15 พ.ค. เวลา 06:03 • ประวัติศาสตร์

การตายของ “กรีกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin)” นักบวชบ้าผู้ทรงอิทธิพลเหนือราชสำนักรัสเซีย

การฆาตกรรม “กรีกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin)” “นักบวชบ้า (Mad Monk)” แห่งรัสเซีย เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าที่จับความสนใจของผู้คนมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ และสั่นสะเทือนราชสำนักรัสเซีย
ในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) ในห้องใต้ดินของ “พระราชวังยูซูปอฟ (Yusupov Palace)” ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นที่ประทับของ “เจ้าชายฟีลิกซ์ ยูซูปอฟ (Felix Yusupov)” พระสวามีของพระราชนัดดาใน “จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II)” พระประมุขแห่งรัสเซีย และเจ้าชายฟีลิกซ์ยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่รวยที่สุดในรัสเซีย
ณ ห้องใต้ดินนี้เอง เป็นสถานที่ที่แผนการสังหารรัสปูตินได้เกิดขึ้น ก่อนที่ร่างของรัสปูตินจะถูกพบในแม่น้ำเนวาในอีกไม่กี่วันต่อมา
1
กรีกอรี รัสปูติน (Grigori Rasputin)
ย้อนกลับไปกว่า 10 ปีก่อนหน้านี้ รัสปูตินได้ขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ สามารถผลักตัวเองจากชาวไร่จากไซบีเรียธรรมดา ขึ้นมาเป็นหนึ่งในบุคคลที่โด่งดังในวงสังคมรัสเซีย และมีอิทธิพลในราชสำนัก
1
รัสปูตินเกิดในปีค.ศ.1869 (พ.ศ.2412) ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในรัสเซีย และชีวิตของเขาก็ดูธรรมดา เรียบง่าย หากแต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเด็กที่เกกมะเหรกเกเร มักจะมีเรื่องบ่อยครั้ง
รัสปูตินแต่งงานขณะมีอายุได้ 18 ปี และมีบุตรถึงเจ็ดคน หากแต่มีชีวิตรอดจนถึงวัยผู้ใหญ่เพียงแค่สามคน
ชีวิตของรัสปูตินได้เปลี่ยนไปในปีค.ศ.1892 (พ.ศ.2435) เมื่อรัสปูตินออกไปจากไร่ของครอบครัว และได้ไปใช้ชีวิตในอารามแห่งหนึ่ง ก่อนจะเดินทางสู่ความโด่งดังในเวลาต่อมา
ด้วยศรัทธาในศาสนาและเสน่ห์เฉพาะตัวของรัสปูติน ทำให้รัสปูตินเป็นที่สนใจในหมู่นักบวชในศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย รวมทั้งพระราชวงศ์รัสเซีย ทำให้รัสปูตินมีโอกาสได้รู้จักกับ “จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II)” และ “จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Alexandra Feodorovna)“ องค์เหนือหัวทั้งสองแห่งรัสเซีย
ทั้งสองพระองค์ทรงพูดคุยกับรัสปูตินอย่างถูกคอ และรัสปูตินยังทูลในสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ทรงต้องการจะได้ยิน ปากหวาน และทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงสำราญพระราชหฤทัย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI) เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) รัสปูตินก็ได้ถวายคำแนะนำต่างๆ แก่องค์จักรพรรดิ รวมทั้งก้าวก่ายกิจการบ้านเมือง สร้างความไม่พอใจแก่เหล่าขุนนางและชนชั้นสูง
2
จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย (Nicholas II) และ จักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนาแห่งรัสเซีย (Alexandra Feodorovna)
