23 พ.ค. เวลา 06:55 • ประวัติศาสตร์

“การรุกรานรัสเซีย“ จุดเริ่มต้นการสิ้นอำนาจของ ”นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)”

หลังจากยึดครองอำนาจในปีค.ศ.1799 (พ.ศ.2342) “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” ก็ชนะศึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สร้างทั้งชื่อเสียงและอำนาจของนโปเลียนให้กระจายไปไกลทั่วยุโรป
นโปเลียนได้ผนวกดินแดนที่ปัจจุบันคือเบลเยียมและฮอลแลนด์ รวมทั้งดินแดนผืนใหญ่ในอิตาลี โครเอเชีย และเยอรมนี เข้าไว้ในอำนาจของตน อีกทั้งยังขยายอำนาจเข้าไปในสวิตเซอร์แลนด์และโปแลนด์อีกด้วย
เรียกว่าในเวลานั้น นโปเลียนคือหนึ่งในขุมอำนาจที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป
แต่ดูเหมือนจะเหลือเพียงแค่ “สหราชอาณาจักร“ เท่านั้นที่อำนาจของนโปเลียนยังก้าวเข้าไปไม่ถึง
นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)
ในปีค.ศ.1806 (พ.ศ.2349) นโปเลียนได้ตัดสินใจที่จะมีเรื่องกับอังกฤษด้วยการกีดกันทางการค้า นั่นก็คือการออก “ระบบคอนติเนนตัล (Continental System)” โดยระบบนี้ ได้ออกกฎหมายห้ามดินแดนในปกครองของฝรั่งเศสทำการค้ากับอังกฤษ เรือของอังกฤษก็ห้ามมาจอดเทียบท่ายังดินแดนใต้การปกครองของฝรั่งเศส
ในทีแรก รัสเซียก็เอาด้วย แต่เมื่อถึงสิ้นปีค.ศ.1810 (พ.ศ.2353) “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexander I of Russia)” พระประมุขแห่งรัสเซีย ก็ตัดสินพระทัยยกเลิกมาตรการนี้ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการค้าและค่าเงินของรัสเซีย
นอกจากนั้น พระองค์ยังมีรับสั่งให้เก็บภาษีสินค้าหรูหราจากฝรั่งเศสในอัตราที่สูง อีกทั้งยังขัดขวางไม่ให้นโปเลียนแต่งงานกับพระขนิษฐาของพระองค์
เมื่อนโปเลียนเห็นเช่นนี้ก็โมโหเป็นอย่างมาก และตัดสินใจพักรบกับอังกฤษไว้ก่อน มุ่งไปหารัสเซียแทน
จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย (Alexander I of Russia)
ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) นโปเลียนได้รวบรวมกำลังพลทั่วยุโรป บุกเข้าหารัสเซีย โดยกองทัพของนโปเลียนนั้นเป็นกองทัพที่ใหญ่โต ยิ่งใหญ่เหนือกองทัพใด
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าในเวลานั้น กองทัพของนโปเลียนมีกำลังพลอย่างต่ำ 450,000 นาย และอาจจะสูงถึง 650,000 นาย และได้ข้ามแม่น้ำไปสู้กับกองทัพจำนวน 200,000 นายของรัสเซีย
เป้าหมายของนโปเลียน ก็คือการคว้าชัยชนะได้โดยเร็ว และบีบบังคับให้จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 ต้องยอมเจรจา
27 มิถุนายน ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) กองทัพของนโปเลียนสามารถยึดเมืองวิลนาไว้ได้โดยง่าย หากแต่ในคืนนั้นเอง ลางร้ายก็ได้ปรากฎ
ได้เกิดพายุใหญ่เข้าในเมือง ฝนตกหนัก ตามมาด้วยลูกเห็บและหิมะฝนซึ่งคร่าชีวิตทหารและม้าไปหลายตัว และที่แย่ไปกว่านั้น เสบียงก็เริ่มจะไม่พอ
แต่ถึงอย่างนั้น นโปเลียนก็ยังมั่นใจและเชื่อว่าชัยชนะต้องเป็นของตน โดยเขาได้กล่าวแก่ที่ปรึกษาในกองทัพว่า
“ข้ามาเพื่อจัดการเหล่าคนเถื่อนแห่งภาคเหนือเหล่านี้ให้เด็ดขาด ตอนนี้ดาบถูกชักออกจากฝักแล้ว พวกมันต้องกลับเข้าไปอยู่ในน้ำแข็ง เพื่อที่ว่าอีก 25 ปีต่อจากนี้ พวกมันจะได้ไม่กล้าเข้ามาวุ่นวายกับกิจการบ้านเมืองของยุโรปที่เจริญแล้ว“
