23 พ.ค. เวลา 15:30 • สุขภาพ

โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าฝน

ช่วงนี้ฝนตกหนัก แทบไม่เว้นวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงไปทำงานกับช่วงเลิกงาน
ทำให้เกิดความลำบากมากขึ้นในช่วงนี้ หลายคนต้องลุยน้ำไปทำงาน ลุยน้ำกลับจากงานทุกวัน(รวมถึงคนเขียนด้วย🤣)
ดังนั้นวันนี้ เราจะชวนคุยถึงโรคผิวหนังที่อาจเกิดได้จากการที่ต้องสัมผัสความชื้นเป็นเวลานานในช่วงหน้าฝนแบบนี้
1. โรคเกลื้อน(Pityriasis versicolor)
โรคเกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลมหลายวง มีขุยละเอียด สีแตกต่างกัน มักเกิดบริเวณลำตัว เช่น หลัง หน้าอก ท้อง ใหล่ คอ พบมากในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก และใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น เกิดจากเชื้อราชื่อ Pityrosporum ที่อาศัยอยู่เป็นปกติในรูขุมขนของทุกคน เชื้อราชนิดนี้กินไขมันที่มีอยู่ในรูขนเป็นอาหาร ถ้าผู้ป่วยมีความต้านทานลดลง เหงื่อไคลหมักหมม
เชื้อราชนิดนี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนังเป็นดวงขาวมีขุย โรคนี้พบบ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก ๆ เช่น หน้าอก และหลัง เป็นต้น หากมีเหงื่อจะยิ่งมีอาการคันเพิ่มมากขึ้
ยาที่ใช้รักษาโรคเกลื้อน หากเป็นไม่มาก ไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิคุ้มกัน อาจใช้เพียงแค่ยาทากลุ่ม Sodium Thiosulfate หรือยาฆ่าเชื้อราในกลุ่ม Azole หากมีอาการรุนแรง กินบริเวณกว้างอาจใช้ยากินร่วมด้วย
นอกจากนี้ก็ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ควรจะซักและนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมม
2. โรคกลาก (Tinea)
เกิดจากเชื้อราพวกเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) เช่น Epidermophyton spp., Microsporum spp., Trichophyton spp. เชื้อราเหล่านี้ชอบเจริญเติบโตอยู่ในบริเวณผิวหนังส่วนที่มีเคราติน (Keratin) ซึ่งได้แก่ ผิวหนังชั้นนอกสุด เล็บ และเส้นผม ลักษณะรอยโรคค่อนข้างชัด คือ ผื่นเป็นวงกลมสีแดงนูน ขอบชัดและมีขุยที่ขอบ บางชนิดอาจมีการอักเสบรุนแรงเป็นตุ่มหนองได้ มักมีอาการคันร่วมด้วย
พบได้หลายบริเวณ เช่น ลำตัว ใบหน้า ขาหนีบ มือและเท้า ผื่นมักขยายออกเป็นวงกว้าง หากไม่ได้รับการรักษา
กลากติดต่อกันได้ผ่านจากการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากโดยตรง หรือจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า หมวก หวี แปรงผม มีดโกนผม เป็นต้น นอกจากนี้ สัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ป่วยโรคกลาก เช่น สุนัข แมว
ก็ทำให้ติดเชื้อราได้ด้วยเช่นกัน(ช่วงหลังพบได้บ่อย)
การรักษาทำได้โดยใช้ยาทาเชื้อราที่ผิวหนัง อาจใช้ยากินร่วมในกรณีที่มีข้อบ่งใช้ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อที่หนังศีรษะหรือที่เล็บ เป็นต้น ร่วมกับหลีกเลี่ยงการสัมผัสก็ผู้ที่เป็น หรือใช้สิ่งของร่วมกัน นอกจากนี้ไม่ควรซื้อยาทากลุ่ม Steroid มาทาเอง เนื่องจากมีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันบริเวณที่เป็น ทำให้อาจกลับมาเป็นซ้ำและขยายวงได้ในภายหลัง
3. ตุ่มแมลงกัด (Insect bite)
เกิดจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น มด ยุง หมัด ไร และแมลงอื่นๆ เมื่อถูกกัด ระบบภูมิคุ้มกันกจะกระตุ้นการอักเสบเพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่เป็น ทำให้เกิดอาการปวดบวมร้อน สารก่อภูมิแพ้ที่ถูกหลังออกมาทำให้เกิดอาการคันได้ แต่ไม่ควรเกา เพราะอาจเพิ่มโอกาสให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง
ควรรักษาความสะอาดของบริเวณที่ถูกกัดร่วมกับการใช้ยาทากลุ่มยาต้านฮิสตามีนที่ผิวหนัง หรือยาทาผิวหนังอักเสบกลุ่ม Steroids หากพบอาการแพ้สัตว์บางประเภท เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการบวมหรือผื่นลมพิษในบริเวณอื่นๆของร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์
4. โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)
เกิดจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน การลุยน้ำขังในช่วงหน้าฝน การเดินยํ่านํ้าบ่อยๆ หรือยืนแช่นํ้าที่สกปรกเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้ให้ผิวหนังเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนัง โดยช่วง 1-3 วันแรก ผิวหนังเปื่อยเมื่อแช่น้ำ แดงคัน แสบ ระคายเคืองและมีการลอกเล็กน้อย หลังจากนั้นอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อรา ผิวหนังจะเปื่อยมีรอยฉีกขาด มีอาการแดง บวม ปวดเจ็บ อาจจะมีหนอง หรือน้ำเหลืองซึม
สุดท้ายหากยังถูกกระตุ้นจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผิวหนังจะเริ่มแดง คันมีขุยขาว เปียก เหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาวเป็นขุย หรือลอกบางเป็นสีแดง เป็นระยะที่อันตรายมาก
หากในช่วงแรกๆ อาจใช้ยาทานลดการอักเสบของผิวหนังร่วมกับยาทาฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังในการรักษา แต่หากเป็นมาก มีการติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เป็นเบาหวานระยะไม่สงบ(แผลหายช้า) หรือปัจจัยด้านภูมิคุ้มกัน ควรรีบไปพบแพทย์
การป้องกันน้ำกัดเท้าทำได้โดยหลังจากที่ลุยน้ำแล้ว แนะนำให้ล้างเท้า หรือบริเวณผิวหนังที่ลุยน้ำขังมา ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หากเท้ามีบาดแผล ควรล้างด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อ ถ้าไม่มีจริงๆแนะนำใช้ทิชชู่เปียกหรือแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาด จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ
5. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นกระดก (Paederus dermatitis)
ร้ายสุดในรายการนี้ หนีไม่พ้นเจ้าแมลงก้นกระดก โดยสาร Pederin ที่แมลงก้นกระดกปล่อยออกมา เมื่อสัมผัสแล้วก่อให้เกิดความระคายเคืองกับผิวหนังมาก ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังของผู้ที่สัมผัสโดน และจะมีอาการแสบร้อนหรือ คันได้เล็กน้อย
อาการผื่นผิวหนังจะยังไม่เกิดทันทีที่สัมผัส แต่จะเริ่มเกิดผื่นและอาการแสบเมื่อผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแดงขอบเขตชัดเจน หรือรอยไหม้ลักษณะเป็นทางยาว โดยลักษณะที่เกิดเป็นทางยาวเพราะเกิดจากการปัดด้วยมือ หรือบางรายจะเกิดผื่นที่บริเวณซอกรอยพับที่ประกบกัน (kissing lesion) ร่วมกับตุ่มน้ำพองและตุ่มหนองใน 2-3 วัน โดยผื่นตุ่มน้ำตามบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นงูสวัด
หากสัมผัสถูกตัวของแมลงก้นกระดก ให้รีบล้างด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำสบู่ และประคบเย็นในบริเวณที่สัมผัสโดนแมลง สังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ถ้าเกิดเพียงรอยแดงเล็กน้อยสามารถหายเองได้ใน 2-3 วันไม่จำเป็นต้องทายาใด แต่ถ้าอาการผื่นเป็นมากขึ้นหรือมีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยยาที่ใช้ได้อาจเป็นยาทาลดอาการอักเสบผิวหนังกลุ่ม Steroids
ร่วมกับยากินแก้แพ้และกลุ่มอื่นๆ หากมีอาการแพ้รุนแรงควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการปัดหรือบีบตัวแมลงที่มาเกาะตามตัว ควรใช้วิธีเป่าแมลงให้หลุดออกไปเองโดยไม่ต้องจับโดนตัวแมลง ก่อนนอนควรปัดที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่มก่อนนอน ช่วงกลางคืนควรเปิดไฟเฉพาะเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะควรปิดไฟห้องนอน เพราะไฟจะล่อแมลงก้นกระดกเข้ามาได้
อ้างอิง
2.
โฆษณา