องค์เหนือหัวทั้งสองพระองค์ยังทรงศรัทธารัสปูตินเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัสปูตินสามารถถวายการรักษา “เจ้าชายอเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช ซาเรวิชแห่งรัสเซีย (Alexei Nikolaevich, Tsarevich of Russia)“ พระราชโอรสองค์เดียวในจักพรรดินิโคลัสที่ 2 และจักรพรรดินีอเล็กซานดรา ซึ่งประชวรด้วยพระโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือ “โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก”
ในทุกวันนี้ ก็ยังมีการถกเถียงกันเรื่องพลังในการรักษาอาการเจ็บป่วยของรัสปูติน โดยมีบันทึกว่ารัสปูตินถวายการรักษาเจ้าชายอเล็กเซย์ด้วยการคุกเข่าลงข้างๆ พระแท่นบรรทม และบรรยากาศการผ่อนคลายที่รัสปูตินนำเข้ามาสู่พระราชวัง ก็อาจมีส่วนทำให้พระอาการประชวรดีขึ้น
4
หนึ่งในต้นห้องของจักรพรรดินีอเล็กซานดราก็ได้กล่าวในภายหลังว่า รัสปูตินน่าจะใช้ยารักษาโรคที่ใช้ในหมู่บ้านไซบีเรีย ซึ่งช่วยหยุดการเลือดไหลในม้า นำมาใช้กับเจ้าชายอเล็กเซย์
2
เจ้าชายอเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช ซาเรวิชแห่งรัสเซีย (Alexei Nikolaevich, Tsarevich of Russia)
ด้วยความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้รัสปูตินมีอิทธิพลต่อสององค์เหนือหัวแห่งรัสเซีย และยังมีภาพลักษณ์ของผู้วิเศษ และตัวรัสปูตินยังพยายามผลักดันภาพลักษณ์ตัวเองเป็นตัวแทนของเหล่าชาวนาชาวไร่
หากแต่พฤติกรรมนอกราชสำนักของรัสปูตินก็ไม่ดีนัก รัสปูตินมักจะเมาเหล้าเสมอๆ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงมากหน้าหลายตา หลากหลายสังคม ตั้งแต่โสเภณีไปจนถึงหญิงในวงสังคมชั้นสูง ทำให้ข่าวฉาวของรัสปูตินออกมามากมาย
ข่าวลือเสียๆ หายๆ และข่าวอำนาจเหนือราชสำนักของรัสปูตินแพร่กระจายไปทั่วยุโรป ทหารที่ไปสู้รบในแนวหน้าฝั่งตะวันออกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่างพูดคุยกันสนุกปากว่ารัสปูตินนั้นมีสัมพันธ์กับจักรพรรดินีอเล็กซานดรา
รัสปูตินกับจักรพรรดินีอเล็กซานดราและเหล่าพระราชธิดาและพระราชโอรส
มีข่าวลือตามมาว่ารัสปูตินไปเข้ากับฝ่ายศัตรูในสงคราม และวางแผนจะทำให้เกิดโรคระบาดในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้วยแอ๊ปเปิ้ลอาบยาพิษจากแคนาดา
ด้วยเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้หลายคนคิดว่ารัสปูตินควรต้องถูกกำจัด
และเรื่องก็ยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เสด็จออกจากเมืองหลวงเพื่อไปบัญชาการกองทัพด้วยพระองค์เอง ซึ่งในช่วงที่จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ไม่ได้ประทับอยู่ในเมืองหลวง จักรพรรดินีอเล็กซานดราก็เข้ามาว่าราชการ รักษาบัลลังก์ไว้ชั่วคราว ทำให้จักรพรรดินีอเล็กซานดราเป็นผู้ที่ทรงอำนาจที่สุด ณ ขณะนั้น
และรัสปูตินก็คือผู้ที่จักรพรรดินีอเล็กซานดราทรงไว้วางพระทัย และแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์
จักรพรรดินีอเล็กซานดรา ทรงเป็นจักรพรรดินีที่ผู้คนไม่นิยมหรือนับถือนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะพระองค์เสด็จพระราชสมภพในเยอรมนี หากแต่จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ก็ไม่ทรงสนพระทัยว่าใครจะคิดอย่างไร ทรงสนับสนุนการตัดสินพระทัยของพระมเหสี และไม่สนสิ่งที่เหล่าข้าราชสำนักและขุนนางทูลเตือน
1
ทางด้าน “เจ้าชายฟีลิกซ์ ยูซูปอฟ (Felix Yusupov)” หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในยุคนั้น ก็ทรงมีพระประสงค์จะกำจัดรัสปูตินมานานแล้ว
เจ้าชายฟีลิกซ์ทรงคิดว่าการสังหารรัสปูตินจะนำเกียรติยศมาสู่พระองค์ และพระองค์กับผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่นๆ ยังเห็นตรงกันว่า หากรัสปูตินตายไป ก็จะเป็นโอกาสที่ราชวงศ์จะกลับมาเฉิดฉายได้อย่างสง่างามอีกครั้ง องค์จักรพรรดิก็ต้องทรงรับฟังเหล่าขุนนางมากขึ้น
จากบันทึกของเจ้าชายฟีลิกซ์ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ.1928 (พ.ศ.2471) ได้กล่าวว่า เจ้าชายฟีลิกซ์ได้มีรับสั่งเชิญรัสปูตินมายังพระราชวังของพระองค์เพื่อแนะนำให้รู้จักกับพระชายา ก่อนจะประทานเค้กให้รัสปูติน รวมทั้งไวน์ที่ผสมยาพิษโพแทสเซียมไซยาไนด์
2
เจ้าชายฟีลิกซ์ ยูซูปอฟ (Felix Yusupov)
หากแต่เจ้าชายฟีลิกซ์ก็ต้องตกตะลึง เนื่องจากยาพิษที่ผสมในไวน์นั้นไม่สามารถทำอะไรรัสปูตินได้เลย เจ้าชายฟีลิกซ์จึงทรงชักปืนออกมา และกระหน่ำยิงใส่รัสปูตินหลายนัด หากแต่รัสปูตินก็ยังไม่ตาย
1
แต่หลังจากสามารถสังหารรัสปูตินและนำศพไปทิ้งลงแม่น้ำได้แล้ว เมื่อมีการพบศพ ผลการชันสูตรก็พบว่ามีน้ำในปอดของรัสปูติน ทำให้ทราบว่ารัสปูตินเสียชีวิตจากการจมน้ำ
หากแต่ในเวลาต่อมา “มาเรีย รัสปูติน (Maria Rasputin)” บุตรสาวของรัสปูติน ซึ่งได้หนีออกจากรัสเซียหลังการปฏิวัติ และได้ไปทำงานในคณะละครสัตว์ ก็ได้เขียนหนังสือซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ก็ได้ให้ภาพความจริงที่ต่างออกไป
มาเรียได้เขียนเล่าว่าบิดาของเธอนั้นไม่ชอบทานของหวาน ดังนั้นเขาย่อมไม่ทานเค้กจำนวนมากดังที่เจ้าชายฟีลิกซ์กล่าวอ้าง อีกอย่าง รายงานผลการชันสูตรศพรัสปูตินของจริงก็ไม่มีการระบุถึงการถูกวางยาพิษหรือว่าการจมน้ำ แต่ที่จริงนั้น สาเหตุการตายมาจากการถูกยิงที่ศีรษะในระยะประชิด
1
มาเรียกล่าวว่าเรื่องที่เจ้าชายฟีลิกซ์เขียนเล่านั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องแต่งเพื่อกล่าวร้ายบิดาของเธอ ทำให้ภาพของรัสปูตินนั้นดูน่ากลัว สร้างภาพลักษณ์ของเจ้าชายฟีลิกซ์ว่าเป็นวีรบุรุษ
มาเรีย รัสปูติน (Maria Rasputin)
สำหรับความคิดเห็นหลังจากรัสปูตินเสียชีวิตนั้น ก็แบ่งออกเป็นสองฝั่ง
กลุ่มชนชั้นสูงต่างพึงพอใจ ต่างยกย่องเจ้าชายฟีลิกซ์และกลุ่มผู้ก่อการอย่างเปิดเผย หากแต่กลุ่มชาวไร่ คนธรรมดานั้น ต่างเศร้าโศกต่อการตายของรัสปูติน และมองว่าการสังหารรัสปูตินคือตัวอย่างการกำจัดคนที่เป็นภัยต่ออำนาจของพวกขุนนาง เมื่อมีชาวนา คนธรรมดาขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง เหล่าชนชั้นสูงก็จะหาทางกำจัด
แต่ดูเหมือนว่าการตายของรัสปูตินจะไม่ได้ทำให้ราชวงศ์ฟื้นฟูกลับมาได้ ในที่สุด ราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองรัสเซียมากว่า 300 ปีก็ต้องสิ้นสุดลง พร้อมๆ กับองค์เหนือหัวทั้งสองและครอบครัวที่ถูกปลงพระชนม์หมู่โดยคณะบอลเชวิคในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461)
เรื่องราวของรัสปูตินก็อาจจะสามารถมองได้สองทาง ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดมอง
ฝ่ายหนึ่งก็มองว่าการสังหารรัสปูตินคือความพยายามรักษาอำนาจของขุนนางและชนชั้นสูง
แต่ในมุมมองของชนชั้นแรงงาน รัสปูตินคือภาพที่สะท้อนความล้มเหลวในราชสำนัก ซึ่งสุดท้ายก็ต้องล่มสลายลงในที่สุด
โฆษณา