เมื่อถึงปลายเดือนกรกฎาคม กองทัพรัสเซียก็ได้ถอนกำลังออกจากเมืองที่ประจำการ และได้ทำการเผาคลังอาวุธและสะพานตลอดเส้นทาง ก่อนที่กลางเดือนสิงหาคม จะทำการถอนกำลังออกจากเมืองสโมเลนสค์และเผาเมือง เหล่าชาวไร่ก็เผาพืชผลเพื่อไม่ให้เหลือตกมาถึงศัตรู
เมื่อถึงฤดูร้อน อากาศก็ร้อนจนทำให้ทหารในกองทัพของนโปเลียนล้มป่วย ทหารนับพันเสียชีวิต หากแต่กองทัพรัสเซียก็ยังไม่ได้ลงมือทำอะไร จนเมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) กองทัพฝรั่งเศสและกองทัพรัสเซียได้ปะทะกันใน “ยุทธการที่โบโรดีโน (Battle of Borodino)“
ทหารทั้งสองฝ่ายต่างล้มตายเป็นจำนวนมาก จำนวนทหารที่เสียชีวิตทั้งหมดรวมกันอย่างน้อย 70,000 นาย และกองทัพรัสเซียก็ถอนทัพ เปิดทางให้กองทัพฝรั่งเศสบุกเข้ามอสโคว
14 กันยายน ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) กองทัพนโปเลียนได้เข้ามาในเมืองมอสโคว หากแต่ก็ต้องพบว่าเมืองนั้นแทบจะเหลือแต่ซาก เนื่องจากเมืองได้ถูกเผาทำลายไปแล้ว ผู้คนก็อพยพออกจากเมือง เสบียงในเมืองก็แทบไม่เหลือ เหลือเพียงสุราจำนวนมาก ซึ่งเหล่าทหารก็เอามาดื่มกันอย่างเมามาย ส่วนนโปเลียนก็เฝ้ารอให้จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 มาเจรจา
แต่การเจรจาก็ไม่เคยได้เกิดขึ้น และหิมะก็เริ่มตก ทำให้นโปเลียนต้องนำทัพออกจากมอสโควในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) เนื่องจากหากอยู่ในมอสโควต่อไป เหล่าทหารไม่รอดแน่
ในเวลานั้น นโปเลียนเหลือทหารเพียงแค่ประมาณ 100,000 นาย ที่เหลือถ้าไม่เสียชีวิตก็ได้รับบาดเจ็บ หรือไม่ก็หนีทัพไปแล้ว
1
เส้นทางเดินทัพกลับก็แสนจะยากลำบาก ลมพัดแรงบวกกับอากาศที่อุณหภูมิติดลบ ทำให้ทหารและม้านับพันต้องตาย ทหารที่เหลือก็อยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าเลวร้ายสุดๆ
เมื่อถึงปลายเดือนพฤศจิกายน กองทัพนโปเลียนที่เคยยิ่งใหญ่ก็เรียกได้ว่าพังพินาศ และในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1812 (พ.ศ.2355) นโปเลียนต้องรีบเดินทางล่วงหน้ากองทัพไปปารีสก่อน เนื่องจากเกิดข่าวลือว่าจะมีการรัฐประหารยึดอำนาจ ก่อนที่อีกเก้าวันต่อมา กองทัพที่อยู่ในสภาพยับเยินของนโปเลียนจึงข้ามแม่น้ำกลับมาได้
การพ่ายแพ้ของนโปเลียน ทำให้ออสเตรีย ปรัสเซีย และสวีเดน ต่างร่วมกับรัสเซียและอังกฤษ ร่วมมือกันต่อต้านนโปเลียน
และถึงแม้นโปเลียนจะสามารถรวบรวมกองทัพได้อีกครั้ง หากแต่ก็ได้แต่ทหารไร้ประสบการณ์ อาวุธก็ไม่พร้อม และก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้
เมื่อถึงเดือนมีนาคม ค.ศ.1813 (พ.ศ.2356) ปารีสก็ถูกยึดครอง และนโปเลียนก็ถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา ก่อนที่ในปีค.ศ.1815 (พ.ศ.2358) นโปเลียนจะพยายามยึดอำนาจคืน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้
เรียกได้ว่าความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้ยักษ์ใหญ่อย่างนโปเลียนพังไม่เป็นท่า
บทเรียนจากนโปเลียนในครั้งนี้อาจจะนำมาปรับใช้ได้กับธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบัน
ต่อให้ธุรกิจใหญ่แค่ไหน แต่หากผิดพลาดเพียงครั้งเดียว บางทีความผิดพลาดนั้นก็อาจจะทำให้ความยิ่งใหญ่ที่เคยสั่งสมมาทั้งหมดสูญสิ้นในพริบตาก็เป็นได้
โฆษณา