30 เม.ย. เวลา 00:00 • สิ่งแวดล้อม

ต่อไปอาจไม่มีขนมหวานชื่อ ‘ช็อกโกแลต’ โกโก้ขาดแคลน ปลูกไม่ขึ้น บิ๊กแบรนด์ปรับแผน ผลิตขนมอื่นแทน

ปลูกได้น้อย-ราคาสูงต่อเนื่อง สะเทือนผลผลิต “ช็อกโกแลต” สาเหตุหลักโลกร้อน-ความซับซ้อนของตลาดซื้อขายล่วงหน้า ด้านยักษ์ช็อกโกแลตระดับโลกเพิ่มโปรดักต์ใหม่ ใช้ส่วนผสมเทียมแก้เกม Hershey’s-Mars เตรียมดันเยลลี่เป็นสินค้าหลักทดแทน
1
ที่ผ่านมา กระแสข่าวราคาโกโก้ปรับตัวสูงขึ้นจากผลผลิตที่น้อยลงท่ามกลางภาวะโลกเดือดอาจจะยังมาไม่ถึงตัวคนไทยดีนัก ทว่า ประกาศปรับราคาเมนูที่มีส่วนผสมของโกโก้จากแบรนด์ “เต่าบิน” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา คงจะทำให้เริ่มเห็นเค้าลางความเปลี่ยนแปลงชัดเจนกว่าครั้งไหนๆ แม้ว่าตอนนี้โกโก้ และขนมหวานยอดนิยมอย่าง “ช็อกโกแลต” จะยังหากินได้ทั่วไปตามท้องตลาด แต่หากสภาพอากาศยังดุเดือดขึ้นทุกปีเช่นนี้ ก็ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้เราอาจไม่มีช็อกโกแลตให้กินแล้วก็ได้
13
ข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ “โนอา”) ระบุว่า ต้นโกโก้อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2593 หรืออีก 26 ปีข้างหน้า จากอุณหภูมิที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะมีผลทำให้ต้นโกโก้คายน้ำเร็วขึ้น กระทบกับกระบวนการสังเคราะห์แสง และนำไปสู่ผลผลิตที่น้อยลงเรื่อยๆ ในท้ายที่สุด
5
สถานการณ์ผลผลิตน้อย-ราคาสูงของโกโก้ สร้างความกังวลให้กับอุตสาหกรรมยักษ์ขนมหวานระดับโลกมากมายที่เริ่มมีการวางแผนปรับการผลิตให้สอดรับกับอนาคตกันแล้ว รายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่า หลังจากนี้ “บิ๊กแบรนด์” ในอุตสาหกรรมขนมหวานช็อกโกแลตทั้งหลายจะเริ่มหันมาพัฒนาโปรดักต์ขนมหวานรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงการใช้ส่วนผสมที่ให้รสชาติใกล้เคียงกับช็อกโกแลต เพื่อทดแทนวัตถุดิบราคาแพง และมีแนวโน้มจะกลายเป็นของหายาก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุถึงสาเหตุหลักของสถานการณ์โกโก้ขาดแคลนว่า เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในพื้นที่เพาะปลูกฟาร์มโกโก้ขนาดใหญ่ รวมถึงความซับซ้อนของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด ที่เป็นเหตุผลต่อเนื่องจนนำไปสู่ภาวะ “Over demand”
1
แม้โกโก้จะเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตทั่วโลก แต่ฐานการผลิตที่สำคัญกลับมีพื้นที่จำกัด แตกต่างจากพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ที่มีการทำฟาร์มเกษตรเชิงพาณิชย์ขึ้นมาโดยเฉพาะ ทุกวันนี้ฟาร์มโกโก้ได้รับการดูแลและควบคุมโดยเกษตรรายย่อยในแอฟริกาตะวันตก ที่ครองสัดส่วนการผลิตมากถึง 53% ของตลาดโกโก้ทั้งโลก โดยมี “ไอวอรี่ โคสต์” และ “กาน่า” เป็นผู้นำตลาด
1
แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ระยะหลังมานี้ผลผลิตจากทั้งไอวอรี่โคสต์และกาน่ามีสัดส่วนลดลงจากปัญหาความรุนแรงของสภาพอากาศ ทั้งหน้าฝนที่มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก รวมถึงหน้าร้อนที่ทำให้ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งรุนแรงกว่าปกติ ปริมาณฝนที่ชุกชุมกว่าเดิมทำให้เกิดหนองน้ำจำนวนมากภายในไร่ นำไปสู่การแพร่กระจายของโรคพืช อาทิ โรคฝักดำ ไวรัสหน่อบวม ทำให้ฝักโกโก้เน่าเปื่อย และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ต้นโกโก้ตายได้
1
ปัญหาเรื่องค่าแรงต่ำก็เป็นอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน “บลูมเบิร์ก” ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรรายย่อยในไอวอรี่ โคสต์ และกาน่า ได้รับค่าจ้างอันน้อยนิดมานานแล้ว ประเด็นเรื่องค่าแรงส่งผลกระทบเป็นวงกลมทั้งระบบ ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ไม่มีต้นทุนในการกำจัดศัตรูพืช ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิต-ขยายฟาร์มได้ รวมถึงไม่มีแรงจูงใจในการดึงดูดให้คนในพื้นที่ประกอบอาชีพดังกล่าวต่อไป
2
ด้านบิ๊กแบรนด์ผู้ผลิตช็อกโกแลต เมื่อรู้ว่าต้องรับมือกับสถานการณ์ขาดดุลไปอีกนานรวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้น กลวิธีที่เลือกทำก่อน คือลดขนาดสินค้า หรือที่มีชื่อเรียกว่า “Shrinkflation” ขายราคาเดิมแต่ลดปริมาณลงเล็กน้อย โดยมี “Mars” ยักษ์ผู้นำตลาดช็อกโกแลตระดับโลกนำร่องลดขนาดสินค้าลง 10 กรัม พร้อมกับปรับเปลี่ยนหน้าตาบรรจุภัณฑ์ใหม่ ตั้งแต่ปี 2566 โดยไม่มีการลดราคาลงแต่อย่างใด
3
นอกจากนี้ การปรับลดบทบาทของขนมที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต พร้อมผลักดันโปรดักต์อื่นๆ ขึ้นมาเป็นสินค้าทดแทนก็เป็นอีกทางรอดที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่เลือกใช้ เมื่อเร็วๆ นี้ “เนสท์เล่” (Nestle’) เปิดตัวช็อกโกแลตแท่งกลิ่นเฮเซลนัทที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับช็อกโกแลตบาร์ของ “เอโร่” (Aero) ยักษ์ช็อกโกแลตในอังกฤษที่โดดเด่นด้วยขนมเคลือบช็อกโกแลตด้านนอก ส่วนด้านในจะมีความโปร่งนิ่มคล้ายฟองอากาศ ซึ่งโปรดักต์ใหม่ของเนสท์เล่ตัวนี้ยังมีน้ำหนักน้อยกว่า “เอโร่” ประมาณ 1 ใน 3 ด้วย
1
ด้าน “คิทแคท” (Kit Kat) ออกรสชาติใหม่ “Chocolate frosted donut” หากมองผิวเผินก็อาจเป็นเพียงการทำการตลาดใหม่ๆ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า แต่ข้อสังเกตของเจ้า Chocolate frosted donut คือมันถูกเคลือบด้วยช็อกโกแลตเพียงด้านบนเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ทั้งด้านหลังและด้านข้างใช้เนยโกโก้ในการเคลือบเวเฟอร์แทน
“เฮอร์ชีย์” (Hershey’s) ยักษ์ใหญ่ช็อกโกแลตที่มีอายุมากกว่า 130 ปี ได้เปิดเผยแผนการทำงานในการประชุม Consumer Analyst Group ที่รัฐฟลอริดา ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่า บริษัทมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของ “Gummy Candy” หรือขนมหวานประเภทเยลลี่อีก 50% ภายในปีนี้ ซึ่งเฮอร์ชีย์ระบุว่า แผนดังกล่าวจะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ด้วยวิธีการที่ต่างออกไป
“นิค โมดิ” (Nik Modi) หัวหน้าฝ่ายวิจัยผู้บริโภคและการค้าปลีกระดับโลกจาก “RBC Capital Markets” ให้ความเห็นกับบลูมเบิร์กว่า ตอนนี้ทุกคนเริ่มคิดหนักขึ้นมากจริงๆ ว่า จะทำอย่างไรให้สินค้ามีความหลากหลาย และสามารถเพิ่มส่วนแบ่งได้ในสัดส่วนที่มากกว่าช็อกโกแลต เพราะพวกเขา (ผู้ผลิต) เริ่มเห็นแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับราคาโกโก้
1
โมดิ ระบุว่า สิ่งที่บิ๊กแบรนด์หลายเจ้าตั้งเป้าตอนนี้ คือการเป็นผู้นำขนมหวานแบบ “Holistic candy players” หรือผู้เล่นตลาดขนมหวานแบบองค์รวม เพื่อสร้างความหลากหลายมากกว่าการปักหมุดเป็นผู้นำช็อกโกแลตแบบเดิม
อ่านต่อ:
โฆษณา