27 เม.ย. เวลา 11:45 • สุขภาพ

เจาะคำตอบกรมควบคุมโรค น่ากังวลไหม?? ผู้ป่วย "โควิด 19" เพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จนหลายคนเริ่มมีความกังวลว่าจะกลับมาระบาดมากขึ้น หรือจะกลับมามีอาการป่วยรุนแรงหรือไม่
ก่อนอื่นมาดูสถานการณ์กันก่อนว่า แนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
  • ​สัปดาห์ที่ 14 (วันที่ 7 - 13 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโควิดรักษาใน รพ. 849 ราย เฉลี่ย 121 รายต่อวัน เสียชีวิต 4 ราย ปอดอักเสบ 242 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 86 ราย
  • ​สัปดาห์ที่ 15 (วันที่ 14 - 20 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโควิดรักษาใน รพ. 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน เสียชีวิต 3 ราย ปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย
  • ​สัปดาห์ที่ 16 (วันที่ 21-27 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโควิดรักษาใน รพ. 1,672 ราย เฉลี่ย 239 รายต่อวัน เสียชีวิต 9 ราย ปอดอักเสบ 390 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 148 ราย
จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ ทาง นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ออกมาเปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์
จากการวิเคราะห์ของทางกรมควบคุมโรคและการให้ข้อมูลกับสื่อ อาจสรุปได้ว่า สถานการณ์ยังไม่น่ากังวล เพราะเหตุผลดังนี้
  • 1.
    ​โรคโควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี
  • 2.
    ​กลายเป็นโรคประจำฤดูกาล จะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนที่กำลังจะถึงนี้และจะเป็นช่วงเปิดเทอมด้วย ไม่แตกต่างจากโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
  • 3.
    ​ความรุนแรงของโรคโควิด 19 ลดลงอย่างมาก
จากการวิเคราะห์ข้อมูลติดตามย้อนหลังในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราป่วยตายของโรคโควิด 19 ลดลงจาก 0.98% (ปี 2563 - 2564) เป็น 0.04% (ปี 2567) ซึ่งใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ และต่ำกว่าไข้เลือดออก
นพ.ธงชัยกล่าว
4.​ เรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด 19 นี้มากขึ้น มีการตรวจวินิจฉัยที่ดีขึ้น มียารักษาทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรต่างๆ มีวัคซีนป้องกันโรค
5. สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ปัจจุบันคือสายพันธุ์ย่อยของ XBB.1 ซึ่งเป็นลูกหลานของโอมิครอน อาการไม่รุนแรง เป็นเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป
นพ.ธงชัยบอกว่า จากจุดนี้เองอาจทำให้ประชาชนไม่ได้ระวังจึงแพร่เชื้อต่อกันได้ง่าย แต่สิ่งสำคัญคือต้องระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง
จากข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด 19 ทุกรายยังพบว่า เป็นกลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง
สิ่งที่ควรปฏิบัติตัวไม่ว่าจะเป็นช่วงไหน เวลาใด จะมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นหรือน้อยลงก็ตามคือ
1.ประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
2.หากมีอาการคล้ายหวัด ควรทำการตรวจ ATK และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการหายใจลำบากหรืออื่นๆ เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปแพร่สู่กลุ่มเปราะบางในบ้าน
3.กลุ่ม 608 หากมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง
จากคำตอบของกรมควบคุมโรค อาจสรุปได้ว่า เรายังสามารถใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องรู้จักระมัดระวังป้องกันตนเอง หากมีอาการป่วยต้องรีบสวมหน้ากากอนามัย และไม่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง มีอาการที่ดูรุนแรงขึ้นก็ให้รีบพบแพทย์ทันที ไม่ต่างจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ เลย
#โควิด19 #ไข่หวัดใหญ่ #โรคระบาด #กรมควบคุมโรค #เฮ้วนี้มีเรื่อง #Healthstory
โฆษณา