10 พ.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

โลกไร้สาระ และชีวิตมนุษย์ก็ไร้สาระ

คนเราเกิดมาทำไม? ชีวิตเรามีความหมายหรือไม่? เรามีเจตจำนงอิสระจริง ๆ ไหม? มีอำนาจบางอย่างกำหนดแผนทางเดินทั้งชีวิตของเราหรือเปล่า? เราเลือกทางเดินของเราเองได้จริงหรือ? หรือว่าความหมายและสาระนี้เป็นสิ่งที่เราหลอกตัวเอง ชีวิตปราศจากความหมายใด ๆ โดยสิ้นเชิง?
นี่เป็นคำถามโบราณ เก่าแก่เท่าอารยธรรมของมนุษย์ แต่ไม่มีใครตอบได้
กระนั้นก็มีคนพยายามตอบเสมอมา หนึ่งในนั้นก็คือ อัลแบร์ กามูส์ นักคิด นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส และเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลวรรณกรรมปี 1957 เขามีมุมมองและโลกทัศน์ที่แปลกจากที่เราคุ้นเคย วิธีคิดของเขาอาจสวนทางหรือเข้ากันได้กับแนวทางพุทธ ขึ้นอยู่ว่าเราจะมองลึกแค่ไหน
เขามองว่าโลกไร้สาระ (absurd) และชีวิตมนุษย์นั้นไร้สาระ
นี่ก็คือแนวคิดของปรัชญาไร้สาระ (Absurdism)
เขาเห็นว่าเราถูกกรอกหูมาแต่เกิดว่า ชีวิตต้องมีสาระ มีความหมาย
ตลอดอารยธรรมของมนุษยชาติ ปลูกฝังความคิดอย่างหนึ่งคือมนุษย์มีความหมาย ต้องแสวงหาความหมาย สาระ หรือคุณค่านั้น เพื่อทำให้ชีวิตมีความหมาย มีเหตุผลของการดำรงอยู่
แต่ ‘สาระ’ อาจเป็นภาพลวงตาที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับความยุติธรรม และอีกหลาย ๆ นามธรรมที่นำหน้าด้วย ‘ความ’
เราเกิดมา เรียนหนังสือ ทำงาน ทรมานกับรถติด แต่งงาน มีลูก แก่ตัว เกษียณ แล้วตาย
1
เราเดินชีวิตไปตามครรลองที่สังคมตั้งให้เราเดิน ทำตามกติกา ค่านิยมที่สังคมบอกให้เราทำ
1
เราต้องการความหมายของชีวิต อาจเพื่อปลอบใจให้เราอยากอยู่ต่อไป
แต่ในมุมมองของกามูส์ การหาความหมายไม่ได้ช่วยอะไร เพราะตั้งคำถามผิดแต่แรก
ใคร ๆ ก็อยากรู้ความหมายของชีวิตและเหตุผลที่มนุษย์ควรมีชีวิตอยู่ แต่เราจะหามันพบได้อย่างไรในเมื่อ - ในมุมมองของกามูส์ - จักรวาลไร้จุดประสงค์ ไร้ความหมาย และไร้เหตุผล
คนส่วนมากจึงไปหามันจากศาสนา ลัทธิ ความเชื่อต่าง ๆ
1
แต่กามูส์บอกว่า จักรวาลไม่เคยส่งเสียงบอกเราว่ามันมีความหมาย เราไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่บอกว่า เรามาอยู่ในโลกนี้ด้วยเหตุผลหรือความหมายอะไร หรือถ้ามี เราก็ไม่รู้ เพราะเกินสติปัญญาของเรา ความหมายทั้งหมดที่เราบอกกัน มาจากการคิดขึ้นเอง
1
มันไม่มีคุณค่าสากล ไม่มีแผนของพระเจ้า ทุกอย่างเกิดขึ้นเช่นนั้นเอง และ random (ส่งเดช)
3
กามูส์เห็นว่าโดยตัวโลกเองไม่ได้มีสาระหรือไร้สาระ ที่ไร้สาระคือความสัมพันธ์กับจักรวาลซึ่งไร้เหตุผล
ชีวิตไร้สาระ ไร้ความหมาย
2
และเนื่องจากมันไร้ความหมาย คนจึงพยายามสร้างความหมาย ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่อง ‘absurd’
แปลว่าอะไร? นี่แปลว่าชีวิตเราไร้สาระ หรือโลกรอบตัวเราไร้สาระงั้นหรือ?
หามิได้ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง
มันเพียงบอกว่าไม่มีความหมายอะไร มนุษย์ไปตั้งกรอบขึ้นมาเอง
1
มันไร้สาระก็เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างความเชื่อว่าชีวิตมีความหมายกับชีวิตไม่มีความหมาย และความพยายามที่จะหาความหมายให้ทุกอย่าง
1
กามูส์เห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ชอบจัดระเบียบ ต้องการมองเห็นทุกอย่างชัด ๆ จึงให้ความหมายของชีวิต เราพยายามเหลือเกินที่จะเข้าใจทุกอย่างในจักรวาล
1
ย่อมมีคนถาม ถ้าโลกไร้สาระ ไม่มีความหมายอะไร ไม่มีโลกหน้า เราก็สามารถฆ่าใครก็ได้เช่นนั้นหรือ? นี่คือการคิดแบบสำเร็จรูป หามิได้ เป็นคนละประเด็นกัน การที่โลกและจักรวาลไร้ความหมายหรือไม่มีโลกหน้า ทุกการกระทำก็ยังมีผลที่ตามมา (consequence) ที่ทางพุทธเรียกว่า อิทัปปัจจยตา
แล้วทำอย่างไรในสภาวะแบบนี้ - ถ้า Absurdism เป็นความจริง?
