต่ละครั้ง ต้องใช้บรรทัดฐานในทางเดียวของทุกคน ทุกชนชั้นในสังคม ... ไม่ใช่ไล่สอยกันแบบหายใจรดต้นคอ แบบก็จะเอาให้ร่วงโดยเร็วที่สุด ทั้ง ๆ ที่สโมสรพยายามให้ความร่วมมือกับทางพรีเมียร์ลีกมาตลอด แต่ตอนสุดท้ายของเรื่องพวกเขากลับถูกช่องโหว่ของกฎที่เกิดขึ้นเล่นงานเป็นพิเศษ ...
เมื่อเป็นเช่นนี้สโมสรจึงประกาศต่อสู้ถึงที่สุดเพื่อยืนยันว่าพวกเขากำลังให้ความสำคัญกับเรื่องกฎการเงินอย่างยิ่งยวด และไม่ได้ผิดกฎ PSR เมื่อการสรุปปีงบประมาณในซีซั่นนี้มาถึง
นี่คือมุมมองของฝั่ง เลสเตอร์ ซิตี้ พร้อมทั้งแฟนบอลชาวไทย ที่พวกเขาก็ต้องการคำตอบดี ๆ จากทางพรีเมียร์ลีก หรือทาง EFL เช่นกันว่าท้ายที่สุดแล้วพวกเขาใช้ไม้บรรทัดเดียวกันในการวัดและตัดสินทุก ๆ ทีมหรือไม่ ? และเป็นการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติหรือไม่?
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา