1 พ.ค. เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

การสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศด้วย FOSS4G: ทำไมเราถึงอยากแนะนำ

ในปัจจุบัน การจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่หรือข้อมูลภูมิศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนการพัฒนาเมือง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จัดการระบบขนส่ง ติดตามการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System หรือ GIS) จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบ GIS สำหรับองค์กรนั้นมีความซับซ้อนและต้องการการพิจารณาที่รอบคอบ
สำหรับ GIS ความจริงคือมันสามารถทำอะไรได้มากมาย แต่คำตอบสั้น ๆ คือ: GIS ช่วยให้คุณสามารถมองเห็นข้อมูลของคุณในรูปแบบแผนที่ได้
ภาพที่ 1 GIS = Maps + Data
สำหรับองค์กรที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ต้องการความยืดหยุ่นในการปรับแต่งซอฟต์แวร์ และมีความเชี่ยวชาญด้านไอทีที่เพียงพอ การเลือกใช้ซอฟต์แวร์ทางภูมิศาสตร์แบบฟรีหรือโอเพ่นซอร์ส (Free and Open Source Software for Geospatial หรือ FOSS4G) ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ขององค์กร และสามารถช่วยในการลดค่าใช้จ่ายได้ โดยในบทความนี้เราจะทำความรู้จักกับระบบ Geospatial Data Platform โดยใช้ FOSS4G และแนวทางการพิจารณานำมาใช้ในองค์กรของท่านกันนะครับ
ภาพที่ 2 Free and Open Source Software for Geospatial หรือ FOSS4G (link)
แพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geospatial Data Platform) คืออะไร?
แพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศ เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อจัดการ วิเคราะห์ แสดงภาพ และแบ่งปันข้อมูลเชิงพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งขององค์กร ช่วยให้องค์กรสามารถรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และทำการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ รวมถึงสร้างแผนที่ได้
สถาปัตยกรรมของแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศ ประกอบด้วย 3 ชั้นหลัก (Layers) ได้แก่
  • 1.
    ชั้นผู้ใช้งาน (User Interface Layer)
  • 2.
    ชั้นแอปพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ (Application Server Layer)
  • 3.
    ชั้นที่เก็บข้อมูล (Data Storage Layer) ในแต่ละชั้นจะมีซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่รองรับการทำงานของระบบ
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมของแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศ (ภาพที่ 3) ที่ใช้ซอฟต์แวร์ FOSS4G อาจประกอบด้วย
  • 1.
    Mapstore2 สำหรับการแสดงผลแผนที่บนเว็บ รวมไปถึงการทำ GIS Dashboard และ Geostory
  • 2.
    GeoServer สำหรับการให้บริการข้อมูลผ่าน API
  • 3.
    PostGIS สำหรับจัดเก็บข้อมูลเวกเตอร์ (ในส่วนของข้อมูลราสเตอร์ เราสามารถจัดเก็บในรูปแบบไฟล์)
  • 4.
    QGIS Desktop สำหรับให้นักวิเคราะห์ข้อมูลสามารถเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลได้
ภาพที่ 3 ตัวอย่างสถาปัตยกรรมของแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศโดยใช้ FOSS4G (link)
ประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อนเลือกใช้ FOSSG
ในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ FOSS4G นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาพแวดล้อมการทำงานขององค์กร เช่น ระบบปฏิบัติการที่ใช้งาน การติดตั้งระบบภายในองค์กรเอง (On-Premise) หรือบนคราวน์ (Cloud) เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความสามารถและฟังก์ชันการทำงานที่ต้องการด้วย
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความต้องการสูง ระบบอาจประกอบด้วยส่วนประกอบที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ระบบสำรองข้อมูลแบบสำรองกันเอง (Self-backup Systems) เพื่อลดปัญหาการหยุดชะงักของระบบ หรือใช้ระบบกระจายภาระงาน (Load Balancer) เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่สูงขึ้น
การนำแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศที่ใช้ซอฟต์แวร์ FOSS4G มาใช้งานนั้นมีข้อดีหลายประการ เช่น มีต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ไม่มีปัญหาการผูกขาดจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใดรายหนึ่ง สามารถกำหนดนโยบายการใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างอิสระตามความต้องการขององค์กร และมีอิสระในการบริหารจัดการต้นทุนในอนาคต เนื่องจากสามารถคาดการณ์ต้นทุนได้อย่างแม่นยำจากการศึกษารหัสซอร์สโค้ด
นอกจากนี้ ยังมีชุมชนพัฒนาซอฟต์แวร์ FOSS4G ที่มีขนาดใหญ่และแข็งแกร่ง ซึ่งช่วยให้การพัฒนาซอฟต์แวร์มีความต่อเนื่องและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้าน FOSS4G จำนวนมากทั่วโลกที่สามารถให้บริการฝึกอบรม ปรึกษา และพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มเติมได้ตามความต้องการ
อย่างไรก็ตาม การนำ FOSS4G มาใช้งานก็มีข้อจำกัดและความท้าทายบางประการ เช่น การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างที่ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมีให้ ความจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการต้องบริหารจัดการระบบด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการวางแผนและเตรียมความพร้อมที่ดีบทสรุป
โดยสรุปแล้ว การสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศด้วยซอฟต์แวร์ FOSS4G เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่ต้องการความคล่องตัวและการเป็นเจ้าของข้อมูลและระบบอย่างแท้จริง แต่ก็ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและทรัพยากรที่เหมาะสมเพื่อให้การนำระบบมาใช้งานประสบความสำเร็จ
ท้ายสุดแล้วทางก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้งาน FOSS4G อยากจะฝากข้อคิดสำหรับการพิจารณา ดังต่อไปนี้
  • ศึกษาความต้องการใช้งานของคุณอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจเลือกซอฟต์แวร์ GIS
  • พิจารณาข้อดีและข้อเสียของ FOSS4G เทียบกับซอฟต์แวร์ GIS เชิงพาณิชย์
  • ทดสอบใช้งาน FOSS4G ก่อนตัดสินใจใช้งานจริง
  • หาผู้เชี่ยวชาญ FOSS4G ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
สำหรับท่านใดที่สนใจหรือมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลภูมิสารสนเทศด้วยซอฟต์แวร์ FOSS4G ทางเรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คำปรึกษา และท้ายที่สุดนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะครับ
บทความโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์
ตรวจทานและปรับปรุงโดย วีรภัทร สาธิตคณิตกุล
โฆษณา