10 พ.ค. เวลา 11:03 • ประวัติศาสตร์

ชะตากรรมของ “พระราชวงศ์โรมานอฟ (House of Romanov)” หลังการปฏิวัติ

เหตุโศกนาฏกรรม “พระราชวงศ์โรมานอฟ (House of Romanov)” เป็นเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์
อันที่จริง ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้หลายบทความแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ก็มีความน่าสนใจและมีหลายแง่มุมให้ศึกษา
1
ดังนั้น สำหรับคนที่เพิ่งติดตามผมและขี้เกียจไล่หาบทความเก่าๆ อ่าน ก็ลองดูบทความนี้นะครับ
ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) รัสเซียกำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติ ขุมอำนาจเก่านั้นตกที่นั่งลำบาก และขุมอำนาจใหม่ก็คือ “บอลเชวิค (Bolsheviks)” ซึ่งเป็นกลุ่มนักปฏิวัติและปัญญาชนที่หวังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ
คณะบอลเชวิค (Bolsheviks)
แต่การเปลี่ยนแปลงที่ดูน่าจะดีนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือขั้วอำนาจเก่า โดยที่ผ่านมานั้น รัสเซียถูกปกครองโดยองค์จักรพรรดิ หรือก็คือ “ซาร์ (Tsar)” เป็นเวลากว่า 300 ปี หากแต่ในเวลานี้ องค์จักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์ก็ไม่ต่างอะไรกับคนธรรมดา อาจจะแย่กว่าด้วยเนื่องจากถูกควบคุมองค์ และอนาคตก็ไม่มีอะไรแน่นอน
1
และแล้วในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) “จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II)” อดีตพระประมุขและจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งรัสเซีย พร้อมด้วยครอบครัว ก็ถูกปลงพระชนม์ในห้องใต้ดินของบ้านที่ใช้คุมองค์ที่เยกาเตรินบุร์ก
แต่ทำไมกลุ่มบอลเชวิคจึงต้องปลงพระชนม์พระราชวงศ์? และเกิดอะไรขึ้นในวันเกิดเหตุ?
1
นี่คือเรื่องราวที่น่าเศร้าของราชวงศ์โรมานอฟ
จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II)
ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่การปฏิวัติ พระราชวงศ์รัสเซียคือเป้าหมายหลักที่คณะปฏิวัติกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุของความพินาศต่างๆ ในรัสเซีย
หลังจากจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ แผนการแรกของคณะปฏิวัติ คือการเนรเทศพระองค์และครอบครัว โดยแผนการแรกคือเนรเทศทุกพระองค์ไปอังกฤษ หากแต่เหล่านักการเมืองในยุคนั้นต่างไม่เห็นด้วย แม้แต่ “สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร (George V)” พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเป็นพระญาติกับจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ก็ทรงลำบากพระทัยหากจะต้องรับจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เข้ามา
1
ดังนั้น อดีตพระราชวงศ์รัสเซียจึงถูกควบคุมองค์โดยคณะปฏิวัติ โดยในทีแรกก็คือที่พระราชวังในแถบชานเมืองของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยพระราชวงศ์ยังคงมีข้าราชบริพารรับใช้ มีพระกระยาหารที่หรูหรา เรียกได้ว่าวิถีชีวิตของทุกพระองค์ยังคงเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปซักเท่าไร
1
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร (George V)
แต่ชีวิตเช่นนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะอยู่ได้ตลอดไป การเมืองในรัสเซียยังคงสับสนวุ่นวาย รัฐบาลชั่วคราวก็ยังไม่มั่นคง ดังนั้นเมื่อเกิดจลาจลขึ้นในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก คณะบอลเชวิคจึงเริ่มคิดว่าต้องทำอะไรซักอย่างกับอดีตพระราชวงศ์
“อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้ตัดสินใจให้ส่งอดีตพระราชวงศ์โรมานอฟไปให้ไกลจากเมืองหลวง ลึกเข้าไปในไซบีเรีย
และหลังจากเสด็จเดินทางมาเป็นเวลานับสัปดาห์ จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และครอบครัว ก็เสด็จมาถึงเมืองโตโบลสค์ในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) และทุกพระองค์ก็ต้องประทับอยู่ที่นี่เป็นเวลากว่าเก้าเดือน
อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)
เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงในปีค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) รัสเซียก็เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอย่างเต็มตัว พรรคบอลเชวิคก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง โดยในเวลานั้น ขุมกำลังทหารแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ “กองทัพแดง (Red Army)” ของบอลเชวิคฝ่ายหนึ่ง และ “กองทัพขาว (White Army)” ซึ่งหวังจะให้พระราชวงศ์กลับมาเรืองอำนาจอีก
กองทัพขาวนั้นได้เปรียบอยู่มาก อีกทั้งได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากมหาอำนาจต่างชาติ ทำให้คณะปฏิวัติรู้สึกหวั่นๆ
กลุ่มกองทัพขาวและรอยัลลิสต์ต่างมุ่งหวังที่ึจะฟื้นฟูราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งเท่ากับว่าจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และพระราชวงศ์ ก็เหมือนกับเป้าหมายของกองทัพขาว และจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และพระราชวงศ์ก็ทรงมีความหวังว่าความช่วยเหลือจะมาถึงในอีกไม่นาน
แต่ดูเหมือนนี่จะเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ เท่านั้น
ในทีแรก คณะบอลเชวิควางแผนจะนำจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และพระราชวงศ์กลับมายังมอสโควเพื่อทำการสอบสวนและนำออกประจานต่อประชาชน แต่ในฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) แผนการนี้ก็ต้องยกเลิก และมีคำสั่งให้ย้ายพระราชวงศ์ไปยังเยกาเตรินบุร์ก
1
ภาพวาดขณะพระราชวงศ์โรมานอฟเสด็จมาถึงเยกาเตรินบุร์ก
ณ บ้านที่ใช้เป็นที่คุมขังพระราชวงศ์ที่เยกาเตรินบุร์ก คือสถานที่ประทับสุดท้ายของพระราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่ง ณ ที่นี้ สภาพความเป็นอยู่ของพระราชวงศ์นั้นไม่ได้สุขสบายเหมือนที่ผ่านๆ มา มีทหารเวรยามคอยจับตาดูตลอดเวลา
กลับมาที่มอสโควและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กลุ่มบอลเชวิคนั้นหวั่นเกรงว่าสถานการณ์จะยิ่งแย่กว่านี้ การลุกฮือจลาจลอาจจะเกิดขึ้น และกองกำลังที่จะช่วยเหลือพระราชวงศ์ก็กำลังใกล้เข้ามา
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีคำสั่งให้ “ประหารพระราชวงศ์โรมานอฟ”
เช้าตรู่วันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) พระราชวงศ์โรมานอฟทุกพระองค์ และคนรับใช้ ได้ถูกปลุกให้ตื่น และทหารก็ทูลว่าทุกพระองค์จะต้องเสด็จย้ายไปประทับที่อื่นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากในเวลานี้ กองกำลังทหารฝ่ายตรงข้ามกำลังจะมาถึง
1
ทุกพระองค์ถูกพาเสด็จมายังห้องใต้ดิน ก่อนที่กลุ่มทหารจะทูลว่าทุกพระองค์จะต้องถูกประหาร และระดมยิงปืนใส่ทุกพระองค์
การปลงพระชนม์พระราชวงศ์โรมานอฟ
เจ้าหญิงบางพระองค์ยังไม่สิ้นพระชนม์ในทันที เนื่องจากในฉลองพระองค์นั้นมีเครื่องเพชรและหินมีค่าต่างๆ ทำให้กระสุนไม่ต้องพระวรกายโดยตรง หากแต่ก็ถูกแทงด้วยดาบปลายปืนจนสิ้นพระชนม์
2
จากนั้น ทหารก็ขนพระบรมศพและพระศพไปทำลายยังป่าในบริเวณนั้น
จากนั้น คณะบอลเชวิคก็ได้ประกาศข่าวการประหารพระราชวงศ์โรมานอฟ โดยกล่าวว่าจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 นั้น “มีความผิดฐานกระทำการรุนแรงที่โหดร้าย ป่าเถื่อน ต่อชาวรัสเซีย”
1
ข่าวนี้โด่งดังไปทั่วยุโรป เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว
และก็ไม่ใช่เพียงแค่จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 และครอบครัวของพระองค์เท่านั้นที่ถูกปลงพระชนม์ หากแต่เชื้อพระวงศ์องค์อื่นๆ พระญาติ ต่างก็ถูกกลุ่มบอลเชวิคไล่ล่าปลงพระชนม์เช่นเดียวกัน
และนี่ก็นับเป็นจุดจบของราชวงศ์โรมานอฟ ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองรัสเซียมานานกว่า 300 ปี และเป็นการสิ้นสุดระบอบราชาธิปไตยในรัสเซีย
โฆษณา