กามูส์เห็นว่าเรามีแค่สามทางเลือกเท่านั้นคือ 1 หนีจากมัน 2 หลบซ่อนใต้ความเชื่อ และ 3 อยู่กับมัน
2
‘หนีจากมัน’ คือฆ่าตัวตาย
‘หลบซ่อนใต้ความเชื่อ’ คือซ่อนตัวใต้ร่มศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ นี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่โลกเรามีลัทธิต่าง ๆ มากมาย สร้างชุดความเชื่อบางอย่างให้เราเกาะยึดเหมือนเกาะขอนไม้กลางทะเล เรารู้สึกสบายใจขึ้น และไม่ต้องคิดมาก
ส่วน ‘อยู่กับมัน’ คือยอมรับมัน
1
ในทางเลือกที่หนึ่ง กามูส์เห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่ยุติการดำรงอยู่ของคนคนนั้น (one’s existence) แต่จะทวีความไร้สาระมากขึ้น
การฆ่าตัวตายคือ ‘การสารภาพ’ ว่าชีวิตไม่คุ้มที่จะดำเนินต่อไป มันเป็นการเลือกอย่างหนึ่งที่จะออกไปพ้นจากวิถีไร้สาระ แต่กามูส์ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย เขาเห็นว่าควรใช้ชีวิตให้ถึงที่สุดอย่างเต็มที่
1
ในทางเลือกที่สอง กามูส์เห็นว่าศรัทธาที่โอบอุ้มความหมายของชีวิตเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่มีข้อพิสูจน์อะไรเลย ดังนั้นศรัทธาแบบนี้ก็คือการฆ่าตัวตายเช่นกัน ที่เขาเรียกว่า ‘การฆ่าตัวตายเชิงปรัชญา’ (philosophical suicide) เพราะมันเป็นการแทนที่ความไม่แน่นอนของการดำรงอยู่ (existence) ด้วยชุดความเชื่อที่คนอื่นตั้งไว้ หรือชุดความเชื่อที่เป็นคำตอบสำเร็จรูป
ทางที่ดีที่สุดของกามูส์คือ ยอมรับความไร้สาระนั้น
2
การยอมรับความไร้สาระไม่ได้หมายถึงการยอมรับยถากรรม ตรงกันข้าม การที่เรายอมรับว่าโลกไร้ความหมายหรือเป็นโลกไร้สาระ มันจะนำไปสู่อิสรภาพ ทำให้เราเป็นอิสระ ปลดปล่อยตัวเองจากภาพลวงตาของความหมายต่าง ๆ ที่โลกสร้างขึ้น ทำให้เข้าใจวิธีทำงานของโลกและชีวิต
3
ยอมรับว่าชีวิตไม่มีสาระ ไม่มีความหมาย และจักรวาลไร้คุณค่าสูงสุดได้เร็วเท่าไร ก็พบอิสรภาพเร็วเท่านั้น หลังจากนั้นก็สร้างความหมายของเราเอง
1
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ เราจะสามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่มากขึ้น หรือเต็มศักยภาพ และน่าจะมีความสุขขึ้น
1
จักรวาลเกิดมาอย่างนั้นเองหรือว่ามันมีจุดหมาย? เราคงตอบไม่ได้ หรือยังไม่ถึงเวลาตอบ ยังไม่ถึงจุดที่เรามีความรู้ความสามารถและข้อมูลมากพอที่จะตอบ แต่ ณ ขณะนี้ เราอาจบอกได้เพียงแค่ว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”
เราต้องถามตัวเองว่า มันเลวร้ายนักหรือที่จะดำรงอยู่ในจักรวาลหรือโลกที่ไม่มีความหมายอะไร? เพราะการที่รู้ว่าโลกไม่มีสาระอะไรไม่ได้ทำให้เรามีความสุขลดลง แค่รู้ข้อแม้ของโลก จะได้ไม่บ่นเวลาเกิดสิ่งที่ไม่พึงใจ ที่สำคัญคือมันทำให้เราอยู่กับปัจจุบัน มองโลกที่หมุนผ่านไปอย่างรู้ตัวและรู้ทัน
2
นี่ก็คล้ายแนวคิดพุทธ
1
ถ้าชีวิตจะมีความหมาย ก็อยู่ที่การกระทำ ณ ขณะจิตนี้
1
เราจะใช้ชีวิตในโลกนี้ได้เต็มที่สมบูรณ์ขึ้น ปราศจากความกลัวมากอย่างที่เป็น
1
กินไอติม ดูหนัง ฟังเพลงได้สบายใจขึ้น
2
ชีวิตสั้น ทำไมต้องทำให้มันทรมานด้วย?
3
ท่อนหนึ่งจาก โลกไร้สาระ และชีวิตมนุษย์ก็ไร้สาระ
จากหนังสือ หิน 15 ก้อนของ สตีฟ จ๊อบส์
2
โฆษณา