2 มิ.ย. 2024 เวลา 07:04 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สอนให้ทำงานหนัก แต่ไม่สอนให้ลงทุน 'คนญี่ปุ่น' ถูกหลอกพุ่ง 7 เท่า

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นว่า คดีหลอกลวงการลงทุนในญี่ปุ่นช่วงไตรมาสแรกปีนี้พุ่งขึ้นถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ราว 1,700 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยเคสละ 13 ล้านเยน (ราว 3 ล้านบาท)
รายงานระบุว่า อาชญากรในญี่ปุ่นต่างฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในประเทศอย่างรวดเร็ว จากยุค "เงินฝืด" สู่ยุค "เงินเฟ้อ" ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต้องเอาเงินเก็บออกมาลงทุนทั้งที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการลงทุนมาก่อน
คาซึฮิเดะ ไซโจ ประธานสมาคมผู้ตกเป็นเหยื่อหลอกลวงการลงทุนกล่าวว่า หลายคนไม่รู้แม้แต่หลักการเบื้องต้นเรื่องโอกาสผลตอบแทนสูงก็มีความเสี่ยงสูงไปด้วย (high risk, high return)
"สำหรับเหล่ามิจฉาชีพแล้ว มันคือการหลอกลวงให้เชื่อว่า no risk, high return คนญี่ปุ่นมัวแต่ถูกสอนให้ทำงานหนักและเก็บออมเงิน แต่ในแง่การลงทุนแล้ว หลายคนไม่รู้ประสีประสาอย่างกับเด็กทารก" ไซโจกล่าว
แม้ว่ากรณีหลอกลวงการลงทุนจะแพร่สะพัดไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ญี่ปุ่นกลับไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากมีกลไกคุ้มครองที่เรียกว่า "ภาวะเงินฝืด" อยู่ การที่ญี่ปุ่นจมอยู่กับภาวะเงินฝืดมานานนับ 30 ปี ทำให้คนญี่ปุ่นเน้นทำงานและสะสมแต่เงินสด ถึงขั้นที่เคยมีกระแสตู้เซฟขายดีมาแล้ว
ทว่าการกลับมาของ "ภาวะเงินเฟ้อ" ที่ชาวญี่ปุ่นไม่คุ้นเคย โดยอัตราเงินเฟ้อซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษเมื่อปีที่แล้ว บวกกับมาตรการของรัฐบาลในการดึงดูดผู้คนให้ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เฟื่องฟูสำหรับการฉ้อโกงขึ้นมา
โฆษณา