28 เม.ย. เวลา 02:00 • ธุรกิจ

🐟🎵Big Mouth Billy Bass ปลาร้องเพลงสุดปั่นที่ราชินีอังกฤษยังมีติดปราสาท

ใครที่เป็นสาวกตกปลาอาจจะรู้จักกับกลวิธีการสร้างแบบจำลองที่เรียกว่า Mount กันมาบ้าง ซึ่งเป็นรูปแบบการสตัฟฟ์จำลองเจ้าปลาที่เราตกได้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจของแต่ละคน แต่จะเกิดอะไรขึ้นล่ะหากว่าเจ้าปลานั้นมันสามารถ “ร้องเพลงได้” ? แถมสร้างรายได้มากถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯได้ภายในเวลาแค่ปีเดียวเสียด้วย มิหนำซ้ำยังโด่งดังมากในระดับที่พระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรยังทรงมีประดับไว้ในปราสาทของราชวงศ์อีกต่างหาก
เนื่องในส่งท้ายเดือนแห่งวันโกหกสากล Bnomics จะขอมานำเสนอเรื่องราวของ “ปลาร้องเพลง” สิ่งประดิษฐ์สุดปั่นและแสนฮาที่ชวนให้เราเกาหัวแกร๊ก ๆ ว่าแบบนี้มันก็เป็นธุรกิจได้ด้วยเหรอ
🔴นายโจกับธุรกิจของเล่นไร้สาระสุดฮา
สิ่งประดิษฐ์สุดฮานี้เป็นไอเดียสร้างสรรค์ของชายคนหนึ่งนามโจ เปลเลตติเอรี่ (Joe Pellettiari) บัณฑิต MBA จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ผู้ซึ่งใช้เวลาทำงานเป็นฝ่ายจัดซื้อในห้างสรรพสินค้านานนับสิบปี ก่อนที่จะผันตัวย้ายมาสู่บริษัทใหม่นาม “เจมมี่” บริษัทเล็ก ๆ ที่ผลิตและค้าขายของเล่นประเภท Novelty หรือพวกของเล่นตลก ๆ ไร้สาระ แต่ใครจะรู้เลยว่าความไร้สาระนั้นจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้ในอนาคต
ในปี 1998 บริษัทเจมมี่กำลังอยู่ในช่วงที่ออกสินค้าชิ้นหนึ่งนามว่า “ซันนี่” ซันนี่เป็นของเล่าดอกทานตะวันที่ร้องเพลง You Are My Sunshine (ถ้าใครเคยดูมหา’ลัยเหมืองแร่อาจจะรู้สึกคุ้นเคยกับเพลงนี้เป็นอย่างดีในฐานะเพลงที่นายฝรั่งชอบร้อง) แต่น่าเสียได้ที่มันยังโดนใจลูกค้าไม่พอ ยอดขายจึงไม่ได้ดีเด่นมากนัก แต่สำหรับมุมมองของโจ เขามองว่ามันน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น
เขาจึงเสนอแนวคิดว่า “ทำไมทำแค่ดอกทานตะวันอย่างเดียวล่ะ ทำมันทั้งสวนไปเลยสิ” และนั่นก็นำมาซึ่งซีรีส์ดอกไม้ร้องเพลงได้และแน่นอนว่ายอดขายถือว่าไปได้ดีเลยทีเดียว ทว่าอะไรที่เป็นกระแสมักอยู่ไม่นาน ดอกไม้ร้องเพลงก็เริ่มหมดความนิยมไป ซึ่งโจในขณะนั้นที่ได้เลื่อนขั้นมาเป็นรองประธานของสายพัฒนาตัวโปรดักซ์ จึงต้องคิดหาสิ่งใหม่ที่จะเอามาทดแทนและกระตุ้นยอดของบริษัท
🔴ไอเดียสุดครีเอทจากภรรยาสุดที่รัก
ในช่วงปลายปี 1998 หลังจากกระแสดอกไม้ร้องเพลงเริ่มซาลง โจจำเป็นต้องออกหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เพื่อสร้างสรรค์อะไรที่ฮาและเป็นกระแสได้มากกว่า เขาจึงตัดสินใจที่จะออกเดินทางโร้ดทริปกับ “บาร์บาร่า” ภรรยาสุดที่รักของเขา ในระหว่างที่ทั้งคู่กำลังเยี่ยมชมร้านขายอุปกรณ์เอาท์ดอร์และกิจกรรมกลางแจ้งอยู่นั้น บาร์บาร่าก็เหลือบไปเห็นปลาแบสสตัฟฟ์แปะแผ่นไม้แขวนอยู่บนผนังให้ลูกค้าเลือกซื้อ พลางบอกกับโจว่า “คุณคิดยังไง ถ้าหากว่าปลาสตัฟฟ์มันสามารถร้องเพลงได้”
ทันทีที่ได้ยินไอเดียของภรรยา โจก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันที มันจะฮาขนาดไหนนะ ถ้าหากว่าเจ้าปลาแบสที่แปะอยู่บนผนังมันร้องเพลง “Take me to the river” ให้เราฟัง มันจะไวรัลแค่ไหนกันแน่ ซึ่งแน่นอนว่าไอเรื่องไวรัลนั้นเป็นอะไรที่คาดเดายากมาก ไอเดียปลาร้องเพลง take me to river ของโจจึงเป็นเหมือนกับการวัดดวงว่ามันจะปังหรือมันจะร่วง
🔴บันไดสู่ความสำเร็จของปลาร้องเพลงแห่งอเมริกา
ในปี 1999 ระหว่างที่เขาอยู่ในฮ่องกง โจคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำยังไงให้ปลาร้องเพลงมันป็อปขึ้นมา เขาจินตนาการภาพของปลาที่กำลังขยับปากพะงาบ ๆ ร้องเพลงอยู่นิ่ง ๆ แต่มันก็ไม่โดนใจมากพอ จนในที่สุดเขาก็มาพร้อมกับไอเดียว่า มันจะเป็นยังไงถ้าปลาร้องเพลงมันขยับหัวได้ด้วยล่ะ?
