10 พ.ค. เวลา 04:09 • สิ่งแวดล้อม

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่จากข้อมูลเครื่องตรวจวัดกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม (2000–2024)

รูปที่ 1: แผนภาพระดับความสนใจ1 ค้นหาข้อมูลในหัวข้อ PM2.5 จากเว็บไซต์ Google ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
1
หลายคนคงมีคำถามว่า แล้วปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นประจำทุกปีเสมือนเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลของไทยเพิ่งเริ่มมีพร้อม ๆ กับที่คนไทยเริ่มให้ความสนใจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หรือ แท้จริงอาจมีมานานแล้ว? เพื่อตอบคำถามนี้ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในปัจจุบัน
โดยทำการเชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลไว้บนแพลตฟอร์ม OpenAQ ร่วมกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS2 เพื่อพัฒนาแบบจำลองที่ช่วยให้สามารถประมาณค่าระดับฝุ่น PM2.5 ย้อนไปในอดีตได้จนถึงปี 2000
การเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และข้อมูลจากดาวเทียมระบบ MODIS
แพลตฟอร์ม OpenAQ เป็นแพลตฟอร์มที่เผยแพร่ข้อมูลการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากเครื่องมือตรวจวัดในจุดต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ โดยมีทั้งข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดของภาครัฐซึ่งเป็นเครื่องที่มีมาตรฐานสูง และข้อมูลจากภาคเอกชนที่อาจใช้เครื่องมือตรวจวัดรูปแบบประหยัด ข้อมูลมีการรายงานในลักษณะเรียลไทม์ทุก ๆ ชั่วโมง รวมทั้งมีการระบุตำแหน่งของเครื่องตรวจวัดในรูปแบบพิกัด GPS (Tan et al., 2022)
ผู้เขียนได้ศึกษาข้อมูลจากแพลตฟอร์มดังกล่าวพบว่าในจังหวัดเชียงใหม่มีเครื่องตรวจวัดที่ขึ้นทะเบียนไว้กับแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 34 เครื่อง โดยเครื่องตรวจวัดที่ขึ้นทะเบียนไว้มีกระจายอยู่ทั้งในและนอกเขตอำเภอเมืองตามรูปที่ 2
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากแพลตฟอร์มนี้มีข้อจำกัดที่สำคัญคือมีข้อมูลของจังหวัดเชียงใหม่ย้อนหลังไปถึงปี 2021 เท่านั้น เพื่อศึกษาข้อมูลฝุ่น PM2.5 ในอดีตของจังหวัดเชียงใหม่ได้ยาวนานขึ้น ผู้เขียนจึงทำการเชื่อมโยงกับข้อมูลอีกแหล่งหนึ่ง นั่นคือ ข้อมูลพารามิเตอร์ Aerosol Optical Depth (AOD) จากดาวเทียมระบบ MODIS
1
รูปที่ 2: แผนที่การกระจายตัวของเครื่องตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่จากเว็บไซต์ OpenAQ
1
แผนที่การกระจายตัวของเครื่องตรวจวัดระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่จากเว็บไซต์ OpenAQ
ที่มา: ข้อมูลระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่จาก OpenAQ
ความลึกเชิงแสงของฝุ่นละออง หรือ Aerosol Optical Depth (AOD) (GISTDA, 2021) คืออะไร? ค่าพารามิเตอร์ AOD นี้คำนวณระดับความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ถูกดูดซับหรือสะท้อนออกโดยฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศระหว่างทางที่แสงอาทิตย์เดินทางตกกระทบพื้นผิวโลกและสะท้อนกลับขึ้นมาที่ดาวเทียม (Huang et al., 2020)
ในการศึกษาของ Chu et al. (2016) พบว่ามีงานวิจัยที่มีการใช้ค่าพารามิเตอร์ AOD เป็นตัวแปรต้นในการประมาณค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 มากกว่า 100 งาน ข้อได้เปรียบของข้อมูลชุดนี้คือเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บจากดาวเทียมระบบ MODIS ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2000 จึงทำให้มีข้อมูลย้อนหลังไปไกลกว่าข้อมูลฝุ่น PM2.5 จากแพลตฟอร์ม OpenAQ กว่า 20 ปี นอกจากนี้ ค่า AOD จะถูกบันทึกไว้ 2–4 ครั้งต่อวันที่ความละเอียด 1 ตร.กม. ต่อ พิกเซล (Lyapustin & Wang, 2018)
นอกจากนี้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ทั้งจังหวัด ในขณะที่ข้อมูลจากเครื่องวัดของแพลตฟอร์ม OpenAQ จะครอบคลุมเฉพาะบริเวณที่มีเครื่องตรวจวัดตั้งอยู่เท่านั้น3
ผู้เขียนได้นำข้อมูลการรายงานระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากแพลตฟอร์ม OpenAQ มาเชื่อมโยงกับข้อมูลพารามิเตอร์ AOD จากดาวเทียมระบบ MODIS ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างปี 2021 จนถึงปัจจุบัน (เมษายน 2024) ข้อมูลที่เชื่อมโยงได้สำเร็จมีจำนวน 9,488 จุดข้อมูล โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (pearson's correlation) ระหว่างตัวแปรทั้ง 2 มีค่าเท่ากับ 0.7876 ผู้เขียนได้สุ่มจุดข้อมูล 1,000 จุดข้อมูล และทำการสร้างแผนภาพการกระจายตัวเพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้ง 2 ได้ดังที่ปรากฎในรูปที่ 3
2
รูปที่ 3: แผนภาพความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 และค่าพารามิเตอร์ AOD จากการสุ่ม 1000 จุดข้อมูล
แล้วระดับความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ในอดีตเป็นอย่างไร
การประมาณค่าระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากข้อมูลพารามิเตอร์ AOD นั้นสามารถทำได้หลายวิธีซึ่งแต่ละวิธีอาจมีความแม่นยำแตกต่างกัน ในที่นี้ผู้เขียนใช้แบบจำลอง Simple Linear Regression ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมาตามตัวอย่างที่ใช้ในโครงการฝึกอบรม Applied Remote Sensing Training Program ของ NASA (Gupta & Follette-Cook, 2018) โดยแบบจำลองจะใช้ข้อมูลพารามิเตอร์ AOD จากดาวเทียมระบบ MODIS เป็นตัวแปรต้น และใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม OpenAQ เป็นตัวแปรตาม
1
เนื่องจากแบบจำลองที่ใช้เป็นแบบจำลองระดับพื้นฐานและใช้ตัวแปรต้นเพียงตัวแปรเดียวทำให้แบบจำลองที่ได้มีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก โดยมีค่า 𝑅2 (coefficient of determination) อยู่ที่ 0.6214
ผู้เขียนได้นำแบบจำลองที่ได้ไปใช้ประมาณค่าความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 จากข้อมูล AOD ตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน พบว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนของระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีลักษณะเป็นฤดูกาลมาตั้งแต่ปี 2000 โดยเดือนมีนาคม-เมษายนมักเป็นช่วงที่ระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 สูงที่สุดในแต่ละปีดังที่ปรากฎในรูปที่ 4
รูปที่ 4: ค่าเฉลี่ยรายเดือนของระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ประมาณค่าได้จากแบบจำลองเทียบกับค่าฝุ่นจาก OpenAQ
แม้ผลการศึกษาเบื้องต้นจะพบว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 อาจมีมานานแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเราควรยอมรับกับสภาพนี้ต่อไป จากผลการประมาณค่าในเดือนเมษายนช่วง 2 ปีล่าสุด (2023–2024) พบว่าค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงแนวโน้มของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่ที่อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
โฆษณา