12 มิ.ย. 2024 เวลา 04:03 • สิ่งแวดล้อม

ไฟป่า-ภูเขาไฟระเบิด สาเหตุหลัก ทำลาย ‘ชั้นโอโซน’ ป้องกันยูวีไม่ได้ สัตว์ขั้วโลกเร่งปรับตัวหนีแสงแดด

“ชั้นโอโซน” ที่ทำหน้าที่เป็นม่านบังแดดให้โลกกำลังอ่อนแอ จากการเกิดไฟป่า-ภูเขาไฟระเบิด จนเกิดเป็น “หลุมโอโซน” ส่งผลให้รังสียูวีสามารถทะลุผ่านลงมาได้ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ในขั้วโลกใต้ มีผิวไหม้ ตาเป็นต้อ เร่งทางปรับตัวสู้แสงแดด
รังสียูวีจาก “แสงแดด” ที่ร้อนแรงในตอนกลางวันสามารถทำร้ายผิวมนุษย์ได้ หากอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ผิวของคนเราจะไหม้เกรียม มีอาการแดงแสบร้อน ซึ่งอาการ “ผิวไหม้แดด” (Sunburn) นี้สามารถเกิดขึ้นกับสัตว์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสัตว์ในขั้วโลกใต้ นักวิทยาศาสตร์พบว่ารังสียูวีกำลังทำร้ายพวกมันเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
☀️ รังสียูวี-แสงแดดส่องเข้าโลกผ่าน “หลุมโอโซน”
“ชั้นโอโซน” อยู่สูงขึ้นไปประมาณ 11-40 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก ทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้รังสียูวีจากดวงอาทิตย์ทั้งหมดส่องมาถึงโลกของเรา เปรียบเสมือนม่านกันแดดของโลก แต่ชั้นโอโซนถูกทำลายจากก๊าซ CFCs ซึ่งใช้ในระบบทำความเย็นและใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระป๋องสเปรย์ ทำให้ทั่วโลกต้องประกาศแบนสารนี้ ปัจจุบันชั้นโอโซนกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ นักวิทยาศาสตร์คาดการว่าสาร CFCs ในชั้นบรรยากาศจะหายไปในช่วงระหว่างปี 2060-2070
แม้ชั้นโอโซนกำลังฟื้นตัว แต่ “หลุมโอโซน” ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีโอโซนปกคลุม ยังคงอยู่ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าในช่วงหลังหลุมโอโซนมีขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และควันจำนวนมากจากไฟป่าในออสเตรเลีย
การสูญเสียโอโซนนั้นเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เนื่องจากปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในเมฆบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำมากและมีบรรยากาศสูงจะเข้าสลายโอโซน จนกลายเป็นวงกว้างในชั้นบรรยากาศ
หลุมโอโซน มักจะขยายวงกว้างที่สุดในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่พืชและสัตว์บนบกส่วนใหญ่อยู่ในฤดูจำศีล ส่วนสัตว์ทะเลมีน้ำแข็งในทะเลขนาดใหญ่ช่วยบดบังรังสียูวีไว้ แต่ตอนนี้หลุมโอโซนเริ่มกินเวลานานขึ้น ยาวมาถึงเดือนธันวาคม เข้าสู่ฤดูร้อนที่แอนตาร์กติกาที่เหล่าสัตว์ในเริ่มออกหากินตามปรกติ
ในเดือนธันวาคม ดวงอาทิตย์จะสูงขึ้นมากในท้องฟ้าของซีกโลกใต้ และทำให้แผ่รังสีที่ลงมาสู่โลกก็สูงขึ้น
ส่งผลให้ระดับรังสียูวีในทวีปแอนตาร์กติกาสูงถึง 14 ซึ่งเป็น “ระดับที่มีความรุนแรงสูงจัด” ที่มีความใกล้เคียงระดับรังสียูวีในช่วงฤดูร้อนที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย
☀️ พืชสัตว์ปรับตัวหนีรังสียูวี
รังสีอัลตราไวโอเลตจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังและต้อกระจกในมนุษย์
แต่นักวิจัยยังไม่ทราบว่าจะส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกในขั้วโลกใต้อย่างไร เนื่องจากสัตว์ส่วนใหญ่ในพื้นที่จะมีขนปกคลุมร่างกาย เช่น แมวน้ำและนกเพนกวิน แต่รังสียูวีสามารถทำลายดวงตาของสัตว์ได้
ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology โดยทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของรังสียูวีต่อพืชและสัตว์ในทวีปแอนตาร์กติกา พบหลักฐานว่ามอสในขั้วโลกใต้สามารถสังเคราะห์ “สารประกอบที่มีอยู่ในครีมกันแดด” เพื่อใช้ป้องกันตัวเองจากสารเคมี แต่นั่นหมายความว่ามอสเหล่านี้ต้องสูญเสียพลังงานไปกับการสังเคราะห์สารดังกล่าว ทำให้พวกมันเติบโตได้ช้า
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าคริลล์ (Krill) สัตว์ขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง ที่ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารแอนตาร์กติกา พยายามหนีลงไปในมหาสมุทรเพื่อเลี่ยงรังสียูวี การย้ายที่อยู่ของคริลล์อาจส่งผลกระทบต่อวาฬ แมวน้ำ นกเพนกวิน และนกทะเลอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ผิวน้ำเพื่อจับพวกมันกินเป็นอาหาร
นักวิจัยยังคงกังวลว่า ถ้าหากหลุมโอโซนเปิดในช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ของนกเพนกวินและแมวน้ำ รังสียูวีในช่วงนี้อาจสร้างความเสียหายเป็นพิเศษต่อลูกนกเพนกวินและลูกแมวน้ำ ที่เกิดใหม่และอาศัยอยู่บนน้ำแข็ง
ที่มา:
The Sydney Morning Herald: https://bit.ly/3UA6Ej4
โฆษณา