26 เม.ย. เวลา 11:00 • สุขภาพ

อารมณ์สวิง คุ้มดีคุ้มร้าย ไม่ใช่ "โรคหลายบุคลิก"

โรคหลายบุคลิก หรือ โรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder) เป็นหนึ่งในโรคจิตเวชที่พบเห็นอยู่ในหนัง ละคร หรือซีรีส์หลายเรื่อง
ตัวละครจะมีมีพฤติกรรมแปลกๆ มีหลายบุคลิกหรือหลายนิสัย เหมือนเป็นคนละคนอยู่ในร่างเดียวกัน บางทีตัวละครอาจไปทำร้ายใคร แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา กลับจำเหตุการณ์ไม่ได้เลย ทำเหมือนเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงมีโอกาสพบโรคนี้ได้น้อยมาก แต่โรคนี้เป็นโรคที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของตัวเองและคนรอบข้าง
นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital ให้ข้อมูลว่า โรคหลายบุคลิกเป็นโรคทางจิตเวชรูปแบบหนึ่ง ที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยจะมี บุคลิกหรือ "ตัวตน" มากกว่าหนึ่งบุคลิก
บุคลิกเหล่านี้จะเข้าควบคุมพฤติกรรมในบางช่วงขณะ ซึ่งแต่ละบุคลิกจะมีความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้ผู้ป่วยอาจสูญเสียความทรงจำในระหว่างการเปลี่ยนบุคลิก
สาเหตุของโรคหลายบุคลิก
ขณะนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปชัดเจน สันนิษฐานว่าเกิดหลายปัจจัย คือ
- พันธุกรรม
- ประสบการณ์วัยเด็ก ที่อาจมีเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงมาเป็นเวลานาน เช่น
การโดนทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก หรือสูญเสียคนที่รักไป
เพราะเมื่อผู้ป่วยต้องเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรงทางร่างกายและจิตใจจนไม่สามารถรับมือได้ สมองจึงสร้างกลไกป้องกันตัวเองโดยเปลี่ยนเป็นอีกบุคลิกเพื่อตัดขาดจากความทรงจำและตัวตนเดิม
อาการของโรคหลายบุคลิก
- มีบุคลิกภาพ หรืออัตลักษณ์ 2 แบบขึ้นไป โดยแต่ละแบบแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และผลัดกันแสดงออกมา
- ความทรงจำขาดหาย จำไม่ได้ว่าเคยทำอะไรไป
- ได้ยินเสียงในหัวแต่ไม่ใช่เสียงตัวเอง
- มองกระจกแล้วจำตัวเองไม่ได้
- ช่วงเวลาเปลี่ยนบุคลิกอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ และอาจเกิดขึ้นเพียงนาที ชั่วโมง หรืออาจเป็นวัน ๆ
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคหลายบุคลิก การกำหนดการรักษามักพิจารณาจากอาการ ความรุนแรง และปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ
โดยมากการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นวิธีการรักษาหลัก จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา จะพูดคุยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยได้พูดเกี่ยวกับความทรงจำอันเลวร้ายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย
เน้นการทำความเข้าใจสาเหตุ ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ในอดีต กับอาการในปัจจุบัน ซึ่งบางเหตุการณ์อาจจะถูกตัดขาดจากความทรงจำในปัจจุบันผ่านกลไกทางจิต แต่ยังส่งสามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก โดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ ยังอาจมีการฝึกฝนให้ผู้ป่วยมีทักษะในการจัดการกับปัญหาของตัวเองได้อย่างเหมาะสม
สำหรับการใช้ยา ยังไม่มียารักษาโรคหลายบุคลิกได้โดยตรง แต่จิตแพทย์อาจมีการพิจารณาใช้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาต้านเศร้า สำหรับอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า
การรักษาโรคหลายบุคลิก มักต้องใช้เวลารักษายาวนาน และตัวผู้ป่วยเองก็ควรต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ใช่โรคหลายบุคลิก
โดยปกติแล้วทุกคนสามารถมีอารมณ์ พฤติกรรม ที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานการณ์ได้อยู่แล้ว การที่ใครคนใดคนหนึ่ง มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ดีบ้าง ร้ายบ้าง ไม่ได้แปลว่า คน ๆ นั้น เป็นโรคหลายบุคลิก หรือ ป่วยทางจิตเวช
บ่อยครั้งอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นการตอบสนองที่ "เข้าใจได้" ต่อสถานการณ์ ดังนั้น การพยายามทำความเข้าใจสาเหตุของอารมณ์ พฤติกรรม ที่เกิดขึ้น และเปิดใจรับฟัง จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ มากกว่าการที่จะไปด่วนตีตราว่าป่วยทางจิตเวช
หากเริ่มสังเกตว่าตนเองหรือคนรอบข้าง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ พฤติกรรมของตนเอง ก็สามารถมาปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้ เพื่อรับการประเมินและคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการมาพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ไม่ได้แปลว่า ป่วยทางจิตเวช เสมอไป
#โรคหลายบุคลิก #ตัวตน #จิตแพทย์ #เฮ้วนี้มีเรื่อง #Healthstory
โฆษณา