เขาจึงรีบหอบเอางานต้นแบบเดินทางเข้าเมืองจีนเพื่อไปหาวิศวกรของบริษัทที่มีไลน์การผลิตในจีน ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่มากในปลายทศวรรษที่ 90s วิศวกรของบริษัทมารวมหัวกันออกแบบมอเตอร์ที่จะช่วยให้เจ้าปลาขยับหัวหันหน้ามายังผู้ชมพร้อมกับขยับปากร้องเพลงจนสำเร็จ ซึ่งโจมองว่าความแปลกที่ปลามันขยับหัวได้นี่แหละที่จะนำสินค้าตัวนี้ไปสู่ความสำเร็จ
Big Mouth Billy Bass ออกมาเป็นรูปเป็นร่างและถูกสร้างขึ้นมากลางปี 1999 ซึ่งมันเจ๋งมากและเหล่าพ่อค้าก็อยากจะได้มันไปวางขายในร้าน ซึ่งมันเจ๋งจนถึงระดับที่ได้รับรางวัลเลยทีเดียว โดยสินค้าตัวนี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นผ่านการบอกเล่าปากต่อปาก จนในช่วงปลายปี 2000 มันก็กลายเป็นสินค้าสุดฮาที่ใคร ๆ ก็อยากจะซื้อไปเป็นของขวัญฮา ๆ ให้เพื่อน ๆ หรือคนในครอบครัว
ซึ่งมันมีราคารีเซลที่แพงกว่าตัวสินค้ามาก ๆ อย่างไรก็ดี ดังที่เราเคยกล่าวเอาไว้ว่าอะไรที่เป็นกระแสมักอยู่ไม่นาน ในช่วงปี 2001 ปลาร้องเพลงก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงไป เป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่อาศัยกระแสเป็นหลักเพื่อความสำเร็จ โดยกล่าวกันว่าสินค้าชิ้นนี้สามารถทำเงินไปได้กว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐลยทีเดียว
แถมยังเป็นที่นิยมในระดับที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุช หรือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก็ยังเป็นเจ้าของปลาร้องเพลงชิ้นนี้ โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้แขวนเจ้าปลาร้องเพลงนี้ไว้ใกล้ ๆ กับเปียโนในปราสาทบัลโมรัล ในส่วนของนักร้องเจ้าของเพลง Take me to the river ก็ได้รับค่าลิขสิทธิ์จากเพลงดังกล่าวผ่านสินค้าตัวนี้ในระดับที่มากกว่าแหล่งรายได้อื่นอีกด้วย
โจยังคงประดิษฐ์คิดค้นของเล่นสุดฮาอื่น ๆ อีกหลายชิ้นให้กับบริษัทเจมมี่ เช่นหนูแฮมสเตอร์ที่ร้องเพลง Kung fu fighting พร้อมกับควงกระบองสองท่อนเท่ ๆ เป็นต้น จนกระทั่งลาออกจากบริษัทในปี 2010 ทิ้งไว้แต่เพียงชื่อเสียงไว้ในวงการธุรกิจผ่านฐานะของ “ชายผู้คิดค้นปลาร้องเพลง”
ส่วนบริษัทเจมมี่ก็ได้มีการนำเอาสินค้านี้ไปต่อยอดเพื่อที่จะได้ฟื้นคืนมันกลับมาได้ในอนาคต อย่างในปี 2018 ก็ได้มีการจับมือกับอเมซอน เพื่อสร้างให้ Big Mouth Billy Bass สามารถใช้งานผ่านผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง “อเล็กซา” ได้ด้วย ซึ่งก็กลับมาเป็นไวรัลอีกครั้งหนึ่งบนอินเทอร์เน็ตผ่าน Tiktok ของผู้ใช้รายหนึ่งเมื่อช่วงปี 2021 ที่โพสต์วีดีโอ Big Mouth Billy Bass ร้องเพลงพลางขยับหัวและหางเข้ากับจังหวะราวกับเต้นรำอยู่อย่างนั้น
เรื่องราวของโจกับ Big Mouth Billy Bass เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเล่นกับกระแสสังคมเพื่อให้สินค้าเกิดไวรัลขึ้นมา การเล่นกับกระแสเป็นความเสี่ยงประการหนึ่ง การที่มันจะปังขึ้นมาได้นั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคหลาย ๆ อย่าง รวมไปถึงความแปลกใหม่ว่ามันแปลกใหม่มากพอที่จะให้ผู้คนหันมาสนใจได้หรือไม่
ซึ่งความสามารถและความคิดสุดสร้างสรรค์ของโจนี้เองที่ทำให้ Big Mouth Billy Bass ประสบความสำเร็จและกวาดรายได้ไปจำนวนมหาศาลภายในเวลาสั้น ๆ ที่กระแสอันแสนจะสั้นนั้นสามารถครองใจผู้คนได้ ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำธุรกิจกับกระแสชั่วคราวที่มาไวไปไวของมนุษย์
โฆษณา